1. บทนำ
ปี 2542 นับว่าเป็นปีที่เป็นจุดเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน กล่าวคือ ราคาน้ำมันดิบซึ่งเคยตกต่ำอยู่ที่ระดับ $ 10-11ต่อบาร์เรล ในช่วงปลายปี 2541 ได้ปรับตัวสูงขึ้นถึงกว่าเท่าตัวในช่วงปลายปี 2542 โดยมาอยู่ ที่ระดับ $ 24-26 ต่อบาร์เรล อันเป็นผลมาจากความร่วมมือในการลดปริมาณการผลิต อย่างได้ผลของกลุ่มโอเปค และความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเซีย และถึงแม้ว่ากลุ่มโอเปคจะเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นมาในระดับเดิม แต่ในระยะแรกก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ราคาน้ำมันยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับ $ 27-30 ต่อบาร์เรล ในช่วงครึ่งแรกของปี 2543 ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้ส่งผลให้ระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ปรับตัวสูงขึ้นตาม ประกอบกับการอ่อนตัวลงของค่าเงินบาท และการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน เมื่อต้นปี 2541 ยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ถีบตัวสูงยิ่งขึ้น โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลในประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 10.40 และ 7.57 บาทต่อลิตร ในช่วงต้นปี 2542 มาอยู่ที่ระดับ 14.94 และ 11.88 บาทต่อลิตร ในช่วงกลางปี 2543
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า แนวโน้มราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปี 2543 จะอ่อนตัวลง เนื่องจากระดับราคาน้ำมันที่สูง จะทำให้ความต้องการใช้ปรับตัวลดลง อีกทั้งการประกาศเพิ่มปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปค และนอกกลุ่มโอเปคเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้ทำให้น้ำมันดิบไหลเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งในระยะยาวแล้วปริมาณสำรองน้ำมันของโลก จะกลับมาสู่ระดับปกติ และตลาดจะอยู่ในภาวะสมดุล โดยราคายังคงทรงตัวอยู่ในระดับที่สูง ส่วนราคาน้ำมันสำเร็จรูปนั้น คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงปกติตามฤดูกาล โดยราคาน้ำมันเบนซินจะอ่อนตัวลงหลังฤดูร้อน และหากการเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล ในช่วงฤดูหนาว ไม่ทันการณ์ อาจทำให้ราคาน้ำมันดีเซลถีบตัวสูงขึ้นได้
จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวมาตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2542 และต่อเนื่องมาจนถึงปลายปี ได้ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ของประเทศ เริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดยในปี 2542 ปริมาณความต้องการได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยยังคงมีการใช้ก๊าซธรรมชาติและลิกไนต์/ถ่านหินในอัตราที่สูง ส่วนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและไฟฟ้าพลังน้ำลดลงเล็กน้อย สำหรับการผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์ของประเทศ และการนำเข้า ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 และ 9.0 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ อยู่ในระดับร้อยละ 62.2 และหากในปี 2543 เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.5 ตามที่คาดการณ์ไว้ คาดว่าการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 สัดส่วนการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศอยู่ในระดับร้อยละ 59.6 ซึ่งลดลงจากปี 2542 ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการใช้ก๊าซธรรมชาติ ลิกไนต์/ถ่านหิน ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง ในขณะเดียวกันการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจะยังคงลดลงเล็กน้อย เนื่องจากมีการใช้ก๊าซธรรมชาติทดแทนน้ำมันเตา ในการผลิตไฟฟ้า และในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น
จากปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ และภาวะความผันผวนของราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบ ต่อการดำเนินนโยบาย และมาตรการทางด้านพลังงานเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งยังคงเป็นมาตรการ ที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปีก่อนๆ แต่ก็มีมาตรการอีกส่วนหนึ่งที่ออกมา เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสม กับสถานการณ์ของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะมาตรการบรรเทาผลกระทบ จากราคาน้ำมัน ที่เพิ่มสูงขึ้นได้ให้ความสำคัญ ต่อมาตรการในการอนุรักษ์พลังงานและการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ เป็นอย่างมาก เพื่อลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ
สำหรับการดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันในกิจการพลังงาน ในส่วนของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน นับว่าก้าวหน้าไปพอสมควร ทั้งกิจการด้านไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ตลอดจนการยกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระสาขาพลังงาน นอกจากนี้ได้มีการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการใช้ก๊าซธรรมชาติทดแทนน้ำมันเตา และส่งเสริมการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตและการใช้พลังงาน อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวข้างต้นแล้ว การดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงาน กับต่างประเทศยังคงเป็นมาตรการ ที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระชับความร่วมมือและรักษาบทบาทของประเทศ ในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่อไป
2. สถานการณ์ราคาน้ำมันและแนวโน้ม
2.1 ราคาน้ำมันดิบ ในปี 2542 เป็นปีที่เป็นจุดเปลี่ยนของราคาน้ำมัน ตั้งแต่เดือนเมษายน เป็นต้นมา ราคาน้ำมันดิบที่เคยอยู่ในสภาพตกต่ำ ได้ปรับตัวสูงขึ้น จากระดับ $10-11 ต่อบาร์เรล ในช่วงปลายปี 2541 มาอยู่ในระดับ $24-26 ต่อบาร์เรล ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือในการลดปริมาณการผลิตอย่างได้ผลของกลุ่มโอเปค ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลก ได้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะความต้องการใช้ของประเทศต่างๆ ในเอเซียที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำมันสำรองลดลงจากระดับปกติ และส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในช่วงปลายปี 2542 ต่อเนื่องถึงครึ่งแรกของปี 2543 ซึ่งแม้ว่าโอเปคจะเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นมาในระดับเดิม แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ราคาน้ำมันดิบกลางปี 2543 อยู่ในระดับ $27-30 ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปในสิงคโปร์
หน่วย : เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ชนิดน้ำมัน 2541 2542 2543 2542 2543
ไตรมาส 1 ไตรมาส 2 ไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ไตรมาส 1 ไตรมาส 2
น้ำมันดิบ
ดูไบ 12.15 17.20 25.48 11.07 15.25 19.75 22.73 24.38 25.08
