รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนตุลาคม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 17, 2005 11:52 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

          สรุปประเด็นสำคัญ
ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนกันยายน 2548
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม = 147.32 เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2548 (145.74) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (136.94)
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2548 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน การผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ
- อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย = 68.18 เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2548 (67.84) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (63.94)
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2548
- อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตและการส่งออกยังขยายตัวได้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่ลูกค้าต่างประเทศเริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามา โดยเฉพาะในสินค้ากลุ่มอาหารทะเลแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปอื่นๆ เพื่อสำรองไว้จำหน่ายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2548
- การผลิตและจำหน่ายเส้นใยสิ่งทอฯ และเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีแนวโน้มที่ขยายตัว สำหรับแนวโน้มเดือนพฤศจิกายน 2548 คาดว่าปริมาณการผลิตและการส่งออกจะขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้นและจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีตามความต้องการบริโภคของตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก
- สถานการณ์เหล็กคาดว่าจะทรงตัว โดยในส่วนของเหล็กทรงยาวคาดการณ์ว่าจะทรงตัวเนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝน ขณะที่เหล็กทรงแบนซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ถึงแม้จะมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะมีการขยายตัว แต่เนื่องจากมีการนำเข้าเหล็กชนิดพิเศษเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมดังกล่าวเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงอาจจะมีผลทำให้การผลิตเหล็กทรงแบนในประเทศไม่ขยายตัวเท่าที่ควร
- ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนกันยายน เนื่องจากความต้องการรถยนต์ปิกอัพหลายยี่ห้อยอดนิยมยังคงรอการส่งมอบรถยนต์จากผู้ผลิต ประกอบกับ มีการนำรถยนต์นั่งรุ่นใหม่หรือปรับปรุงโฉมใหม่ในรุ่นเดิม ออกสู่ตลาด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนตุลาคมขยายตัว
- อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เดือนตุลาคม การผลิตและการจำหน่ายในประเทศมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการชะลอการลงทุนของธุรกิจการก่อสร้างในภาคเอกชน สาเหตุมาจากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สำหรับการส่งออกขึ้นอยู่กับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ
- การผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จากเดือนกันยายน เนื่องจากการส่งออกที่ยังสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น และผู้ผลิตเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับกับความต้องการที่คาดว่าจะมีมากขึ้นในช่วงเทศกาล คริสมาสต์ และปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมคาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน เนื่องจาก 2 เดือนที่ผ่านมาได้เพิ่มการผลิตเพื่อป้อนตลาดในช่วงปลายปีแล้ว ทำให้ในช่วงปลายปีจะปรับตัวลดลงตามฤดูกาล
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
ส.ค.. 48 = 145.74
ก.ย. 48 = 147.32
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนี เพิ่มขึ้น ได้แก่
- การผลิตยานยนต์
- การแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ
- การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน
- อัตราการใช้กำลังการผลิต
ส.ค. 48 = 67.84
ก.ย. 48 = 68.18
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่
- การผลิตยานยนต์
- การผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง
- การแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ
1.อุตสาหกรรมอาหาร
“ ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัว เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและปีก่อน สำหรับแนวโน้มการส่งออกจะยังขยายตัวต่อไปจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นสำหรับการบริโภคในประเทศอาจชะลอตัวลง "
1. การผลิต
ภาวะการผลิตโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.0 และเมื่อเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เป็นผลจากปริมาณคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นกระตุ้นให้ภาคการผลิตขยายตัวโดยเฉพาะสินค้า การผลิตอาหารเพื่อ ส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้ากุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 53.2 สับปะรดกระป๋องร้อยละ 59.8 และปลาทูนากระป๋อง ร้อยละ 37.5 สำหรับการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศ กลุ่มสินค้าน้ำมันพืช (ถั่วเหลืองและปาล์มน้ำมัน) มีการผลิตลดลงร้อยละ 44.4 และ 8.4 ตามลำดับ
