สถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับประเทศอิหร่านปี 2548

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 4, 2005 16:56 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศอิหร่านมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นมาก โดยในปี 2547 การค้าระหว่างสองประเทศมีมูลค่า 492.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการขยายตัวในอัตราร้อยละ  33.83 ทั้งนี้ เป็นการส่งออกของไทยมายังประเทศอิหร่านเป็นมูลค่า 452.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการขยายตัวร้อยละ 52.44  ในขณะที่ไทยนำเข้าจากอิหร่านเพียง 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น หรืออัตราลดลงร้อยละ43.98 จากปี 2546
การส่งออกไทยนับได้ว่าเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้นั้น เป็นอัตราการลดลงมา โดยเป็นการขยายตัวจากปี 2545 ในอัตราร้อยละ 33.84 ในปี 2546 อัตราการขยายตัว 67.55 และในปี 2547 อัตราการขยายตัว 52.54
การขยายตัวการส่งออกมาประเทศอิหร่านมีปัจจัยหลายด้านที่เอื้อให้การส่งออกสินค้าไทยได้มากขึ้นได้แก่ การเปิดการค้าในด้านพิธีการศุลกากรและกฎระเบียบและขั้นตอนการนำเข้าสินค้าได้ง่ายและสะดวกขึ้น ซึ่งในปัจจัยดังกล่าว ในอดีต ประเทศอิหร่านมีข้อจำกัดมากมายและการมีข้อห้ามการนำเข้าในหลายรายการสินค้า ตลอดจนการควบคุมสินค้าบางประเภทที่ภาครัฐฯ เป็นผู้นำเข้าได้แต่ผู้เดียว ทำให้การขยายการค้าทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันได้มีการแก้ไขในระเบียบข้อบังคับของประเทศไปมากแล้ว แต่ยังติดปัญหาอีกมากมายทั้งในปัญหาของโครงสร้างพื้นฐาน การโดนกีดกันทางการค้าจากประเทศสหรัฐฯ ทั้งประเทศอิหร่านยังอัตราภาษีและอากรนำเข้ายังอยู่ในอัตราสูง ซึ่งทำให้การขยายตัวด้านการค้ายังมีปัญหาอยู่อีกมาก
การพัฒนาการด้านเศรษฐกิจของประเทศ มีส่วนอย่างมากในการขยายตัวด้านการค้า โดยแต่เดิมสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเป็นสินค้าที่จำหน่ายในราคาไม่แพงแต่คุณภาพของสินค้าก็จะต่ำตามไปด้วย เนื่องจาก ตลอดระยะเวลากว่า 27 ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตอิหร่านได้รับการปกป้องจากคู่แข่งจากต่างประเทศ ทำให้ขาดความกระตือรือร้นในการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพดีขึ้น แต่อย่างไรก็ยังต้องแข่งขันกันสินค้าจากประเทศจีน ซึ่งมีคุณภาพต่ำด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ในระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา ฐานผู้บริโภคที่มีรายได้สูงมีมากขึ้นในประเทศ โดยเฉลี่ยถือได้ว่ามีอัตราส่วนถึงร้อยละ 20 ของประชากรประมาณ 63.8 ล้านคนของประเทศ ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้เริ่มหน่ายเบื่อกับสินค้าที่ด้อยคุณภาพ และหันมาหาสินค้าจากต่างประเทศที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น แม้ว่าอาจมองมาหาสินค้าที่มีคุณภาพสูงจากสหภาพยุโรปก็ตาม แต่ราคาก็สูงเกินกว่าที่ผู้บริโภคจะหยิบยื่นใช้ได้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นโอกาสของสินค้าไทยโดยแท้
