สรุปการประชุมเตรียมการสำหรับการหารือนอกกรอบของการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ บทลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 28, 2005 15:24 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          กระทรวงการต่างประเทศ กำหนดจัดประชุมเตรียมการสำหรับการหารือนอกกรอบของการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ บทลงทุน ในวันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ 2548 เวลา 09.30-12.00 น. ณ ห้องประชุม 3 กระทรวงการต่างประเทศ  โดยมีคุณโกศล  ฉันธิกุล เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุม สรุปประเด็นหารือที่สำคัญได้ ดังนี้ 
1. การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ รอบที่ 2 : ข้อบทเรื่องการลงทุน
1) การพิจารณาร่าง Text ที่เป็นข้อเสนอของไทยและร่าง Text ที่เป็นข้อเสนอของสหรัฐฯ สามารถร่วมกันยกร่าง Provisional Consolidated Text ที่มีท่าทีไม่ห่างกันจนเกินไปจำนวน 12 ประเด็น ได้แก่ ขอบเขต คำนิยาม ความเชื่อมโยงกับข้อบทอื่น ๆ การปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำ การประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง การเวนคืนและการชดเชย การโอน ข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินการ การบริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริหาร การลงทุนและสิ่งแวดล้อม การปฏิเสธการให้ประโยชน์ และขั้นตอนพิเศษและข้อกำหนดเกี่ยวกับข้อสนเทศ
2) ประเด็นสำคัญที่มีท่าที่ต่างกันในข้อบทการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐฯ ได้แก่
-ไทยใช้แนวทางการเปิดเสรีการลงทุนแบบ Positive List และสหรัฐฯใช้แนวทางแบบ Negative List
-ไทยกำหนดให้ข้อบทการลงทุนครอบคลุมเฉพาะ FDI ในขณะที่สหรัฐฯต้องการให้ครอบคลุมรวม Portfolio investment ด้วย
-ไทยต้องการให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับ BOP safeguards/measure for financial and economic stability ซึ่งอนุญาตให้ไทยมีสิทธิดำเนินมาตรการการเงิน การคลัง การควบคุมปริวรรตเงินตรา ฯลฯ ที่จำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ โดยสหรัฐฯขอให้ไทยใช้มาตรการดังกล่าวตามแนวทางของข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯกับชิลีและสิงคโปร์
-ไทยต้องการให้ประเด็นการเปิดเสรีการค้าบริการ mode 3 (commercial presence) รวมอยู่ในบท Trade in Services และประเด็นเรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนภาคบริการอยู่ในข้อบทเรื่องการลงทุน ในขณะที่สหรัฐฯต้องการให้ประเด็นการเปิดเสรีการค้าบริการ mode 3 รวมทั้งการส่งเสริมและการคุ้มครองการลงทุนภาคบริการไว้ในข้อบทเรื่องการลงทุน
-สหรัฐฯต้องการให้รวม enterprise ในคำนิยามของการลงทุน ในขณะที่ไทยต้องการใช้ juridical person แทน enterprise และไม่รวมในคำนิยามของการลงทุน
-สหรัฐฯต้องการให้มีประเด็น MFN ใน pre-establishment และ post-establishment ในขณะที่ไทยขอให้มีใน post-establishment เท่านั้น และสหรัฐฯมีข้อสงวนที่จะไม่ให้ MFN treatment แก่ไทย สำหรับความตกลงที่สหรัฐฯมีกับประเทศอื่น ๆ ในอดีต และต้องการ MFN treatment สำหรับอนาคต ซึ่งไทยต้องให้สหรัฐฯเช่นเดียวกับที่ให้ประเทศคู่เจรจาอื่น ๆ ของไทย
-สหรัฐฯต้องการให้มีการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน ในขณะที่ไทยต้องการให้เป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐ
-ไทยต้องการให้ TUSFTA ครอบคลุมประเด็น immigration (visa และ short stay ซึ่งรวมถึง work permit) ของนักลงทุนด้วย
-สหรัฐฯ ต้องการให้ข้อบทเรื่องการลงทุนครอบคลุมหรือให้สิทธิประโยชน์กับบริษัทของสหรัฐฯ ที่เป็นคนของชาติหรือบริษัทของสหรัฐฯ ซึ่งจดทะเบียนในประเทศที่สาม ในขณะที่ไทยไม่ต้องการให้มี free-rider
2. ภาคเอกชนได้ให้ข้อคิดเห็น ดังนี้
1) หากไทยยอมรับให้รัฐวิสาหกิจรวมอยู่ในคำนิยามของการลงทุน จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อไทย สำหรับธุรกิจที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้แก่ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทมหาชน เช่น สนามบินหนองงูเห่า การบินไทย ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการบริการที่มีความจำเป็นต่อประชาชน
2) ไทยยังไม่มีความพร้อมในการเปิดเสรีการค้าบริการในสาขาการเงิน
3) หากไทยยอมรับประเด็นการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน ผู้ประกอบการสหรัฐฯจะสามารถฟ้องร้องรัฐบาลไทยได้ หากไทยออกกฎหมายหรือมาตรการบางอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการในประเทศ ทั้งนี้ สหรัฐฯจะฟ้องร้องค่าเสียหายซึ่งรวมค่าดอกเบี้ย ในขณะที่ไทยฟ้องร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเท่านั้น
4) อนุญาโตตุลาการไทย สามารถยอมรับประเด็นการฟ้องร้องรัฐบาลไทยของผู้ประกอบการสหรัฐฯ ในค่าเสียหายทั่วไป โดยไม่สามารถยอมรับประเด็นการฟ้องร้องในเรื่องที่มีความสำคัญหรือสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชน เช่น รถประจำทาง ถนนทางด่วน
5) ไทยต้องการให้ผู้ประกอบการต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนธุรกิจในประเทศไทย จึงกำหนดให้การคุ้มครองการลงทุนและสิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่างชาติมากกว่าผู้ประกอบการไทยในบางเรื่อง
6) กฎหมายไทย กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นต่างชาติสำหรับอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในอัตราไม่เกินร้อยละ 60 เพื่อป้องกันการเข้ามาลงทุนธุรกิจของผู้ประกอบการจีนซึ่งมีศักยภาพมากกว่าไทย
7) สหรัฐฯ เสนอการเก็บภาษีใน Digital product เช่น หนัง เพลง โดยคำนวณจากมูลค่าของ Content
ที่มา: หอการค้าไทย ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