เบรนท์ 13.14 18.13 27.56 11.53 15.79 20.96 24.26 27.09 27.21
น้ำมันสำเร็จรูป
เบนซินออกเทน 95 17.17 21.02 30.85 14.62 18.94 25.16 25.37 30.70 31.00
ก๊าด 16.31 21.44 30.52 15.03 18.64 24.42 27.66 31.61 29.43
ดีเซลหมุนเร็ว 15.40 19.14 29.42 13.74 16.97 21.19 24.66 30.33 28.51
เตา (3.5%S) 10.70 15.74 24.35 9.93 13.30 17.85 21.87 23.29 25.42
2.2 ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ การสูงขึ้นของต้นทุนราคาน้ำมันดิบได้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันสำเร็จรูป โดยนับตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงสิ้นปี 2542 ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ ได้แก่ น้ำมันเบนซิน ดีเซล และเตา ได้ปรับตัวสูงขึ้น $12, $10 และ $8 ต่อบาร์เรล หรือคิดเป็นร้อยละ 72, 70 และ 75 ตามลำดับ แต่การปรับตัวยังสูงขึ้นในระดับที่ต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบ เพราะกำลังการกลั่นที่สูงกว่า ความต้องการในภูมิภาคเอเซีย ทำให้เกิดภาวะน้ำมันล้นตลาด และค่าการกลั่นตกต่ำในครึ่งแรกของปี 2543 ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนราคาน้ำมันดิบ แต่ผลจากการลดกำลังกลั่น เพราะค่าการกลั่นตกต่ำ ได้ทำให้ตลาดน้ำมันตึงตัว เมื่อการจัดหาถูกจำกัดจากการปิดซ่อมแซมโรงกลั่น โดยกระทันหัน ราคาน้ำมันสำเร็จรูปโดยเฉลี่ย จึงปรับตัวสูงขึ้นกว่าราคาน้ำมันดิบ โดยราคาน้ำมันเบนซิน ดีเซล และเตาปรับตัวสูงขึ้น $6, $4 และ $4 ต่อบาร์เรล ตามลำดับ
2.3 ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทยสอดคล้องกับต้นทุนที่เปลี่ยนไป ซึ่งประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน ภาษีสรรพสามิต และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
(1) ต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจากฐานภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ผลจากค่าเงินบาทที่ อ่อนตัวลงหลังการลอยตัวค่าเงินบาท และการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินเมื่อต้นปี 2541
การอ่อนตัวของค่าเงินบาท หากเปรียบเทียบค่าเงินบาทในปลายปี 2543 กับก่อนการลอยตัวค่าเงินบาทกลางปี 2540 ค่าเงินบาทได้อ่อนตัวจากระดับ 25.50 บาท/เหรียญสหรัฐ มาอยู่ในระดับ 39 บาท/เหรียญสหรัฐ ทำให้ต้นทุนน้ำมันเบนซิน และดีเซลสูงขึ้น ในระดับ 2.3 บาท/ลิตร และกลางปี 2543 ค่าเงินบาทได้อ่อนตัวลงมาอยู่ในระดับ 40 - 41 บาท/เหรียญสหรัฐ ต้นทุนน้ำมันเบนซิน และดีเซลจึงสูงขึ้นมาอีก 0.30-0.40 บาท/ลิตร
การเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีสรรพสามิตและอัตรากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้นปี 2541 รัฐบาลได้ปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน 1 บาท/ลิตร ภาระภาษีรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้น 1.21 บาท/ลิตร นอกจากนี้มีการปรับระดับอัตราภาษีเล็กน้อยอีก 2-3 ครั้ง และมีการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 0.42 บาท/ลิตร เป็นการชั่วคราว 3 เดือน ตั้งแต่ 5 ตุลาคม 2542 - 5 มกราคม 2543
(2) ต้นทุนจากราคาน้ำมันในตลาดโลก ในปี 2542 จากผลของการจำกัดปริมาณการผลิต ที่ได้ผลของกลุ่มโอเปค ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกของปีที่ผ่านมา ได้แข็งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปของไทย ได้แข็งตัวขึ้นตาม โดยปลายปี 2542 น้ำมันเบนซินและดีเซลได้ปรับตัว สูงขึ้นจากผลของราคาตลาดโลกเมื่อเทียบกับต้นปี 3.3 และ 2.9 บาท/ลิตร และครึ่งแรกของปี 2543 ราคาได้ แข็งตัวขึ้นอีก 1.1 และ 1.0 บาท/ลิตร ตามลำดับ
หากเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของราคาขายปลีกที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ เมื่อกลางปี 2540 กับกลางปี 2543 จะพบว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาจากผลของต้นทุนต่างๆ เป็น ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงของต้นทุนราคาน้ำมันที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ
(เปรียบเทียบ ณ กลางเดือนกรกฎาคม 2543 : ช่วงก่อนลอยตัวค่าเงินบาทกลางปี 2540)
หน่วย : บาทต่อลิตร
ปัจจัย เบนซิน ดีเซล
1. อัตราแลกเปลี่ยน (25.5:40.1) +2.73 +2.63
2. ภาษี +1.79 +0.57
3. กองทุน +0.38 +0.18
4. ค่าการตลาด -0.63 -0.20
5. ราคาตลาดโลก (โดยประมาณ) +2.19 +1.55
รวม +6.46 +4.73
ราคาขายปลีก (1) เบนซินออกเทน 95 เมื่อ 15 ก.ค. 43 : 15.89 บาท/ลิตร /30 มิ.ย. 40 : 9.43 บาท/ลิตร
(2) ดีเซลหมุนเร็ว เมื่อ 15 ก.ค. 43 : 12.99 บาท/ลิตร /30 มิ.ย. 40 : 8.30 บาท/ลิตร
ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของไทย
หน่วย : บาทต่อลิตร
ชนิดน้ำมัน 2541 2542 2543 2542 2543
ไตรมาส 1 ไตรมาส 2 ไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ไตรมาส 1 ไตรมาส 2
เบนซินออกเทน 95 11.86 11.99 14.79 10.40 11.28 12.72 13.51 14.63 14.94
เบนซินออกเทน 91 11.19 11.18 13.87 9.53 10.48 11.92 12.71 13.80 13.94
เบนซินออกเทน 87 11.18 10.72 13.45 9.11 10.05 11.50 12.29 13.38 13.52
ดีเซลหมุนเร็ว 9.18 8.97 11.80 7.57 8.45 9.41 10.41 11.71 11.88
2.4 ค่าการตลาดและค่าการกลั่น ระดับค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันในปัจจุบัน อยู่ในระดับต่ำสุด นับตั้งแต่ยกเลิกควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นต้นมา ทั้งนี้เนื่องจากการปรับราคาขึ้นในระดับที่ต่ำ และช้ากว่าการปรับขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งเป็นผลจากการแข่งขันที่สูงในตลาดน้ำมัน ค่าการตลาดเฉลี่ยทุกผลิตภัณฑ์ของประเทศ โดยปกติแล้วอยู่ในระดับ 1.20 - 1.30 บาท/ลิตร แต่ในปี 2542 เคลื่อนไหวในระดับเพียง 0.50 - 1.10 บาท/ลิตร และครึ่งแรกของปี 2543 เคลื่อนไหวในระดับ 0.70 - 1.00 บาท/ลิตร ส่วนทางด้านค่าการกลั่นก็อยู่ในระดับที่ต่ำเช่นกัน เนื่องจากกำลังการกลั่นที่มีมากเกินความต้องการในภูมิภาคเอเซีย ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปสูงขึ้นน้อยกว่าน้ำมันดิบ ค่าการกลั่นของโรงกลั่นในปี 2542 จึงอยู่ในระดับต่ำโดยเคลื่อนไหว ในระดับ 0.30 - 0.60 บาท/ลิตร แต่ในปี 2543 ค่าการกลั่นมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงในระดับกว้าง จากความ ผันผวนของราคาน้ำมัน โดยเคลื่อนไหวในระดับ 0.40 - 0.90 บาท/ลิตร ในขณะที่ค่าการกลั่นเฉลี่ยของปี 2541 เคยอยู่ในระดับ 0.76 บาท/ลิตร
ค่าการตลาดและค่าการกลั่นของประเทศไทย
หน่วย : บาทต่อลิตร
ชนิดน้ำมัน 2541 2542 2543 2542 2543
ไตรมาส 1 ไตรมาส 2 ไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ไตรมาส1 ไตรมาส 2
ค่าการตลาด
เบนซินออกเทน 95 1.6968 1.4523 1.6316 1.4106 1.4703 1.2061 1.7152 1.6703 1.5930
ดีเซลหมุนเร็ว 1.1534 0.7127 0.8141 0.5696 0.7861 0.5763 0.9148 0.7154 0.9129
ค่าการตลาดเฉลี่ย 1.2611 0.8442 0.9490 0.7214 0.8988 0.6983 1.0534 08915 1.0065
ค่าการกลั่นรวม 0.7662 0.4949 0.7410 0.6886 0.4139 0.4866 0.4121 0.9380 0.5441
