(1) การดำเนินการตามขั้นตอนการยกเลิก การควบคุมราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว และการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย ได้มีการดำเนินการปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว ให้เปลี่ยนแปลง ตามกลไกราคาในตลาดโลกเป็นระยะๆ เพื่อให้ตลาดในประเทศมีการปรับตัว นอกจากนี้ได้มีการปรับปรุงขั้นตอนการส่งเสริมการแข่งขัน โดยการแก้ไขกฎระเบียบ เพื่อให้ผู้ค้าก๊าซรายใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น และมีจุดจำหน่ายปลีกเพิ่มขึ้น รวมทั้ง มีการแก้ไขความไม่เป็นธรรมในระบบการค้า การออกกฎระเบียบเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค การออกคำสั่งเพื่อปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย และการปรับปรุงระบบความปลอดภัย โดยกำหนดให้การบรรจุก๊าซใส่ถังก๊าซหุงต้ม จะต้องมีการปิดผนึกลิ้นหรือวาล์วของถังก๊าซ พร้อมแสดงเครื่องหมายประจำตัว ของผู้บรรจุถังก๊าซไว้ที่ฝาปิดผนึกลิ้นด้วย เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนได้รับก๊าซอย่างครบถ้วน และเพื่อให้สามารถเอาผิดแก่ผู้บรรจุก๊าซได้ หากมีการบรรจุไม่ครบถ้วน รวมทั้ง การห้ามบรรจุก๊าซหุงต้มลงถังขาวอย่างเด็ดขาด โดยได้ผ่อนผันระยะเวลาให้ผู้ประกอบการโรงบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว สามารถบรรจุก๊าซฯ ลงถังขาวจากวันที่ 1 มีนาคม 2543 ออกไปอีก 1 ปี
(2) สพช. ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมในการประสานงานปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งทางบกและทางทะเล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมีเอกภาพและประสิทธิภาพ โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีความคืบหน้าในการดำเนินการ ดังนี้
ได้มีการจัดรูปองค์กรการประสานงานปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานการป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม (คปปป.) และให้มีศูนย์ประสานงานการป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม (ศปปป.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของ คปปป. เพื่อให้การป้องกันและปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ศปนม. ได้จัดทำแผนป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทางทะเล และได้จัดชุดปฏิบัติการทางทะเล รวมทั้งได้จัดชุดปฏิบัติการทางบก เพื่อดำเนินการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยในช่วงที่ผ่านมา (20 พ.ย. 42 - 31 ก.ค. 43) สามารถจับกุมผู้กระทำผิดคดี ลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้จำนวนทั้งสิ้น 127 ราย มีผู้ต้องหาจำนวน 158 คน มีปริมาณน้ำมันที่จับกุมได้ ทั้งสิ้น จำนวน 1,232,534 ลิตร เป็นน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล สารโซลเว้นท์ และน้ำมันเตา 211,709 ; 785,956 ; 95,000 และ 139,869 ลิตร ตามลำดับ
กรมศุลกากรได้ดำเนินการออกคำสั่งกรมศุลกากร ที่ 44/2542 เพื่อรองรับกับความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางถนน ระหว่างไทยและลาว เป็นผลให้สินค้าผ่านแดนทุกชนิด รวมถึงน้ำมันผ่านแดนของลาว ที่ตกค้างอยู่ในไทยครบ 90 วัน นับแต่วันนำเข้าเป็นของตกค้าง เพื่อให้ฝ่ายไทยสามารถดำเนินการกับสินค้า ดังกล่าวได้ และในช่วงที่ผ่านมา (20 พ.ย. 42 - 31 ก.ค. 43) กรมศุลกากรสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ จำนวน 37 ราย ผู้ต้องหา 23 คน ปริมาณน้ำมันดีเซลที่จับกุมได้ จำนวนทั้งสิ้น 396,344 ลิตร
กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างดำเนินการโครงการติดตั้งมิเตอร์เพิ่มเติมพร้อมเชื่อมโยง เครือข่ายระบบข้อมูล โครงการเติมสาร Marker ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และโครงการควบคุมการใช้สารละลายประเภทไฮโดรคาร์บอน (Solvent) มิให้นำไปปลอมปนในน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้ง ได้มีการจัดการฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่สรรพสามิตที่เกี่ยวข้อง และจัดชุดปฏิบัติการตรวจของจังหวัด โดยในช่วงที่ผ่านมา (20 พ.ย. 42 - 31 ก.ค. 43) สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 32 คดี มีปริมาณสารละลายที่จับกุมได้จำนวน 547,100 ลิตร นอกจากนี้ ได้มีการเพิกถอนใบอนุญาตของผู้ประกอบการที่มิได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ รวมทั้งดำเนินมาตรการด้านคดี รวม 81 ราย และได้มีการปรับปรุงแก้ประกาศราคาที่ใช้เป็นฐานในการเก็บภาษีโซลเว้นท์จาก 7.50 บาท/ลิตร เป็น 12 บาท/ลิตร เพื่อลดแรงจูงใจในการปลอมปนน้ำมัน ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2542
กรมทะเบียนการค้าได้ส่งหน่วยตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเคลื่อนที่ ตามแผนปฏิบัติการประจำปี ตรวจสอบใน 12 จังหวัด จำนวน 668 ราย พบผิด 26 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 3.9 และจากจำนวน ตัวอย่าง 1,834 ตัวอย่าง พบผิด 35 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 นอกจากนี้ ได้ออกตรวจสอบคุณภาพน้ำมันภายใต้โครงการธงเขียว ร่วมกับ ศปนม. รวมทั้ง ได้ทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงตามคำร้องเรียนของผู้บริโภค ตรวจสอบแหล่งต้องสงสัย ร่วมกับ ศปนม. สืบหาเบาะแสแหล่งปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิง และดำเนินคดีสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน
(3) การแก้ไขปัญหาการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producers : IPP) และรายเล็ก (Small Power Producers : SPP) ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ และการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระบบลอยตัว โดยได้มีการพิจารณาให้เลื่อนวันเริ่มต้นจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟผ. เป็นรายๆ ไปตามความเหมาะสม ขณะนี้โครงการ IPP บางโครงการอยู่ระหว่างทดสอบการเดินเครื่อง และหลายโครงการก็สามารถจัดหาเงินกู้ได้เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามมีโครงการ IPP จำนวน 2 ราย ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงมีสถานที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอีก 1 ราย ซึ่งใช้ก๊าซ ธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีสถานที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ยังไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ เนื่องจากได้รับการคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ จึงต้องรอผลการจัดทำประชาพิจารณ์ และการตัดสินใจจากรัฐบาลในขั้นสุดท้าย ส่วนโครงการ SPP ขณะนี้สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟผ. แล้ว 41 ราย มีปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขาย 1,580.77 เมกะวัตต์ (ณ พฤษภาคม 2543)จากจำนวนที่ลงนามในสัญญาซื้อขาย
-ยังมีต่อ-