ความเห็นและข้อเสนอแนะ
ยุทธศาสตร์การป้องกันภัยพิบัติและอุบัติภัย
1. ความเป็นมา
ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และอุบัติภัยจากฝีมือมุนษย์ อย่างรุนแรงหลายครั้ง เช่น พายุ น้ำป่าท่วม โคลนถล่ม ไฟไหม้ใหญ่ อัคคีภัยในอาคารสูง ภัยพิบัติที่เกิดกับระบบขนส่งมวลชนทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ รวมทั้งภัยพิบัติที่เกิดกับสารพิษและแก๊สบางประเภท เป็นต้น ซึ่งการเตรียมพร้อมของภาครัฐและภาคประชาชน ในการป้องกันและลดผลกระทบจากการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร
การเกิดคลื่นยักษ์ (สึนามิ) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ใน 6 จังหวัดภาคใต้ ชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง ตรัง และสตูล ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยเป็นอย่างมากการเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้ ซึ่งเป็นภัยพิบัติที่รุนแรง กว้างขวาง และรวดเร็วฉับพลัน แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยขาดการเตรียมพร้อมและการเผชิญวิกฤตในภาวะฉุกเฉิน ประชาชนขาดความรู้เกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติและอุบัติภัย อุปกรณ์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มีไม่เพียงพอ ขาดระบบการศึกษา ติดตามเหตุร้าย ขาดระบบการสื่อสารและข้อมูลเตือนภัย ขาดการประชาสัมพันธ์เพื่อเตือนภัยในทุกระดับ รวมทั้งขาดการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและทันเหตุการณ์ ถึงแม้จะมีแผนการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย แต่ไม่ได้มีการนำมาใช้ และซักซ้อมอย่างจริงจัง โดยยังขาดการเตรียมพร้อมในด้านการบริหารจัดการ การเฝ้าระวัง ป้องกัน การสร้างจิตสำนึก และองค์ความรู้ในลักษณะเชิงรุก (Proactive) ในทุกระดับและทุกภาคส่วนของสังคมทั้งในระดับประเทศ เมืองหลวง และเมืองใหญ่ จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน ราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน นักท่องเที่ยว และสื่อมวลชน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เสี่ยงภัย ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น จึงมีลักษณะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นครั้งๆ ไป
สำหรับกรณีที่อาจจะเกิดแผ่นดินไหว และทำให้เกิดการพังทลายของเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน
2 เขื่อน ในจังหวัดกาญจนบุรี คือ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ จะเห็นได้ว่าเขื่อนศรีนครินทร์ตั้งอยู่บนแม่น้ำแควใหญ่ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ตั้งอยู่บนแม่น้ำแควน้อย ซึ่งทั้งสองแม่น้ำนี้อยู่ในแนวรอยเลื่อน (Fault) และตามหลักสากลแล้วห้ามมิให้ก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่บนรอยเลื่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหว อาจทำให้เขื่อนพังทลาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก แม้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ออกแบบโครงสร้างเขื่อนให้สามารถต้านทานต่อแรงสั่นสะเทือนจากการเกิดแผ่นดินไหวได้ระดับ 7.5 บนมาตราริกเตอร์ ก็มิอาจจะเป็นหลักประกัน ในกรณีเขื่อนจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งสร้างบนรอยเลื่อนโดยตรง แต่เหตุการณ์ เมื่อ 26 ธันวาคม 2547 ความรุนแรงมีถึงระดับ 9 บนมาตราริกเตอร์ นอกจากนี้ยังมีรอยเลื่อนอื่นๆ ที่อยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดใกล้เคียง และรอยเลื่อนที่สำคัญในทะเลอันดามัน ซึ่งอยู่ห่างจากเขื่อน ทั้งสองในรัศมี 400 - 1,000 กิโลเมตร ดังนั้นการป้องกันและการเตรียมพร้อมในกรณีที่เขื่อนทั้งสอง เกิดการพังทลาย เพื่อลดผลกระทบให้เกิดน้อยที่สุดจากการพังทลายของเขื่อนทั้งสองนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และต้องแจ้งให้สาธารณชน ซึ่งอยู่ในบริเวณที่จะได้รับผลกระทบได้รับทราบเพื่อการเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา
สำหรับสาเหตุหลักอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนในแต่ละปีจำนวนมาก คือ อุบัติภัยจากการจราจรทางถนน และอุบัติภัยดังกล่าวจะเกี่ยวพันกับคน ยานพาหนะ ถนน ตลอดจนสิ่งแวดล้อม สภาที่ปรึกษาฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าวข้างต้น จึงได้หยิบยกเรื่องยุทธศาสตร์การป้องกันภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์ (สึนามิ) และแผ่นดินไหวของประเทศไทยมาเป็นกรณีศึกษา รวมทั้งได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในเบื้องต้นเกี่ยวกับการจราจรทางถนนให้มีความปลอดภัยพร้อมกับการศึกษา
ในครั้งนี้ด้วย
2. แนวคิดของสภาที่ปรึกษาฯ ในเรื่องยุทธศาสตร์การป้องกันภัยพิบัติ
สภาที่ปรึกษาฯ มีแนวคิดที่จะเสนอยุทธศาสตร์การป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติและอุบัติภัยของประเทศไทย ในลักษณะการจัดการเชิงรุก (Proactive Management) โดยเน้นการเตรียมและสร้างความพร้อม เพื่อป้องกันและลดผลกระทบก่อนเกิดภัยพิบัติหรือก่อนเกิดเหตุ (Disaster Preparedness) ส่วนการจัดการระหว่างเกิดภัยพิบัติ และในภาวะฉุกเฉิน (Emergency Response) และการฟื้นฟูสภาพร่างกาย สภาพจิตใจของประชาชน ทรัพย์สิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจและสังคม ภายหลังเกิดภัยพิบัติหรือหลังเกิดเหตุการณ์ (Rehabilitation) นั้น สภาที่ปรึกษาฯ จะเสนอเป็นมาตรการเสริมกับมาตรการและโครงการฟื้นฟูต่างๆ ใน
6 จังหวัดภาคใต้ ที่ภาครัฐ และ หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งต่างประเทศได้ดำเนินการอยู่แล้ว
3. เป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว
3.1 รัฐต้องลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและของภาครัฐ เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยภาครัฐและภาคประชาชนสามารถควบคุมสถานการณ์ภัยพิบัติให้กลับคืนสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว
3.2 รัฐต้องมีนโยบายให้ภาคประชาชนและภาครัฐมีจิตสำนึกและมีองค์ความรู้ในการป้องกันภัยพิบัติได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยสูง
3.3 รัฐต้องมีแผนป้องกันภัย ระบบเตือนภัย และระบบการเตรียมความพร้อม ทั้งของภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อเผชิญกับภัยพิบัติ รวมทั้งมีแผนฟื้นฟูชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ
3.4 รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการอย่างแท้จริง
4. การดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาฯ
สภาที่ปรึกษาฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษายุทธศาสตร์การป้องกันภัยพิบัติและอุบัติภัยขึ้นโดยได้ดำเนินงานตั้งแต่เดือน มกราคม — กุมภาพันธ์ 2548 และได้ทำการศึกษาโดย 1) ศึกษาจากเอกสารและบทความจากแหล่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการปรึกษาหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 2) จัดสัมมนารับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน 3) ศึกษาดูงานในพื้นที่ โดยได้นำความรู้และความคิดเห็นที่ได้มาเป็นพื้นฐานในการจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและ 4) จัดประชุมกลุ่มย่อย เพื่อระดมความคิดเห็นและนำข้อมูลที่ได้มาประมวลและสังเคราะห์ เพื่อจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การป้องกันภัยพิบัติและอุบัติภัย เพื่อเสนอสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีต่อไป