2.5 แนวโน้มราคาน้ำมัน สถาบัน EIA (Energy Information Administration) ของสหรัฐอเมริกาวิเคราะห์ราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปี 2543 โดยใช้ข้อเท็จจริงการประกาศเพิ่มปริมาณการผลิตของโอเปค ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และการประกาศของซาอุดิอารเบีย ที่จะเพิ่มการผลิตจากเพดานใหม่อีก 500,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อรวมกับปริมาณการผลิตนอกกลุ่มโอเปคที่เพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะทำให้มีน้ำมันดิบ ไหลเข้ามาในตลาดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีการสะสมสต๊อก เพิ่มขึ้นสู่ระดับปกติ และพอเพียงกับความต้องการของโลก ดังนั้นจึงคาดว่า ราคาน้ำมันดิบในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เมื่อเทียบกับระดับปลายเดือนมิถุนายน ราคาจะอ่อนตัวลงในระดับ $4-5 ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบ WTI จะอยู่ในระดับ $27 ต่อบาร์เรล (เทียบเท่าราคา น้ำมันดิบเบรนท์ $26 ต่อบาร์เรล)
สำหรับการคาดการณ์ของแหล่งอื่น นักวิเคราะห์บางกลุ่ม มองว่าขณะนี้ตลาดอยู่ในภาวะสมดุล ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาก ทำให้ความต้องการใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี จะอ่อนตัวลงและอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม บริษัท Dresdner Kleinwort Benson และบริษัท Purvin & Gertz เห็นว่าจากความต้องการที่อ่อนตัวลง ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งของโอเปค และนอกกลุ่มโอเปค จะพอเพียงกับการเพิ่มปริมาณน้ำมันสำรอง ให้กลับมาอยู่ในระดับปกติ นักวิเคราะห์มองว่าในปีนี้การผลิตนอกกลุ่มโอเปค จะเพิ่มในระดับ 1.4 - 1.6 ล้าน บาร์เรล/วัน สำหรับภาพของโอเปค จะมีผลต่อการคาดการณ์ราคาของตลาด นักวิเคราะห์โดยรวม คาดว่าครึ่งปีหลังราคาน้ำมันดิบ จะอ่อนตัวลงจากระดับกลางปี $4-5 ต่อบาร์เรล โดยภาพรวมราคายังทรงตัวในระดับสูง สำหรับราคาน้ำมันสำเร็จรูปคาดว่า ราคาน้ำมันเบนซินจะอ่อนตัวลงหลังฤดูร้อน และหากการเพิ่มปริมาณสำรอง สำหรับฤดูหนาวของน้ำมันดีเซลไม่ทันการณ์ ราคาน้ำมันดีเซล อาจถีบตัวสูงขึ้นมากเหมือนราคาน้ำมันเบนซิน ในฤดูร้อนที่ผ่านมา
หน่วย : บาทต่อลิตร
บริษัท การคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์
ครึ่งหลังปี 2543 ปี 2543 ปี 2544
CGES 26.75 26.75 24.40
Purvin & Gertz 26.50 26.50 23.50
RIE 26.40 26.60 NA
Honey Well 26.33 26.51 NA
Warburg Dillon Read 26.25 26.50 21.50
EIU 26.10 26.40 21.00
ABN Amro 25.30 26.00 22.00
Dentsche Bank 24.50 25.50 21.00
PFC 24.25 25.50 NA
D Kleinwort Benson 22.33 24.51 19.00
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (ก.ค. 2543) 28.80 28.80 28.80
ที่มา : Petroleum Argus; Vol 26 (3 July 2000)
โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (เปรียบเทียบก่อน/หลังลอยตัวค่าเงินบาท)
หน่วย : บาทต่อลิตร
เบนซินออกเทน 95 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว
มิ.ย. 40 15 ก.ค.43 มิ.ย. 40 15 ก.ค. 43
ราคา ณ โรงกลั่น 4.2553 9.1774 4.0574 8.2381
- ราคาตลาดโลก 24.31 $/bbl 37.98 $/bbl 22.87$/bbl 32.53 $/bbl
- อัตราแลกเปลี่ยน 25.84 บาท/$ 40.13 บาท/$ 25.84 บาท/$ 40.132 บาท/$
ภาษีสรรพสามิต 2.4400 3.6850 2.0700 2.3050
ภาษีเทศบาล 0.2440 0.3685 0.2070 0.2305
กองทุนน้ำมันฯ 0.0800 0.4500 0.0800 0.2500
กองทุนอนุรักษ์ 0.0300 0.0400 0.0300 0.0400
ราคาขายส่ง 7.0493 13.7209 6.4624 11.0636
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 0.4935 0.9605 0.4524 0.7745
ราคาขายส่ง + VAT 7.5428 14.6814 6.9148 11.8381
ค่าการตลาด 1.7638 1.1279 1.2946 1.0754