2. การตลาด
1) ตลาดในประเทศ สินค้าอาหารและเกษตร มีมูลค่าจำหน่ายลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 1.9 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากราคาจำหน่ายที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนตามราคาน้ำมัน
2) ตลาดต่างประเทศ
ภาวะการส่งออกโดยรวม มีปริมาณลดลงร้อยละ 11.9 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของระดับราคาโดยรวมที่เพิ่มขึ้น โดยสินค้าที่ส่งออกหลัก ได้แก่ กุ้ง ส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ร้อยละ 25.2 และ 17.0 ทูน่าฯ ร้อยละ26.4 และ 25.1 ไก่แปรรูป ร้อยละ 15.4 และ 16.2 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 17.6 และ 20.5 นอกจากนี้เริ่มส่งออกไก่แช่เย็นแช่แข็ง เพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกในรอบ 18 เดือนทั้งปริมาณ และมูลค่า ร้อยละ 170.7 และ 364.1 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากข่าวไข้หวัดนกระบาดในยุโรปตะวันออก
3. แนวโน้ม
คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะยังขยายตัวได้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่ลูกค้าต่างประเทศเริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามา โดยเฉพาะในสินค้ากลุ่มอาหารทะเลแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปอื่นๆ เพื่อสำรองไว้จำหน่ายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2548
2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
“การส่งออกจะขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้นและจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี”
1. การผลิตและการจำหน่าย
การผลิตและการจำหน่ายเส้นใยสิ่งทอฯ เดือนกันยายน 2548 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันกับปีก่อน เนื่องจากส่วนใหญ่จะนำเข้าจากต่างประเทศเพราะคุณภาพเส้นใยใกล้เคียงกันแต่ราคา ถูกกว่าและบางส่วนลูกค้าจะระบุคุณสมบัติของวัตถุดิบ จึงเป็นเหตุให้การผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่การผลิตและการจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเดือนกันยายน มีทิศทางลดลงเนื่องจากมีการแข่งขันทางด้านราคา ตลอด จนมีการกำหนดมาตรฐานและคุณภาพสินค้าเพิ่มมากขึ้นของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันกับปีก่อน อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีการผลิตทรงตัว แต่การจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4
2. การส่งออกและตลาดส่งออก
มูลค่าการส่งออกสิ่งทอโดยรวม เดือนกันยายน 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันกับปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นในตลาดจีน (+14.7%) และเยอรมัน (+10.5%) แต่ลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา (-4.8%) และสหราชอาณาจักร (-0.4%)
มูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป เดือนกันยายน 2548 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันกับปีก่อน ในตลาดญี่ปุ่น และฝรั่งเศส แต่ลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์
3. การนำเข้า
มูลค่าการนำเข้าสิ่งทอเดือนม.ค. — ก.ย. 2548 โดยรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน เป็นการนำเข้า เส้นใยใช้ในการทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 ตลาดนำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและซิมบับเว ผ้าผืน นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 ตลาดนำเข้าหลักคือจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฮ่องกง ขณะที่การนำเข้าด้ายทอผ้าฯ ลดลงร้อยละ 2.5 ตลาดนำเข้าหลักคือจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน
เสื้อผ้าสำเร็จรูป นำเข้าลดลงร้อยละ 6.6 ตลาดนำเข้าคือจีน ฮ่องกง อิตาลี และญี่ปุ่น
4. แนวโน้ม
เดือนตุลาคม 2548 การผลิตและจำหน่ายเส้นใยสิ่งทอฯ และเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะมีแนวโน้มที่ขยายตัว เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน สำหรับแนวโน้มเดือนพฤศจิกายน 2548 คาดว่าปริมาณการผลิตและการส่งออกจะขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้นและจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีตามความต้องการบริโภคของตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก
3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
“ สถานการณ์เหล็กคาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยในส่วนของเหล็กทรงยาวคาดการณ์ว่าจะทรงตัวเนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝน ขณะที่เหล็กทรงแบนซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ถึงแม้จะมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะมีการขยายตัว แต่เนื่องจากมีการนำเข้าเหล็กชนิดพิเศษเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมดังกล่าวเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงอาจจะมีผลทำให้การผลิตเหล็กทรงแบนในประเทศไม่ขยายตัวเท่าที่ควร ”
1.การผลิต
