กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--กระทรวงการต่างประเทศ
วันนี้ (12 เมษายน 2543) นายดอน ปรมัตถ์วินัย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า กระทรวงฯ ได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้งว่า กระทรวงคมนาคมพม่าได้ตอบรับจะเป็นเจ้าภาพพิธีลงนามความตกลงเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตอนบนระหว่างไทย-ลาว-พม่า และจีนในวันที่ 20 เมษายน 2543
ในวันที่ 20 เมษายน 2543 ฯพณฯ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของลาว พม่า และจีนจะลงนามในความตกลงเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตอนบนระหว่างไทย ลาว พม่า และจีน ณ จังหวัดท่าขี้เหล็ก สหภาพเมียนมาร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศภาคีความตกลงฯ สามารถเดินเรือโดยเสรีในแม่น้ำโขงระหว่างเมืองซือเหมาของจีน ลงมาถึงเมืองหลวงพระบางของลาว โดยไม่ให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านแดน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการติดต่อการค้าขาย การขนส่ง และการท่องเที่ยวใน ภูมิภาค
ความตกลงเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตอนบนเป็นความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจซึ่งมีการเจรจามาตั้งแต่ปี 2537 โดยผลของความตกลงฯ ได้เปิดท่าเรือตามแนวแม่น้ำโขงตอนบน 14 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือซือเหมา (Simao) เชียงรุ่ง (Jinghong) เหมิ่งหาน (Menghan) และกวนเหล่ย (Guanlei) ของจีน ท่าเรือบ้านทราย (Ban Sai) เชียงกก (Xiengkok) เมืองมอม (Muangmom) บ้านคอน (Ban Khouane) ห้วยทราย (Houaysai) และหลวงพระบาง (Luangprabang) ของลาว ท่าเรือบ้านเจียง (Wan Seng) และบ้านปุง (Wan Pong) ของพม่า และท่าเรือเชียงแสนและเชียงของของไทย โดยประเทศภาคีต้องให้การประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่งแก่เรือของแต่ละฝ่ายในด้านพิธีการเข้าออกของเรือ พิธีการด้านศุลกากร การใช้อู่จอดเรือและคลังสินค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ของท่าเรือ
ความตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้หลังจากที่มีการลงนามความตกลงแล้ว 1 ปี ซึ่งในระหว่างที่รอให้ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ภาคีคู่สัญญาจะต้องจัดประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎระเบียบที่จะใช้ในการเดินเรือร่วมกัน (Common Navigation Rules) ซึ่งจะครอบคลุมเรื่องระเบียบการจราจรและความปลอดภัย มาตรฐานของเรือและอุปกรณ์ภายในเรือ เอกสารแสดงตัวของลูกเรือ การเข้าและออกท่าเรือ ปฏิบัติการช่วยเหลือชีวิตและการกู้เรือ การป้องกันมลภาวะ เงื่อนไขและนโยบายประกันภัย และเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติตามความตกลงฯ โดยประเทศภาคีได้มอบหมายให้ฝ่ายจีนเป็นผู้ประสานงานในการยกร่างกฎระเบียบดังกล่าวขึ้น ซึ่งในส่วนของไทยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่าเป็นประธานคณะทำงานด้านเทคนิคฝ่ายไทยเพื่อพิจารณาร่วมกับอีกสามประเทศในการจัดทำร่างกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจากเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังเป็นการช่วยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมความปลอดภัยในการเดินเรือรวมทั้งป้องกันการกระทำผิดกฎหมายจากการเปิดเสรีในการเดินเรือในแม่น้ำโขงด้วย
ทั้งนี้ ในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสในวันที่ 19 เมษายน 2543 จะได้มีการหารือเกี่ยวกับการเตรียมการจัดทำกฎระเบียบที่จะใช้ในการเดินเรือร่วมกัน การจัดเตรียมการลงนามความตกลง การเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างกันทางบก และทางอากาศ รวมทั้งความร่วมมือด้านศุลกากร และตรวจคนเข้าเมือง นอกจากนี้ ภายหลังจากการลงนามความตกลงฯ แล้ว รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมไทย ลาว พม่า และจีนก็จะได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับความร่วมมือในด้านคมนาคมระหว่างกันด้วย--จบ--