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 0.1234 0.0789 0.0906 0.0753
ราคาขายปลีก 9.43 15.89 8.30 12.99
3. สถานการณ์การผลิต การใช้และการนำเข้าพลังงานเชิงพาณิชย์ ปี 2542 และแนวโน้ม ปี 2543
3.1 ภาพรวมพลังงาน ปี 2542
ภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2542 และต่อเนื่องมาจนถึงปลายปี 2542 การขยายตัวของเศรษฐกิจ กระจายตัวไปเกือบทุกสาขาการผลิต โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้จากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ในปีนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.5 โดยมีอุตสาหกรรมหลายหมวดที่ขยายตัวสูง ได้แก่ หมวดยานยนต์ หมวดวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะการผลิตปูนซีเมนต์ ปูนเม็ด ส่งผลให้ความต้องการพลังงานเชิงพาณิชย์ ของประเทศเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่สอง หลังจากที่ได้ชะลอตัวลงมาตั้งแต่ปลายปี 2540 โดยความต้องการพลังงานเชิงพาณิชย์ของประเทศในปี 2542 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน การใช้ก๊าซธรรมชาติ และลิกไนต์/ถ่านหินยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง ในขณะที่การใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และไฟฟ้าพลังน้ำยังคงลดลงเล็กน้อย การผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน สัดส่วนการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศอยู่ในระดับร้อยละ 62.2
3.2 แนวโน้มสถานการณ์พลังงาน ปี 2543
จากแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจ ที่เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2542 และหากในปี 2543 เศรษฐกิจขยายตัวอยู่ในระดับร้อยละ 4.5 การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ของประเทศในปี 2543 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 การนำเข้าพลังงานเชิงพาณิชย์สุทธิ จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 การนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสหภาพพม่า ขณะที่การนำเข้าน้ำมันดิบลดลงร้อยละ 8.1 สัดส่วนการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ อยู่ในระดับร้อยละ 59.6 ซึ่งต่ำกว่าปีก่อน
การใช้ก๊าซธรรมชาติ ลิกไนต์/ถ่านหิน และไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง ส่วนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจะยังคงลดลงร้อยละ 0.1 เนื่องจากการใช้ก๊าซธรรมชาติทดแทนน้ำมันเตา ในการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ในปี 2543 ราคาน้ำมันดิบ มีราคาขึ้นสูงมากทำให้ราคาน้ำมันเตาสูงขึ้น กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันที่มีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กของตนเอง ซึ่งแต่เดิมใช้น้ำมันเตาที่ผลิตได้เป็นเชื้อเพลิง ได้เปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติแทน และนำน้ำมันเตาไปขาย หรือส่งออก
การผลิต การใช้และการนำเข้าพลังงานเชิงพาณิชย์ (1)
หน่วย : เทียบเท่าพันบาร์เรลน้ำมันดิบต่อวัน
การผลิต/การใช้/การนำเข้า 2542 2543 การเปลี่ยนแปลง (%)
2542 2543
การใช้ (2) 1,125.0 1,178.7 3.3 4.8
การผลิต 549.3 600.6 4.8 9.3
การนำเข้า (สุทธิ) 699.2 702.5 9.0 0.5
การนำเข้า/การใช้ (%) 62.2 59.6
อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (%) 4.2 4.5
(1) พลังงานเชิงพาณิชย์ ประกอบด้วย น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ คอนเดนเสท ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ไฟฟ้าจากพลังน้ำและถ่านหิน/ลิกไนต์