นักธุรกิจอิหร่านเริ่มจะคุ้นเคยกับสินค้าไทยมากขึ้นในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากการที่นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจอิหร่านเริ่มหันความสนใจที่จะเดินทางมาเที่ยวและซื้อสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้น ทั้งในปริมาณของผู้เดินทางและการเข้าออกสู่ประเทศไทยมากขึ้น ทำให้คนอิหร่านคุ้นเคยกับสินค้าไทย และทำให้มีการนำเข้าสินค้าไทยมากยิ่งขึ้น โดยแต่เดิมคนอิหร่านนิยมเดินทางไปประเทศมาเลเซียซึ่งถือเป็นคู่แข่งกับไทย แต่เนื่องจากสินค้าของมาเลเซียไม่มีความหลากหลายทำให้นักธุรกิจหันมาหาประเทศไทย โดยสินค้าที่ผลิตจากประเทศไทย และลงประทับว่า “Made in Thailand” ถือเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ และได้รับความเชื่อถือและยอมรับจากผู้บริโภคอิหร่าน ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นทำให้มีการนำเข้าสินค้าไทยมากยิ่งขึ้น
สินค้าที่ไทยส่งออกหลัก ได้แก่ ข้าวขาว เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วน ประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ยางพารา หลอดภาพโทรทัศน์สี ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เส้นใยประดิษฐ์ เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ กระดาษและผลิตภัณฑ์ระดาษ น้ำมันสำเร็จรูป ผ้าผืน เม็ดพลาสติก แก้วกระจก ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ความร้อน เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น
สินค้าเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเห็นได้ว่าเป็นสินค้าที่มีลักษณะวัตถุดิบหรือกึ่งวัตถุดับของภาคอุตสาหกรรมของอิหร่าน ซึ่งเป็นสาเหตุมาจากการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปที่สูงมาก แต่จะตั้งอัตราภาษีนำเข้าต่ำหากเป็นสินค้าที่ใช้ป้อนโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าเหล่านี้มามาก นอกจากนี้แล้ว สินค้าข้าว ซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีอัตราส่วนการส่งออกของไทยถึง 1 ใน 4 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยมาประเทศอิหร่านนั้น เป็นการนำเข้าผ่านของภาครัฐฯ เป็นหลัก เพราะข้าวถือเป็นสินค้าควบคุม โดยหน่วยงานหลักที่นำเข้าข้าวจากต่างประเทศ คือหน่วยงาน Government Trading Corporation หรือ GTC ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงพาณิชย์อิหร่าน โดยแต่ละปี อิหร่านสามารถผลิตข้าวได้ประมาณ 3.3 ล้านตัน แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ โดยจะต้องนำเข้าอีกประมาณปีละ 700,000 ตัน
ทั้งนี้ หน่วยงานจะเป็นผู้นำเข้าข้าวจากไทยในปริมาณหลัก ถึง 400,000 ตันต่อปี โดยในปี 2547 อิหร่านนำเข้าจากไทยมูลค่า 140.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เป็นการนำ เข้าข้าวในลักษณะข้าวขาว 100% เกรดสอง ซึ่งเป็นการนำเข้ามาจำหน่ายเป็นข้าวสวัสดิ —การสำหรับผู้มีรายได้น้อยของประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลอิหร่าน ไม่มีนโยบายการนำเข้าข้าวหอมมาในประเทศ เพราะไม่ต้องการมาแข่งขันกับข้าวหอมของประเทศอิหร่านเอง