5. ประเด็นปัญหา
5.1 ก่อนเกิดภัยพิบัติ
5.1.1 การเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติ
1) ประชาชนไม่ตระหนักถึงภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยขาดการให้การศึกษาและความเข้าใจเกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ รวมทั้งขาดจิตสำนึกในการป้องกันภัยพิบัติต่างๆ
2) การป้องกันภัยพิบัติในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งรับมากกว่าเชิงรุก ซึ่งรัฐบาลควรปรับเปลี่ยนนโยบาย
3) ปัจจุบันประเทศไทยขาดระบบเตือนภัยล่วงหน้า และระบบสื่อสารที่มีประสิทธิภาพที่สามารถเตือนภัยได้ทันเหตุการณ์ และไม่มีเครือข่ายเตือนภัยสึนามิที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ การเตรียมพร้อมเพื่อรับภาวะฉุกเฉินจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและแผ่นดินไหวยังไม่เป็นระบบและเป็น จุดอ่อน การพยากรณ์และติดตามผลที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลยังไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถเตือนภัยได้อย่างทันเหตุการณ์และป้องกันชีวิตและทรัพย์สินได้
4) ประเทศไทยขาดแผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ (Risk Map) ทุกประเภทในแต่ละจังหวัด
5) ประเทศไทยขาดแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่สมบูรณ์ แม้จะมีแผนป้องกันสาธารณภัย แต่ไม่มีแผนป้องกันภัยแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ (สึนามิ) และไม่มีการเตรียมพร้อมในการดำเนินงาน (การซักซ้อมและฝึกอบรม) เพื่อป้องกันภัยและกู้ภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เสี่ยงภัย เช่น เขตชายฝั่งทะเลอันดามัน เขตเมืองใหญ่ๆ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเขื่อนในจังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น
6) ทรัพยากรธรรมชาติถูกรุกล้ำ โดยไม่คำนึงถึงภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
7) การก่อสร้างในเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร และแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว ส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงการออกแบบสิ่งก่อสร้างที่ป้องกันภัยจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ (สึนามิ)ปัจจุบันได้มีกฎหมายควบคุมการก่อสร้าง เพื่อป้องกันภัยจากแผ่นดินไหวมีการควบคุมเพียง 10 จังหวัด ในภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น
5.2 การจัดการระหว่างเกิดภัยพิบัติและในภาวะฉุกเฉิน
1) ขาดระบบและกลไกที่เตรียมไว้เพื่อรองรับภาวะฉุกเฉินขนาดใหญ่ได้อย่างทันท่วงที
2) ขาดประสิทธิภาพในการประสานงาน และขาดเจ้าภาพที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่ชัดเจนในการเข้ามาบริหารจัดการในภาพรวม เช่น กรณีคลื่นยักษ์ (สึนามิ) เป็นต้น ทำให้ไม่มีระบบบริหารที่เป็นเอกภาพ
3) ขาดนโยบายที่เป็นมาตรฐานชัดเจน ในการบริหารจัดการภัยพิบัติในระดับพื้นที่ ระดับชาติ และระดับนานาชาติ
4) การสื่อสารล้มเหลว และขาดระบบทดแทน เมื่อได้รับการเตือนภัยไม่สามารถแทรกรายการโทรทัศน์และวิทยุเพื่อกระจายข่าวเตือนภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ทันเหตุการณ์
5.3 หลังเกิดภัยพิบัติ