ภาวะการผลิตเหล็กในช่วงเดือน ก.ย. 48 ขยายตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 124.80 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.05 เนื่องจากช่วงเดือนที่ผ่านมาการผลิตและการจำหน่ายในประเทศลดลง ผู้ผลิตคาดการณ์ว่าตลาดเหล็กในช่วงเดือนกันยายนน่าจะดีขึ้นประกอบกับในช่วงไตรมาส 4 โดยปกติจะเป็นช่วงขาขึ้นของอุตสาหกรรมเหล็ก ผู้ผลิตจึงเพิ่มการผลิตไว้เพื่อรองรับกับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ขณะที่สถานการณ์การจำหน่ายในประเทศยังคงซบเซาอยู่เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน การก่อสร้างจึงหยุดชะงักลง ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 76.25 เหล็กเส้นข้ออ้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 54.49 สำหรับเหล็กทรงแบน ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 35.55 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.63เนื่องจากสต๊อกที่มีอยู่เริ่มลดลง จึงทำให้เริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามา ผู้ผลิตจึงเพิ่มการผลิตไว้ ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการผลิตมีการชะลอตัว ร้อยละ 21.40 ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการลดลง คือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม ลดลง ร้อยละ 40.78 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 40.30 และลวดเหล็ก ลดลง ร้อยละ 37.94 เนื่องจากความต้องการเหล็กในประเทศยังคงซบเซาอยู่ ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกมีกำลังการผลิตส่วนเกิน ประกอบกับปริมาณสินค้าคงคลังที่ยังคงมีอยู่ จึงทำให้ราคาเหล็กอ่อนตัวลง ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กทั้งจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีนประกาศลดปริมาณการผลิตเหล็กลง
2.ราคาเหล็ก
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ในช่วงเดือนตุลาคม 2548 เทียบกับเดือนก่อน ผลิตภัณฑ์เหล็กที่สำคัญส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย เช่น เหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้นจาก 296 เป็น 303 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.37 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 507 เป็น 518 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.17 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้นจาก 410 เป็น 413 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.73 เหล็กแท่งเล็ก เพิ่มขึ้นจาก 336 เป็น 338 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.45 สำหรับเหล็กเส้นราคาทรงตัว คือ 376 เหรียญสหรัฐต่อตัน ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาลดลง ได้แก่ เศษเหล็ก ลดลง จาก 251 เป็น 208 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 17.33
3. แนวโน้ม
สถานการณ์เหล็กในเดือน ต.ค. 2548 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยในส่วนของเหล็กทรงยาวคาดการณ์ว่าจะทรงตัวเนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝน ขณะที่ภาวะการค้ายังคงซบเซาอย่างต่อเนื่องและราคาเหล็กยังคงทรงตัวอยู่ ผู้ผลิตจึงชะลอการผลิตลงและพยายามลดภาระต้นทุน โดยการสำรองทั้งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปให้น้อยลง ขณะที่เหล็กทรงแบนซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ถึงแม้จะมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะมีการขยายตัว แต่เนื่องจากมีการนำเข้าเหล็กชนิดพิเศษเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมดังกล่าวเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงอาจจะมีผลทำให้การผลิตเหล็กทรงแบนในประเทศไม่ขยายตัวเท่าที่ควร
4. อุตสาหกรรมยานยนต์
รถยนต์
อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกันยายน 2548 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แม้ว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันยังคงทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ตลอดจนภาวะภัยธรรมชาติจากน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ แต่ปัจจัยเหล่านี้ไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์มากนัก เนื่องจากปริมาณความต้องการรถยนต์มีมากขึ้น ประกอบกับ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกันยายนมีการปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ตลาดรถยนต์ในประเทศ รถยนต์ปิกอัพยังคงเป็นที่ต้องการของมากกว่ารถยนต์นั่ง ในสัดส่วน 70 : 24 สำหรับตลาดส่งออกยังคงมีการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกันยายน ดังนี้
- การผลิตรถยนต์ จำนวน 102,602 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2547 ร้อยละ 32.86 และเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2548 ซึ่งมีการผลิต 98,487 คัน ร้อยละ 4.17
- การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 55,137 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2547 ร้อยละ 7.87 และเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2548 ซึ่งมีการจำหน่าย 52,829 คัน ร้อยละ 4.37
- การส่งออกรถยนต์ มีจำนวน 42,224 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2547 ร้อยละ 51.81 และเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2548 ซึ่งมีการส่งออก 40,283 คัน ร้อยละ 4.82
- แนวโน้ม ประมาณการภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนตุลาคม 2548 จะขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนกันยายน เนื่องจากความต้องการรถยนต์ปิกอัพหลายยี่ห้อยอดนิยมยังคงรอการส่งมอบรถยนต์จากผู้ผลิต ประกอบกับ มีการนำรถยนต์นั่งรุ่นใหม่หรือปรับปรุงโฉมใหม่ในรุ่นเดิม ออกสู่ตลาด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนตุลาคมขยายตัว
รถจักรยานยนต์
อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เนื่องจากในเดือนนี้มีปัจจัยเสริมจากการเปิดตัวรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ และตลาดรถจักรยานยนต์ในช่วงนี้มีการแข่งขันสูงมาก ทั้งในด้านการส่งเสริมการขายโดยให้ผู้บริโภคสามารถเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ได้ง่าย และการให้บริการหลังการขายได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกันยายน ดังนี้
- การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 186,671 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2548 ซึ่งมีการผลิต 180,996 คัน ร้อยละ 3.14
- การจำหน่าย จำนวน 172,145 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2547 ร้อยละ 15.39 และเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2548 ซึ่งมีการจำหน่าย 158,032 คัน ร้อยละ 8.93
- การส่งออกรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 14,025 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2548 ซึ่งมีการส่งออก 11,525 คัน ร้อยละ 21.69
- แนวโน้ม ประมาณการภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม 2548 จะขยายตัวจากเดือนกันยายนอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นช่วงที่ผู้ผลิตหลายราย ได้นำรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้ก็มีการเปิดตัวรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ของยี่ห้อยอดนิยม
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
“การผลิต การจำหน่ายในประเทศลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝนทำให้การก่อสร้างชะลอตัวลงเล็กน้อย “
1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ
การผลิตปูนซีเมนต์ในเดือนกันยายน 2548 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลงร้อยละ 1.35 เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงนอกฤดูกาลก่อสร้าง แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.65 เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ยังคงเพิ่มขึ้นตามภาวะธุรกิจก่อสร้างที่ขยายตัวจากการลงทุนในโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของภาครัฐ
2.การส่งออก
มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนกันยายน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลงร้อยละ 3.56 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 46.47 เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศคู่ค้าขยายตัว สำหรับตลาดส่งออกปูนซีเมนต์ที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม บังคลาเทศ และกัมพูชา
3.แนวโน้ม
เดือนตุลาคม และเดือนพฤศจิกายน คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายในประเทศมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการชะลอการลงทุนของธุรกิจการก่อสร้างในภาคเอกชน สาเหตุมาจากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สำหรับการส่งออกขึ้นอยู่กับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ
6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
“ การผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จากเดือนกันยายน เนื่องจากการส่งออกที่ยังสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น และผู้ผลิตเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับกับความต้องการที่คาดว่าจะมีมากขึ้นในช่วงเทศกาล คริสมาสต์ และปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมคาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน เนื่องจาก 2 เดือนที่ผ่านมาได้เพิ่มการผลิตเพื่อป้อนตลาดในช่วงปลายปีแล้ว ทำให้ในช่วงปลายปีจะปรับตัวลดลงตามฤดูกาล “
ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ก.ย. 2548
หน่วย : ล้านบาท
เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า CPM CPY
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ 48,141.80 11 40.7
IC 22,944.30 6.5 24.9
เครื่องรับโทรทัศน์สี 6,616.60 9.2 -5.5
เครื่องปรับอากาศ 4,796.80 -0.2 -10
รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 136,332.70 5.9 13.5
ที่มา : สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
1.การผลิต
ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกันยายน 2548 ขยายตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 10.2 และ 5.1 ตามลำดับโดยเป็นการขยายตัวจากทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยในส่วนของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อน คือเครื่องรับโทรทัศน์สีจอเล็กกว่าหรือเท่ากับ 20 นิ้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.9 ส่วนสินค้าที่ฉุดให้กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 และ 21.1 ตามลำดับ
2. การส่งออก
การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนกันยายนมีมูลค่า 136,332.7 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนนี้มีการขยายตัวร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และขยายตัวร้อยละ 23.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนโดยเฉพาะอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 40.7 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของตลาดจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้จนกลายเป็นตลาดอันดับหนึ่งของไทยแทนที่ตลาดสหรัฐอเมริกาแล้ว (ตารางที่ 1)