อย่างไรก็ตาม สินค้าไทยอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมมากนั้น ได้รับการเอื้อประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอิหร่าน ตลอดจนอัตราการขึ้นราคาน้ำมันของโลก ซึ่งทำให้ภาครัฐฯ ของประเทศอิหร่านมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันสูงขึ้น ทั้ง นี้การส่งออกสินค้าน้ำมันเป็นอัตราส่วนถึงร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ ซึ่งทำให้รัฐบาลประเทศอิหร่านมีงบประมาณมากขึ้น และได้พิจารณาที่จะใช้ประโยชน์ในการใช้งบ ประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอิหร่านมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ได้หยุดมาตลอดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ
นอกจากนี้ สินค้าที่นับได้ว่ามีศักยภาพของไทยในประเทศอิหร่าน ได้แก่ อะไหล่ชิ้นส่วน และส่วนประกอบรถยนต์และจักรยาน ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง อาหารแปรรูปและอาหารกระป๋อง ได้แก่ผักผลไม้กระป๋อง ของใช้ภายในบ้าน ผลิตภัณฑ์ทำจากไม้ โดยเฉพาะสินค้าโอเทป ได้เริ่มได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอิหร่านอย่างมาก และนับได้เป็นโอกาสในการขยายตัวไปสู่ประเทศอิหร่านมากยิ่งขึ้น
ในปี 2548 นี้ กรมส่งเสริมการส่งออกได้จัดกิจกรรมต่างๆ ที่นักธุรกิจอิหร่านได้เข้ามาเจรจาการค้ากับผู้ส่งออกไทย ซึ่งได้แก่ การจัดคณะผู้แทนการค้าอิหร่านมาเยือนงานที่กรมส่งเสริมการส่งออกได้จัดอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ Bangkok Gems & Jewelry Fair งานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ Thailand International Furniture Fair งานแสดงสินค้าของขวัญของชำร่วยและงานโอทอป Bangkok International Gift Fair & Bangkok International Houseware Fair & OTOP to the World งานแสดงสินค้า Thailand Logistics Fair งานแสดงสินค้าอาหาร Thailand Food Exhibition — World of Food Asia งานแสดงสินค้า Bangkok RHVAC & Thailand Electrical & Electronics& Thailand Auto Parts and Accessories งานแสดงสินค้า Bangkok International Fashion Fair & Bangkok International Leather Fair และงานแสดงสินค้า Made in Thailand
นอกจากนี้แล้ว กรมฯ ยังเข้าร่วมแสดงสินค้า Iran AgroFood Fair ซึ่งจัด ณ ศูนย์แสดงสินค้าถาวร กรุงเตหะราน ในระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม — 1 มิถุนายน 2548 ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าอาหาร อาหารแปรรูป เครื่องจักรและอุปกรณ์ด้านอาหาร โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้ากว่า 15 ประเทศ รวมทั้งผู้ผลิตผู้ส่งออกของประเทศอิหร่านเอง
ในปี 2548 คาดการณ์ว่า การส่งออกมายังประเทศอิหร่านยังคงสดใส และประมาณการการส่งออกจากการขยายตัวอย่างต่ำในอัตราร้อยละ 40 ซึ่งนับได้ว่าเป็นประเทศในตลาดใหม่ของไทย ที่มีศักยภาพในการรองรับสินค้าไทยได้อีกมาก
สำหรับการนำเข้าสินค้าอิหร่าน แม้ว่าในปัจจุบันมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอิหร่านมาน้อย แต่ในอนาคต คาดว่าประเทศไทยจะนำเข้าสินค้าจากประเทศอิหร่านมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มวัตถุดิบ คือน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติ โดยบริษัท ปตทสผ. ได้เข้ามาเจรจาเพื่อขอขุดเจาะสำรวจและการวางแผนการนำแก๊สจากอิหร่านมาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามได้ในปี 2548 นี้ นอกจากนี้ บริษัทขนาดใหญ่ ในเครือบริษัทปูนซีเมนต์ ได้ลงนามทำสัญญากับหน่วยงานภาครัฐฯ ของอิหร่านในการก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีในประเทศอิหร่าน ณ เมืองอาซาลูเย ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของประเทศอิหร่าน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี 2548 เช่นกัน และมีความร่วมมือทางการค้าอื่นๆ เช่น ความร่วมมือด้านการผลิตรถกระบะในประเทศอิหร่าน และการร่วมลงทุนการผลิตรองเท้ากีฬาระหว่างภาคเอกชนไทยกับอิหร่าน ซึ่งล้วนแต่จะมีผลต่อการค้าของทั้งสองในอนาคตอันใกล้นี้
สำหรับเรื่องปัจจัยอื่นที่น่าสนใจ จะพบว่าอิหร่านนั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ของเอเชียกลาง โดยติดกับประเทศอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มประเทศรัฐอิสระหรือประเทศที่แยกมาจากสหภาพโซเวียตเดิม ได้แก่ ประเทศอาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจัน และเติร์กเมนิสถาน อุเบกิสถาน คาซักสถาน โดยมีทะเลแคสเปี่ยนคั่นระหว่างอาเซอร์ไบจานและเติร์กเมนิสถาน และทางทิศตะวันออกติดปากีสถานและอัฟกานิสถาน ทางใต้ติดอ่าวโอมานและอ่าวเปอร์เซีย ทางทิศตะวันตกติดกับอิรักและตุรกี ซึ่งทำให้อิหร่านเป็นฐานการกระจายสินค้าไปสู่ประเทศเหล่านี้ได้ง่าย อาทิ ประเทศทางเหนือซึ่งไม่ติดกับทะเลเปิด สามารถใช้อิหร่านเป็นฐานในการสำเลียงสินค้าไปสู่ประเทศเหล่านี้ได้ โดยมีการค้าชายแดนเป็นมูลค่าสูง ซึ่งประเทศเหล่านี้ต้องใช้อิหร่านเป็นหลัก จากความพร้อมของท่าเรือที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ ท่าเรือเมืองอาบาดาน และคอร์รัมชารร์ ท่าเรือบัดดาอับบาส และท่าเรือชาบาฮาร์
นอกจากนี้แล้ว ยังมีประเทศอิรัก ซึ่งนับได้ว่า เป็นประเทศที่ยังคงมีความรุนแรงจากสงคราม และไม่มีความปลอดภัย และเกินกว่าที่นักธุรกิจไทยจะเข้าไปค้าขาย ซึ่งสามารถใช้อิหร่านเป็นฐานเพื่อเชื่อมไปสู่อิรักได้โดยง่าย
และกรณีของปัญหาของการกีดกันทางการค้าจากประเทศสหรัฐฯ ทำให้ธุรกิจของสหรัฐฯ เข้าไปมาส่วนน้อยมากในประเทศอิหร่าน ซึ่งจะให้เอื้อประโยชน์ต่อการค้ากับประเทศอื่นได้ง่าย ทั้งในแง่การเมือง ประเทศอิหร่านต้องการสร้างความสัมพันธ์กับมิตรประเทศ และมีความสัมพันธ์ทางการเมืองและการทูตที่ดีกับไทยมาโดยตลอด ซึ่งทำให้เกิดโอกาสในการค้าขายได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ประเทศอิหร่านเองได้พยายามมากว่า 10 ปีที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การค้าโลก Word Trade Organization หรือ WTO แต่จนแล้วจนรอดก็ได้รับการปฏิเสธ จากการผลักดันของประเทสมาชิกคือประเทศสหรัฐฯ แต่ล่าสุด เมื่อต้นปี 2548 รัฐบาลประเทศสหรัฐฯ ได้แสดงท่าทีที่จะยอมผ่อนปรนการปฏิเสธการสมัครสมาชิกภาพแล้ว ซึ่งจะทำให้ประเทศอิหร่านเป็นสมาชิกขององค์การค้าโลกโดยเร็ววันนี้ ซึ่งจะทำให้ประเทศอิหร่านจำเป็นต้องเปิดประเทศเพื่อให้มีการแข่งขันเสรีมากยิ่งขึ้น และการลดอัตราภาษีนำเข้า ให้เป็นไปตามมาตรการขององค์การค้าโลก อันจะทำให้โอกาสของการเข้ามาช่วงชิงตลาดยากยิ่ง ขึ้นในอนาคต จึงไม่มีโอกาสช่วงไหนที่ดีที่สุดเท่าช่วงนี้ ที่นักธุรกิจและผู้ส่งออกของไทยจะได้มีโอกาสอย่างมากที่จะขยายการค้ามาสู่อิหร่าน
ที่มา: http://www.depthai.go.th
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