1) ขาดระบบและกลไก เพื่อจัดการฟื้นฟูอย่างบูรณาการภายหลังเกิดภัยพิบัติ โดยเฉพาะระบบและกลไกที่ประชาชนในท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญ และหน่วยงานทั้งหลายที่เกี่ยวข้องมีการร่วมมือประสานกันอย่างเป็นเอกภาพ
2) ขาดระบบฟื้นฟูจิตใจของผู้ประสบภัย และผู้สูญเสีย
6. ข้อเสนอแนะ
6.1 ข้อเสนอแนะทั่วไป
1) ควรกำหนดให้วันที่ 26 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ เช่นเดียวกับในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งใช้วันที่ 1 กันยายน เป็นวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์สึนามิขึ้นในประเทศ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสูญเสียและบทเรียนจากอุบัติภัย รวมทั้งใช้วันดังกล่าวในการสร้างจิตสำนึกให้มีการเตรียมพร้อมในการเตือนภัยของท้องถิ่นทั่วประเทศทุกๆ ปี
2) ควรส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกและวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยในหมู่ประชาชน โดย สอดแทรกการศึกษาเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยไว้ในหลักสูตรในทุกระดับ รวมถึงในการศึกษานอกระบบโดยใช้สื่อทุกประเภท
3) ควรสนับสนุนให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญในการวางแผนป้องกันและเตรียมพร้อมสำหรับภัยพิบัติและอุบัติภัยในท้องถิ่นของตนเอง รวมถึงการให้การสนับสนุนตามสมควรมีกองทุนของท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนกิจกรรมป้องกันและเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติโดยรัฐ
4) ควรดำเนินการให้แต่ละจังหวัดมีแผนที่เสี่ยงภัยจากภัยประเภทต่างๆ และให้นำระบบดาวเทียมมาร่วมในการวิเคราะห์และเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต แผนในการเฝ้าระวัง และแผนป้องกันบรรเทาสาธารณภัยที่สมบูรณ์ รวมทั้งจัดให้มีการเตรียมพร้อมและการซักซ้อมอย่างต่อเนื่องทุกท้องที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในวันที่ 26 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเสนอเป็นวันอุบัติภัยแห่งชาติ
5) จัดให้มี “กองพันช่วยฉุกเฉิน” (Rescue Force) เคลื่อนที่เร็ว ซึ่งมีอุปกรณ์ เครื่องมือ และผู้เชี่ยวชาญพร้อมช่วยเหลือได้ทุกพื้นที่ของประเทศ รวมทั้ง Rescue Force ของราชนาวี สำหรับจังหวัดชายทะเล
6) สนับสนุนให้คณะสงฆ์มีบทบาทในการฟื้นฟูจิตใจของผู้ประสบภัยและผู้สูญเสีย โดยเฉพาะเด็กกำพร้า โดยจัดให้มีหลักสูตร “การฟื้นฟูจิตใจ” (Psychic Recovery) ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ โดยความร่วมมือของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และสนับสนุนองค์กรศาสนาอื่นๆ ในทำนองแนวกัน
7) ควรดำเนินการให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิผล
8) ควรแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อศึกษาข้อเท็จจริง และแนวทางในการป้องกัน และเตรียมพร้อมสำหรับปัญหาภัยพิบัติในกรณีเขื่อนในจังหวัดกาญจนบุรีและคลังน้ำมัน
9) รัฐต้องให้มีการพัฒนาทรัพยากรของบุคคลด้านการบรรเทาภัยพิบัติจากธรรมชาติและอุบัติภัยอย่างเพียงพออยู่เสมอ
10) ทุกเทศบาล และ อบต. ทุกตำบล รวมทั้งทุกหมู่บ้าน ต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการเหตุการณ์ภัยพิบัติและอุบัติภัย เพื่อรับผิดชอบดูแลการจัดการฉุกเฉินในพื้นที่ของตนและประสานงานกับคณะกรรมการจัดการฉุกเฉินของชุมชนใกล้เคียง
1) ทุกเทศบาล และ อบต. ทุกตำบล ต้องทำข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับภัยพิบัติ และการเตรียมการเพื่อป้องกันภัยพิบัติ และอุบัติภัยต่างๆ ที่จำเป็นของประชาชนทุกครอบครัวให้ครบถ้วนและสมบูรณ์
