ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2547 และ 2548 (ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2548)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 25, 2005 15:20 —กระทรวงการคลัง

          สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มั่นใจเศรษฐกิจไทยปี 2548 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.0 การจ้างงานเพิ่มขึ้น 743,000 ตำแหน่ง  ส่วนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่มั่นคง
นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึง ผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2548 ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 6.0 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับการขยายตัวปี 2547 ที่ร้อยละ 6.3 ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ การลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนขยายตัวถึงร้อยละ 24.0 และ 16.3 ต่อปี ตามลำดับ โดยเฉพาะภาครัฐมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Projects) มีเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 340,000 ล้านบาท ในปี 2548 การตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี 50,000 ล้านบาท อีกทั้ง การส่งออกสินค้าและบริการที่แท้จริงและการบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริงยังขยายตัวได้ดี ส่วนปัจจัยเสี่ยงในปีนี้ประกอบด้วย 1) ปัจจัยภายนอกประเทศที่ไม่สามารถควบคุมได้ ได้แก่ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ 11 ประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มชะลอลงจากปี 2547 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ในส่วนนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการติดตามและประเมินสถานการณ์ร่วมกันอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา และ 2) ปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปัญหาภัยแล้ง และ ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในเบื้องต้นประเมินว่ามีผลกระทบทางลบ
ด้านการค้าระหว่างประเทศ มูลค่าส่งออกสินค้าอยู่ที่ 107.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 11.8 ต่อปี สินค้าที่มีการส่งออกเป็นมูลค่าสูง ส่วนมูลค่านำเข้าสินค้าอยู่ที่ 109.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 15.6 ต่อปี สินค้าที่มีการนำเข้าเป็นมูลค่าสูง ได้แก่ สินค้าทุน วัตถุดิบ และน้ำมัน ส่งผลให้ขาดดุลการค้าประมาณ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นแนวโน้มปกติของประเทศกำลังพัฒนาที่มีการนำเข้าสินค้าทุนและน้ำมันเพื่อรองรับ การขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต
ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งภายนอกและภายในยังอยู่ในระดับมั่นคงดี แม้ว่าดุลการค้าจะขาดดุล 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังเกินดุล 3.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น ร้อยละ 1.6 ของ GDP เพราะดุลบริการยังคงเกินดุลเป็นมูลค่าสูงอย่างต่อเนื่อง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ต่อปี ปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นในปี 2548 ได้แก่ 1) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง 2) การปรับเพิ่มราคาน้ำมันดีเซลขายปลีก ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 และ คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มราคาก๊าซหุงต้มในไตรมาสที่ 2 ปี 2548 และ 3) การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ (ตามตารางแนบ ที่ 1)
อนึ่ง เศรษฐกิจไทยในปี 2548 ยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าร้อยละ 6 ต่อปี ซึ่งประกอบด้วย อินโดนีเซีย จีน สิงค์โปร์ และไทย (ตามตารางแนบที่ 2) อีกทั้ง ผลการประมาณการดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับการประมาณการของหน่วยงานเศรษฐกิจหลักอื่นๆ (ตามตารางแนบที่ 3) และอยู่บนพื้นฐานของนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนแล้วในปัจจุบัน โดยในอนาคต หากรัฐบาลมีนโยบายอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นอีกได้
นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวเสริมว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2547 นั้น คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 6.3 ต่อปี ทั้งนี้ ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในปี 2547 ได้แก่ การส่งออกสินค้าและบริการที่แท้จริง ซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.8 ต่อปี ด้านการค้าระหว่างประเทศ คาดว่า มูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ที่ 96.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 23.0 ต่อปี ส่วนมูลค่านำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ที่ 94.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 27.0 ต่อปี ส่งผลให้เกินดุลการค้าประมาณ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งภายนอกและภายในยังอยู่ในเกณฑ์ที่มั่นคง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 3.8 ของ GDP ทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นปี 2547 คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 49.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 5.4 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และ 6.3 เดือนของมูลค่าการนำเข้าเฉลี่ยต่อเดือน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี ปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่นำเข้าที่อยู่ในระดับสูงและการที่รัฐบาลยกเลิกการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2547

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