การประชุม STEER ครั้งที่ 2 22-23 พฤศจิกายน 2548

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 1, 2005 13:16 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมภายใต้กรอบความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความ สัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสิงคโปร์ (Singapore - Thailand Enhanced Economic Relationship: STEER) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2548 ณ โรงแรม แกรนด์ ไฮแอทเอราวัณ กรุงเทพ ซึ่งหัวหน้าคณะฝ่ายไทย ได้แก่ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และหัวหน้าคณะฝ่ายสิงคโปร์ ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม Mr. Lim Hng Kiang ทั้งนี้ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2548 เป็นการหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสภาครัฐของทั้งสองฝ่าย พร้อมกับมีการจับคู่และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ (Business Matching and Networking) ระหว่างภาคเอกชนไทยและสิงคโปร์ในสาขาสำคัญ 
ในการหารือครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นสืบเนื่องจากการประชุม STEER ครั้งที่ 1 และประเด็นริเริ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะที่เป็นโครงการในลักษณะ 2+x Mechanism ซึ่งจะช่วยเร่งรัดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยที่ประชุมสามารถบรรลุผลประชุมที่สำคัญ ดังนี้
ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามบันทึกสรุปผลการหารือและตกลงว่าจะมีแผนงานยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Strategic Roadmap for Enhanced Economic Partnership) ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในสาขาต่างๆ เพื่อเป็นพื้นฐานการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันในอนาคต ได้แก่
สาขาสินค้าเกษตรและอาหาร จะกระชับความร่วมมือที่มีอยู่เดิมและขยายความร่วมมือเพิ่มขึ้นในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาความร่วมมือด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) โดยไทยได้เสนอ Concept ในเรื่อง Compartmentalization เพื่อควบคุมโรคระบาดในสัตว์ที่แพร่ระบาดในประเทศไทย เช่น โรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยในหมู และโรคไข้หวัดนก โดยควบคุมตั้งแต่การผลิตระดับฟาร์มไปจนถึงการแปรรูปเพื่อการส่งออกของผู้ผลิตและผู้ส่งออกแต่ละรายและพัฒนาให้ไทยเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และแหล่งอาหารปลอดภัย (Food Safety) ของสิงคโปร์ ตลอดจนพัฒนาความร่วมมือด้านวิจัยและห้องทดลอง และขยายการร่วมทุน (Joint Venture) ในสาขาสินค้าเกษตรและอาหารที่มีศักยภาพไปยังตลาดประเทศที่สามด้วย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงจะศึกษาความร่วมมือในการพัฒนาเชื้อเพลิง Bio Fuel โดยใช้จุดแข็งของไทยและสิงคโปร์ที่มีทรัพยากรธรรมชาติและเทคโนโลยีที่สามารถใช้ทำเชื้อเพลิงได้จำนวนมาก เช่น มันสำปะหลัง และอ้อย
การท่องเที่ยว จะกระชับความร่วมมือที่มีอยู่เดิมและส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันในรูปแบบ Two Countries, One Destination และศึกษาความเป็นไปได้ของ Single Visa เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางให้แก่นักท่องเที่ยวจากประเทศที่สามที่ต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวทั้งในไทยและสิงคโปร์สามารถยื่นขอวีซ่าได้ ณ สถานทูตไทยหรือสิงคโปร์ในต่างประเทศที่ใดที่หนึ่งได้ ซึ่งจากการเพิ่มความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวนั้น คาดว่าจะช่วยผลักดันให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวหลักที่เดินทางมาท่องเที่ยวในตลาดไทยและสิงคโปร์ เช่น จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย เพิ่มสูงขึ้น
ความร่วมมือด้านวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม จะสนับสนุนการดำเนินงานตามตาม MOU ที่ได้ลงนามไปแล้วเมื่อปี 2546 และจะร่วมกันสร้างหุ้นส่วนทางธุรกิจเพื่อก้าวไปสู่การทำการค้าในระดับสากลในสาขาสำคัญ ได้แก่ อาหารและภัตตาคาร สปาและผลิตภัณฑ์สปา การซ่อมบำรุงและรักษายานยนต์ ธุรกิจเสริมสวยและสุขภาพ น้ำมันและก๊าซ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีแผนงานที่จะสร้างความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ระหว่างกัน และการส่งเสริมการค้าและการลงทุนไปยังประเทศที่สาม