6.2 ข้อเสนอแนะคลื่นยักษ์สึนามิ และแผ่นดินไหว ควรมีมาตรการป้องกันและเตรียมพร้อม ดังต่อไปนี้
6.2.1 ก่อนเกิดภัยพิบัติ
1) ภาครัฐต้องยอมรับว่าการเกิดแผ่นดินไหวระดับ 9 บนมาตราริกเตอร์เป็นสิ่งใหม่ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว การสร้างความพร้อมและเตรียมการอย่างมีประสิทธิภาพของชาติเป็นสิ่งจำเป็น
2) องค์กรภาครัฐในทุกระดับและองค์กรภาคประชาชนควรกำหนดนโยบายเป็นเชิงรุก (Proactive) ที่มีกระบวนการรับรู้และตอบสนองอย่างรวดเร็วมากกว่าเชิงรับ เพื่อแก้ไขได้ทันเหตุการณ์และมีการสูญเสียน้อย
3) รัฐต้องจัดให้มีระบบเตือนภัยพิบัติที่ติดตั้งทุ่นลอย (DART - Deep Ocean Assessment and Reporting of Tsunami System) ที่ส่งสัญญาณระบบเตือนภัยเข้าถึงระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้และโทรศัพท์พื้นฐาน(Fixed line) ทั้งสัญญาณที่เป็นข้อความ (Text) และสัญญาณเสียงเป็น Speech หรือ Voice ทั้งนี้ ให้สามารถเชื่อมโยงระบบเตือนภัยได้ทั้งภาครัฐบาล กองทัพ ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนในแหล่งท่องเที่ยว โรงเรียน สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน ทั้งระบบอย่างเป็นบูรณาการทุกหน่วยงาน รวมทั้งกับเครือข่ายต่างประเทศ และเป็นระบบปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง
4) เร่งรัดติดตั้งระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวและสึนามิอย่างเป็นระบบเครือข่ายภายในประเทศและเชื่อมโยงกับต่างประเทศในจุดที่เสี่ยงภัยให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี โดยเฉพาะในจุดเสี่ยงภัยทั้งในเรื่องแผ่นดินไหวและสึนามิ เช่น ในพื้นที่เสี่ยงภัย 6 จังหวัด ภาคใต้ริมฝั่งทะเลอันดามัน พื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดใกล้เคียง จังหวัดเชียงใหม่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเมืองอื่นๆ
5) รัฐต้องสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อประมวลผล (Database Processing Center) เพื่อนำไปสู่การสร้างแบบจำลองในการคาดการณ์ต่างๆ ไว้ล่วงหน้า (Forecasting Simulation Model) รวมทั้งการสร้างแบบจำลองใน War Room และเพื่อเยาวชนใช้ศึกษาและเล่นเกม เพื่อการวางแผนและแก้ปัญหาเวลาเกิดภัยพิบัติและอุบัติภัยที่เกิดจากมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งอุบัติภัยจราจร
6) รัฐต้องให้ความสำคัญ และให้ทุนเร่งด่วนสนับสนุนเพื่อศึกษาวิจัยและสำรวจ รอยเลื่อนที่อยู่ในประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดใกล้เคียง จังหวัดทางภาคเหนือ และในเขตชายฝั่งทะเลอันดามัน ด้วยเทคนิคทางธรณีวิทยา เพื่อที่จะสามารถพยากรณ์ช่วงระยะเวลาที่จะเกิดขึ้นซ้ำอีก (Return Period) ในแนวรอยเลื่อนและแนวแผ่นดินไหวแต่ละแห่งได้ และนำมาใช้เป็นแผนเตรียมรับสถานการณ์ได้ล่วงหน้า และให้มีการซักซ้อมความพร้อมทุกวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (26 ธันวาคม ของทุกปี)
7) รัฐต้องกำหนดแหล่งที่เป็นจุดเสี่ยงภัยของคลื่นยักษ์ (สึนามิ) โดยให้หน่วยงาน ภาครัฐในส่วนกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องจัดให้มีการศึกษาวางแผนและดำเนินการ เพื่อจัดสร้างหอคอยช่วยชีวิต (Tsunami Tower) การปลูกป่าชายเลนเพื่อลดความแรงของคลื่น (Tsunami Forest) ติดตั้งระบบสัญญาณเตือนภัยด้วยเสียงในทุกชุมชน (Siren Warning System) ที่เชื่อมโยงกับระบบเตือนภัย (DART system) การจัดระเบียบชายหาด และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในแหล่งท่องเที่ยวให้เหมาะสม การป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนระบบกู้ภัยที่มีประสิทธิภาพ การจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ในการสื่อสารและการกู้ภัย การจัดหาพลังงานสำรองและน้ำประปา เมื่อเกิดภัยพิบัติและอุบัติภัย และประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบระบบ
เตือนภัย
8) ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยสูงต่อการเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ (สึนามิ) รัฐต้องเร่งจัดทำแผนป้องกันภัยพิบัติ แผนเตือนภัย แผนที่หนีภัย ศูนย์เตือนภัย แผนจัดการในภาวะฉุกเฉิน และแผนฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติ โดยมีการจัดการและการซักซ้อมเสมือนจริง ในลักษณะบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคประชาชน และจัดความพร้อมด้านงบประมาณ บุคลากร เครื่องมือเครื่องใช้ และองค์ความรู้ มาดำเนินการกู้ภัย
9) รัฐต้องให้การศึกษาด้านการป้องกันภัยพิบัติและอุบัติภัยต่างๆ (Safety Education) และจัดให้มีการพัฒนาหลักสูตรสวัสดิการศึกษา เพื่อให้ความรู้ การฝึกอบรม การซ้อมป้องกันสาธารณภัยให้กับประชาชน นักเรียนนักศึกษา ด้วยสถานการณ์จำลองที่เหมือนจริง (Simulator) พร้อมทั้งให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรเอกชน เพื่อให้ประชาชนที่มีที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย โรงเรียน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการ แหล่งท่องเที่ยว และอื่นๆ ได้ทราบถึงการป้องกันภัยจากแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์ (สึนามิ) ตลอดจนส่งเสริมให้มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการป้องกันและลดผลกระทบจากกันภัยพิบัติและอุบัติภัยต่างๆ และส่งเสริมวิธีการเรียนรู้ที่จะทำให้รอดชีวิตและปลอดภัย ทั้งนี้ให้มุ่งการลดการเสียชีวิตจากความไม่รู้และความประมาทของคนให้มากที่สุด รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกในการป้องกันภัยพิบัติจากธรรมชาติและอุบัติภัยต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมในทุกระดับอายุของประชาชน
10) รัฐต้องมีการติดตามความปลอดภัย และความมั่นคงของเขื่อนขนาดใหญ่ด้วย วิธีการที่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นระบบที่ซับซ้อน เข้าใจความหมายยาก แต่ควรเป็นระบบที่ประชาชนรับรู้ และเข้าใจง่าย เช่น การใช้ระบบโทรทัศน์วงจรปิดที่เปิดให้สาธารณชนสามารถมองเห็นภาพ และสามารถมีการติดตามสภาพของเขื่อนได้ เป็นต้น
11) การทำแผนการอพยพคน ในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉินของทุกชุมชนที่อยู่ใต้เขื่อนขนาดใหญ่ โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบและให้ชุมชนมีส่วนร่วม ทั้งนี้ ต้องได้ข้อมูลที่สำคัญจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เช่น ความลึกของน้ำ ระยะเวลาที่น้ำไหลมาถึงตำแหน่งที่ปลอดภัย เป็นต้น
12) รัฐต้องมีมาตรการทางกฎหมาย ดังต่อไปนี้
(1) ให้มีการออกกฎหมายและระเบียบตลอดจนข้อแนะนำในการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยและอาคารสูง สถานที่ราชการ โรงงานอุตสาหกรรม และอาคารประเภทอื่นๆ ที่จำเป็น เพื่อป้องกันภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ (สึนามิ) โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยเมืองใหญ่ๆ แหล่งท่องเที่ยว ทางยกระดับ สะพานที่มีระยะทางยาว และเขื่อนต่างๆ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