ส่วนสินค้าเครื่องใช้ ไฟฟ้าค่อนข้างทรงตัวโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 1.3 โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการส่งออกสูงที่มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ เครื่องรับโทรทัศน์ และเครื่องปรับอากาศ ลดลงร้อยละ 5.5 และ 10 ตามลำดับ (ตารางที่ 1)
3. แนวโน้ม
แม้ว่าความต้องการสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศอาจได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับราคาสูง แต่อย่างไรก็ตามการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนตุลาคม 2548 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จากเดือนกันยายน เนื่องจากการส่งออกที่ยังสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น และผู้ผลิตเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับกับความต้องการที่คาดว่าจะมีมากขึ้นในช่วงเทศกาลคริสมาสต์ และปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง
ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมคาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน เนื่องจาก 2 เดือนที่ผ่านมาได้เพิ่มการผลิตเพื่อป้อนตลาดในช่วงปลายปีแล้ว ทำให้ในช่วงปลายปีจะปรับตัวลดลงตามฤดูกาล อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอาจจะชะลอตัวลงเล็กน้อย
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2548 มีค่า 147.32 เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2548 (145.74) ร้อยละ 1.08 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (136.94) ร้อยละ 7.58
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ เป็นต้น
- อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนสิงหาคม 2548 มีค่า 68.18 เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2548 (67.84) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (63.94)
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐานอุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอม สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อุตสาหกรรมการผลิตปูนซิเมนต์ ปูนขาวและปูนปลาสเตอร์ เป็นต้น
- อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนสิงหาคม 2548 ของโรงงานขนาดเล็กมีค่า 24.5 โรงงานขนาดกลางมีค่า 53.9 และโรงงานขนาดใหญ่มีค่า 71.1
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2548
- ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2548 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2548 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 568 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนสิงหาคม 2548 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 395 รายหรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 43.8 ในส่วนของจำนวนเงินลงทุน มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 38,215.12 ล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานรวม 18,091คน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2548 ซึ่งมีการลงทุนเพิ่ม 23,114.95 ล้านบาทและจำนวนการจ้างงาน 10,553 คน ร้อยละ 65.3 และ 71.75 ตามลำดับ
- ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2548 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนกันยายน 2547 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 656 รายหรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ -13.41 และในส่วนของจำนวนเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2547 ซึ่งมีการลงทุนเพิ่ม 14,049.28 ล้านบาทร้อยละ 64.5 และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2547 ซึ่งมีจำนวนการจ้างงาน 17,415 คน ร้อยละ 3.88
- อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนกันยายน 2548 คือ อุตสาหกรรมขุดหรือลอก กรวด ทรายหรือดิน จำนวน 67 ราย รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำเครื่องเรือนจากไม้ ยาง อโลหะอื่น ซึ่งมิได้ทำจากพลาสติกอัดเข้ารูป จำนวน 46 ราย
- อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนกันยายน 2548 คือ อุตสาหกรรมการสร้าง ดัดแปลง เปลี่ยนแปลงสภาพรถยนต์หรือรถพ่วง 19,758 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการผลิต ซ่อมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเรดาร์ คาปาซิเตอร์ มีเงินทุน 2,990 ล้านบาท
- อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนกันยายน 2548 คือ อุตสาหกรรมการผลิต ซ่อมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเรดาร์ คาปาซิเตอร์คนงาน 2,805 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมสร้าง ดัดแปลง เปลี่ยนแปลงสภาพรถยนต์หรือรถพ่วง คนงาน 2,184 คน
- ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2548 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2548 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 390 ราย มากกว่าเดือนสิงหาคม 2548 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 193 ราย คิดเป็นร้อยละ 102 ในส่วนของเงินทุนมีจำนวน 4,812.51 ล้านบาทและมีการเลิกจ้างงานจำนวน 7,115 คน มากกว่าเดือนสิงหาคม 2548 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 2,536.18 ล้านบาทและเลิกจ้างงานจำนวน 4,894 คน
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