(2) การใช้ไม่รวมการเปลี่ยนแปลงสต็อก และการใช้ที่ไม่เป็นพลังงาน (Non-Energy use) ได้แก่ การใช้ยางมะตอย NGL Condensate LPG และ Naptha เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
3.3 สถานการณ์พลังงานแต่ละชนิดในปี 2542 และปี 2543
ก๊าซธรรมชาติ ปริมาณการผลิตและการใช้ก๊าซธรรมชาติปี 2542 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านมลภาวะ ทำให้ภาครัฐบาลสนับสนุน ให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติ ในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดย กฟผ. ได้เพิ่มการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันเตา การผลิตก๊าซธรรมชาติในปี 2542 อยู่ในระดับ 1,868 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 สำหรับในปี 2543 คาดว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.0 เนื่องจากมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสหภาพพม่า มาใช้เพิ่มมากขึ้นในโรงไฟฟ้าราชบุรี ซึ่งจะเริ่มการผลิตไฟฟ้าได้ตั้งแต่กลางปี 2543 นอกจากนั้น การใช้ก๊าซธรรมชาติของภาคอุตสาหกรรม มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาก เนื่องจากในปีนี้ราคาน้ำมันเตาสูงมาก ทำให้อุตสาหกรรมที่สามารถใช้ก๊าซธรรมชาติทดแทนได้ หันมาใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ที่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็กของตนเอง โดยปกติจะใช้น้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้เปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติแทน
น้ำมันดิบ ปริมาณการผลิตในปี 2542 อยู่ในระดับ 34,006 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 แหล่งผลิตที่สำคัญ คือ แหล่งสิริกิติ์ผลิตได้ 23,384 บาร์เรล/วัน หรือร้อยละ 68.8 ของการผลิตทั้งหมด และแหล่งทานตะวันผลิตได้ 5,056 บาร์เรล/วัน หรือร้อยละ 14.9 ของการผลิตทั้งหมด สำหรับในปี 2543 คาดว่าจะมีการผลิตน้ำมันดิบในระดับ 53,117 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.2 แหล่งผลิตที่สำคัญยังคงเป็นแหล่งสิริกิติ์ของบริษัทไทยเชลล์ รองลงมาได้แก่ แหล่งเบญจมาศที่เริ่มผลิตกลางปี 2542 สามารถผลิตได้เต็มที่ในปีนี้ที่ระดับ 18,000 บาร์เรล/วัน และแหล่งทานตะวันที่ผลิตได้ในระดับ 9,000 บาร์เรล/วัน
ลิกไนต์/ถ่านหิน ปริมาณการผลิตลิกไนต์ปี 2542 อยู่ในระดับ 18.3 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 8.7 จากปีที่แล้ว ในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 65.6 ผลิตจากเหมืองแม่เมาะของ กฟผ. การใช้ลิกไนต์/ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) มีจำนวนทั้งสิ้น 15.4 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากปัญหามลภาวะทำให้ กฟผ. ต้องลดการใช้ลิกไนต์ในการผลิตไฟฟ้า และจำเป็นต้องซื้อลิกไนต์คุณภาพดี มีปริมาณกำมะถันต่ำจากเหมืองเอกชน มาผสมกับลิกไนต์ที่ผลิตจากเหมืองแม่เมาะ มาใช้เพื่อลดผลกระทบ จากมลภาวะที่เกิดขึ้น
ในปี 2542 การใช้ลิกไนต์/ถ่านหินในภาคอุตสาหกรรมมีจำนวน 6.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา การใช้ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากการใช้ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งปริมาณการผลิตปูนเม็ดในปีนี้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 28.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2541