(2) รัฐต้องเร่งออกกฎหมายบังคับให้มีการออกแบบโครงสร้างอาคารแต่ละประเภทที่สามารถต้านทานความรุนแรงของแผ่นดินไหวในพื้นที่เสี่ยงภัย และต้องจัดตั้งระบบตรวจสอบอาคารจากบุคคลที่สาม (Third Party Checking) นอกเหนือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้ามาตรวจสอบการออกแบบก่อสร้างอาคาร รวมทั้งการตรวจสภาพการใช้งานของอาคาร ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงการตื่นตระหนก (Panic) ของประชาชน และผู้ประกอบการเอกชนไม่ให้มีการลงทุนเกินความจำเป็น
(3) รัฐต้องปรับปรุงกฎหมายและระเบียบในการจัดการในภาวะฉุกเฉินและวิกฤต เมื่อเกิดภัยพิบัติและอุบัติภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้เกิดเอกภาพในการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ตั้งแต่ระบบการพยากรณ์ ระบบแจ้งข่าวสารเตือนภัย ระบบการวินิจฉัยสั่งการ ระบบการอพยพและให้ความช่วยเหลือ ระบบการมอบอำนาจและกระจายอำนาจ ระบบการฟื้นฟู ตลอดจนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทันกับสถานการณ์
(4) รัฐต้องพิจารณาออกกฎหมายและมาตรการด้านงบประมาณรายจ่ายฉุกเฉินและมาตรการด้านภาษี เพื่อให้สวัสดิการแก่ผู้ประสบภัยพิบัติจากธรรมชาติที่อยู่ในสภาพหรือมีความจำเป็นที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ
6.2.2 การจัดการระหว่างเกิดภัยพิบัติและในภาวะฉุกเฉิน
1) จัดให้มีศูนย์อำนวยการการป้องกันภัยพิบัติและอุบัติภัยไว้ล่วงหน้า โดยเป็นศูนย์ที่ต้องมีการจัดเก็บข้อมูลอุบัติภัยและภัยพิบัติประเภทต่างๆ มีการจัดทำแผนป้องกันและแผนปฏิบัติการฉุกเฉินไว้ล่วงหนจัดฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอ และสามารถปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ข้อมูล แผนปฎิบัติการ และสถานการณ์จำลองที่จัดเตรียมไว้
2) รัฐต้องจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกระดับ คือ จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน โดยทุกระดับมีการประสานงานซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็นในการ ช่วยชีวิตให้ปลอดภัย
3) รัฐต้องกำหนดให้มีผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการในภาวะฉุกเฉินในพื้นที่เมื่อได้รับการแจ้งเตือนภัย หรือได้รับทราบข้อมูลการเกิดภัยพิบัติ
4) หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องพร้อมที่จะอพยพ
ประชาชน เมื่อเกิดภาวะเสี่ยงภัยได้โดยด่วน และประสานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการอพยพ เช่น ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย ซึ่งผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง โดยต้องมีการเตรียมเส้นทางอพยพที่เหมาะสม เช่น การจัดสถานที่รองรับผู้อพยพ จัดให้มีป้ายแสดงเส้นทาง เป็นต้น
5) ณ จุดอพยพควรจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมแก่การยังชีพของผู้ประสบภัยและผู้อพยพให้เพียงพอกับจำนวนประชาชนและระยะเวลาที่พักอาศัยหลบภัย
6) รัฐต้องจัดตั้งศูนย์ประสานงานชันสูตรศพ เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติและอุบัติภัยต่างๆ
7) รัฐต้องจัดตั้งศูนย์อำนวยการการป้องกันภัยพิบัติและอุบัติภัยระดับประเทศเพื่อประสานงาน สั่งการ และดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติภัยในทุกเหตุการณ์และทุกพื้นที่โดยประสานงานผ่านศูนย์ในระดับจังหวัด
6.2.3 หลังเกิดภัยพิบัติ
1) รัฐต้องมีระบบการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ก่อให้เกิดการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