-ยก-
วันนี้ (12 เมษายน 2543) นายดอน ปรมัตถ์วินัย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า กระทรวงฯ ได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้งว่า กระทรวงคมนาคมพม่าได้ตอบรับจะเป็นเจ้าภาพพิธีลงนามความตกลงเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตอนบนระหว่างไทย-ลาว-พม่า และจีนในวันที่ 20 เมษายน 2543
ในวันที่ 20 เมษายน 2543 ฯพณฯ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของลาว พม่า และจีนจะลงนามในความตกลงเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตอนบนระหว่างไทย ลาว พม่า และจีน ณ จังหวัดท่าขี้เหล็ก สหภาพเมียนมาร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศภาคีความตกลงฯ สามารถเดินเรือโดยเสรีในแม่น้ำโขงระหว่างเมืองซือเหมาของจีน ลงมาถึงเมืองหลวงพระบางของลาว โดยไม่ให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านแดน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการติดต่อการค้าขาย การขนส่ง และการท่องเที่ยวใน ภูมิภาค
ความตกลงเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตอนบนเป็นความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจซึ่งมีการเจรจามาตั้งแต่ปี 2537 โดยผลของความตกลงฯ ได้เปิดท่าเรือตามแนวแม่น้ำโขงตอนบน 14 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือซือเหมา (Simao) เชียงรุ่ง (Jinghong) เหมิ่งหาน (Menghan) และกวนเหล่ย (Guanlei) ของจีน ท่าเรือบ้านทราย (Ban Sai) เชียงกก (Xiengkok) เมืองมอม (Muangmom) บ้านคอน (Ban Khouane) ห้วยทราย (Houaysai) และหลวงพระบาง (Luangprabang) ของลาว ท่าเรือบ้านเจียง (Wan Seng) และบ้านปุง (Wan Pong) ของพม่า และท่าเรือเชียงแสนและเชียงของของไทย โดยประเทศภาคีต้องให้การประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่งแก่เรือของแต่ละฝ่ายในด้านพิธีการเข้าออกของเรือ พิธีการด้านศุลกากร การใช้อู่จอดเรือและคลังสินค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ของท่าเรือ
ความตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้หลังจากที่มีการลงนามความตกลงแล้ว 1 ปี ซึ่งในระหว่างที่รอให้ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ภาคีคู่สัญญาจะต้องจัดประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎระเบียบที่จะใช้ในการเดินเรือร่วมกัน (Common Navigation Rules) ซึ่งจะครอบคลุมเรื่องระเบียบการจราจรและความปลอดภัย มาตรฐานของเรือและอุปกรณ์ภายในเรือ เอกสารแสดงตัวของลูกเรือ การเข้าและออกท่าเรือ ปฏิบัติการช่วยเหลือชีวิตและการกู้เรือ การป้องกันมลภาวะ เงื่อนไขและนโยบายประกันภัย และเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติตามความตกลงฯ โดยประเทศภาคีได้มอบหมายให้ฝ่ายจีนเป็นผู้ประสานงานในการยกร่างกฎระเบียบดังกล่าวขึ้น ซึ่งในส่วนของไทยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่าเป็นประธานคณะทำงานด้านเทคนิคฝ่ายไทยเพื่อพิจารณาร่วมกับอีกสามประเทศในการจัดทำร่างกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจากเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังเป็นการช่วยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมความปลอดภัยในการเดินเรือรวมทั้งป้องกันการกระทำผิดกฎหมายจากการเปิดเสรีในการเดินเรือในแม่น้ำโขงด้วย
ทั้งนี้ ในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสในวันที่ 19 เมษายน 2543 จะได้มีการหารือเกี่ยวกับการเตรียมการจัดทำกฎระเบียบที่จะใช้ในการเดินเรือร่วมกัน การจัดเตรียมการลงนามความตกลง การเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างกันทางบก และทางอากาศ รวมทั้งความร่วมมือด้านศุลกากร และตรวจคนเข้าเมือง นอกจากนี้ ภายหลังจากการลงนามความตกลงฯ แล้ว รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมไทย ลาว พม่า และจีนก็จะได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับความร่วมมือในด้านคมนาคมระหว่างกันด้วย--จบ--
-ยก-