สำหรับในปี 2543 คาดว่าปริมาณการผลิตลิกไนต์ จะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว คือ ในระดับ 18.3 ล้านตัน การผลิตจากเหมืองแม่เมาะของ กฟผ. จะอยู่ในระดับ 13.4 ล้านตันซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 11.4 ส่วนการผลิตลิกไนต์ของภาคเอกชนคาดว่าจะลดลงมาก การใช้ลิกไนต์/ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าในปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มจากปีก่อนคืออยู่ในระดับ 16.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 เพราะว่าการติดตั้งหน่วยกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ ไดออกไซด์แล้วเสร็จ จึงสามารถเดินเครื่องได้เต็มที่อีกครั้ง โดยเป็นการใช้ลิกไนต์ประมาณ 14.4 ล้านตัน ที่เหลือประมาณ 1.9 ล้านตันใช้ถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศ การใช้ลิกไนต์/ถ่านหินในภาคอุตสาหกรรม ในปี 2543 คาดว่าจะอยู่ในระดับ 6.7 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 2.0 ในขณะเดียวกันการผลิตลิกไนต์ภายในประเทศ จากภาคเอกชนลดลง เนื่องจากลิกไนต์ภายในประเทศมีคุณภาพต่ำ และราคาถ่านหินนำเข้ามีแนวโน้มลดลง ดังนั้น จึงคาดว่าการนำเข้าถ่านหินเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม จะอยู่ในระดับ 2.8 ล้านตัน
น้ำมันสำเร็จรูป การใช้น้ำมันสำเร็จรูปในปี 2542 อยู่ในระดับ 630.4 พันบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 จากปีก่อน โดยการใช้ได้เริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่กลางปีเป็นต้นมา เมื่อเทียบกับการใช้ในปี 2541 ซึ่งได้ลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 10.0 การผลิตน้ำมันสำเร็จรูปในปี 2542 ยังคงสูงกว่าความต้องการใช้ในประเทศ แม้ว่าคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง ของโรงกลั่นไทยออยล์ ได้รับความเสียหายจากสาเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งทำให้ไม่สามารถกลั่นน้ำมันได้ในช่วงเดือนธันวาคมก็ตาม ในปีนี้มีการส่งออกสุทธิจำนวน 76.1 พันบาร์เรล/วัน โดยมีการส่งออกสุทธิของน้ำมันทุกชนิด ยกเว้นน้ำมันเตาซึ่งยังมีการนำเข้าในระดับ 10.3 พันบาร์เรล/วัน
สำหรับในปี 2543 คาดว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจะอยู่ในระดับ 631.7 พันบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 แต่ถ้าหากคิดเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่รวมน้ำมันเตา ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. แล้วจะพบว่า การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 โดยการใช้น้ำมันดีเซลจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 3.3 หลังจากลดลง อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2541 - 2542 ส่วนการใช้น้ำมันเตาคาดว่าจะลดลงร้อยละ 8.7 ทั้งนี้ เนื่องมาจากการลดการใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. จากระดับ 64.8 พันบาร์เรล/วัน ในปี 2542 เหลือ 53.2 พันบาร์เรล/วัน ในปี 2543 ในขณะที่การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมด คาดว่าจะต่ำกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย คือ อยู่ในระดับ 687.4 พันบาร์เรล/วัน แม้ว่าโรงกลั่นไทยออยล์ จะไม่สามารถผลิตได้ตั้งแต่ปลายปี 2542 จนถึงกลางเดือนมกราคม 2543 ก็ตาม โรงกลั่นอื่นๆ ที่เหลือสามารถเพิ่มการผลิตมาทดแทนโรงกลั่นไทยออยล์ได้จำนวนหนึ่งในช่วงที่ขาดไป โดยเฉพาะโรงกลั่นระยองและสตาร์ฯ จะสามารถผลิตได้เต็มกำลังการผลิต การผลิตน้ำมันในปี 2543 คาดว่าจะยังคงสูงกว่าความต้องการใช้ประมาณ 55.7 พันบาร์เรล/วัน โดยคาดว่าจะมีการส่งออกน้ำมันเบนซิน ดีเซล และก๊าซหุงต้มในระดับ 12.3, 7.2, และ 23.1 พันบาร์เรล/วัน ตามลำดับ
-ยังมีต่อ-