2) รัฐต้องจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูบูรณะอาคารที่อยู่อาศัยของประชาชน ซึ่งได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติตลอดจนการฟื้นฟูจิตใจของประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ
3) รัฐต้องให้การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดตั้งกองทุนจากรายได้การท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนกิจกรรมป้องกันและเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ และการช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐ
4) ในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์ (สึนามิ) ควรจัดสร้างเป็นอนุสาวรีย์และพิพิธภัณฑ์
ภัยสึนามิ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจและให้ความรู้แก่ประชาชนและภาครัฐให้มีความตื่นตัวในการป้องกันภัยอยู่เสมอ
5) รัฐต้องจัดตั้งศูนย์จัดทำข้อมูลความเสียหาย ตลอดจนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เพื่อรับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วจากหน่วยงานราชการ และเอกชนต่างๆ รวมทั้งองค์กรจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบและทันเหตุการณ์
6.3 ข้อเสนอแนะกรณียุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนน ควรมีมาตรการป้องกัน และเตรียมพร้อม โดยเป็นมาตรการเพิ่มเติมและเสริมกับมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการอยู่แล้ว ดังต่อไปนี้
6.3.1 รัฐควรจัดให้มีมาตรการด้านวิศวกรรมทางถนนที่เพียงพอ อันประกอบด้วย การตรวจสอบความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Audit) โดยผู้ตรวจสอบอิสระที่ทรงคุณวุฒิ ตั้งแต่ขั้นการออกแบบก่อสร้างถนนและปรับแนวเส้นทาง
6.3.2 รัฐควรจัดให้มีการปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงอันตรายบนถนน โดยการมีส่วนร่วมของประชาสังคม (Public Participation on Black Spot Management Program) เพื่อให้ชุมชนได้ เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดจุดเสี่ยงอันตราย
6.3.3 รัฐควรพัฒนาฐานข้อมูลอุบัติเหตุระดับชุมชนให้มีการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลเป็นระบบโครงข่าย พร้อมพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
6.3.4 รัฐควรเร่งดำเนินระบบขนส่งอัจฉริยะ เพื่อการจราจรและขนส่ง (Intelligent Transport System: ITS) ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีทันสมัย อันประกอบด้วยระบบดังต่อไปนี้
1) ระบบควบคุมและจัดการจราจร (Advanced Traffic Management Systems) เพื่อจัดการและควบคุมการจราจร โดยการตรวจวัดการติดขัดของจราจรที่เกิดขึ้นจริง (Real time) และหาวิธีการจัดการที่เหมาะสม แทนการใช้ระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรแบบทางแยกเดียวและระบบโทรทัศน์วงจรปิด (Close Circuit Television : CCTV ) โดยระบบจะกำหนดและปรับเปลี่ยนจังหวะสัญญาณไฟของแต่ละทางแยก ให้สอดคล้องกับปริมาณรถในแต่ละทางแยก ด้วยเครื่องตรวจจับที่เป็น Loop Detector หรือกล้อง
2) ระบบการให้ข้อมูลข่าวสาร (Advanced Traveler Information Systems) เพื่อให้ข้อมูลการเดินทางแก่รถยนต์ส่วนบุคคลและสาธารณะ โดยสามารถรับข้อมูลที่ใดก็ได้ ข้อมูลดังกล่าว เช่น สภาพการจราจร เหตุการณ์ผิดปกติ ข้อมูลสภาพอากาศ เส้นทางที่เหมาะสม เป็นต้น
3) ระบบการจัดการควบคุมยานยนต์ (Advanced Vehicle Control Systems) เพื่อควบคุมรถของคนขับให้ปลอดภัยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ระบบป้องกันกันชนรถ (ระบบนี้จะเตือน ขณะรถอยู่ในตำแหน่งที่จะถูกชนหรือจะไปชนหรือรถจะชะลอความเร็วได้เองโดยอัตโนมัติ)
(ยังมีต่อ)