โลจิสติกส์และการขนส่ง เป็นสาขาที่มีแผนงานความร่วมมือและลงนาม MOU ทั้งในส่วนของภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษามากที่สุด โดยในส่วนของภาครัฐจะมีการกระชับความร่วมมือเพิ่มขึ้นในด้านโลจิสติกส์ การขนส่งทางอากาศ และการขนส่งทางน้ำ และทั้งสองฝ่ายตกลงจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการร่วมทุนและพัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์และโซ่อุปทานระหว่างธุรกิจไทยกับสิงคโปร์ เช่น ศูนย์กระจายสินค้า การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเรือเดินสมุทรในเส้นทางไทยกับสิงคโปร์ ส่งเสริมให้มีการร่วมทุนให้บริการโลจิสติกส์ในต่างประเทศที่ไทยและสิงคโปร์มีความสนใจ เช่น จีน เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา เป็นต้น และจัดงานสัมมนาเพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้ธุรกิจโลจิสติกส์ของทั้งสองประเทศพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนของภาคเอกชนยังมีการพัฒนาความร่วมมือด้านโซ่อุปทาน (Supply Chain) ระหว่างกันสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยกับ IE Singapore และมีสถาบันการศึกษาของไทย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยบูรพาที่ทำ MOU จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนคณาจารย์และนิสิตในด้านนี้ อีกทั้งร่วมทำวิจัยและกิจกรรมทางวิชาการด้านโลจิสติกส์และการขนส่งร่วมกันกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในสิงคโปร์ ได้แก่ National University of Singapore และ Nanyang Technological University
การศึกษา มีแผนงานเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิตนักศึกษาของทั้งสองประเทศ สนับสนุนการร่วมทุนทำธุรกิจให้บริการฝึกอบรมทางเทคนิค บริการทางธุรกิจและที่ปรึกษา โดยเฉพาะการร่วมทุนระหว่างคนไทยกับสิงคโปร์เปิดสถาบันสอนโพลีเทคนิคด้านอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานของบุคลากรเพื่อป้อนสู่เครือข่ายวิสาหกิจที่สำคัญ (Key Clusters) ของประเทศ รวมถึงจะอำนวยความสะดวกให้นักศึกษาของแต่ละประเทศเข้าร่วมค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างกัน อีกทั้งสนับสนุนให้ธุรกิจของทั้งสองประเทศเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา และพนักงานของแต่ละประเทศไปฝึกปฏิบัติงานในอีกประเทศหนึ่งได้ ซึ่งแผนงานข้างต้นจะช่วยยกระดับทักษะและประสบการณ์ของคนไทยก้าวสู่ระดับสากลมากขึ้น และสามารถขับเคลื่อนทรัพยากรมนุษย์ให้ก้าวทันนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในยุคโลกาภิวัฒน์มากขึ้น
ตลาดทุน ในส่วนที่เกี่ยวกับตลาดทุนมี 3 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ (1) ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนแผนงานของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (กลต.) และ Monetary Authority of Singapore ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรฐานเพื่อรับรองคุณสมบัติผู้ประกอบวิชาชีพด้านการเงิน รวมถึงการจัดจำหน่ายกองทุนรวมประเภทกองทุนภาครัฐร่วมกัน (2)สนับสนุนการดำเนินการตาม MOU ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ลงนามร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ของสิงคโปร์ (SGX) ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อร่วมมือในการซื้อขายอนุพันธ์ระหว่างกัน โดยใช้ตลาดหลักทรัพย์แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นจุดรับคำสั่งซื้อขาย ทั้งนี้ ระยะแรกจะเริ่มศึกษาจากการซื้อขายอนุพันธ์ใน SET 50 Index Futures ที่จะเปิดซื้อขายอนุพันธ์เป็นครั้งแรกในปี 2549 นี้ และ (3) สนับสนุนการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กับ Temasek Holding ของสิงคโปร์ร่วมทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในลักษณะที่เป็นเครือข่ายวิสาหกิจ (Cluster)
เครือข่ายวิสาหกิจพิเศษ (Special Development Cluster) ไทยกับสิงคโปร์จะอำนวยความสะดวกให้มีการร่วมทุนระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในบางพื้นที่ที่เป็นเขตพิเศษ (Special Zones) หรือ Development Cluster ที่มีการจัดตั้งวิสาหกิจที่มีลักษณะเกื้อหนุนกันและสอดคล้องกับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น เครือข่ายวิสาหกิจด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D Cluster) ซึ่งผู้ที่เริ่มนำร่องลงทุนในโครงการดังกล่าวจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลด้วย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายรับทราบความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทยกับสิงคโปร์ โดยกลุ่มบริษัทอมตะได้ลงนาม MOU กับSingapore Ascendas เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์(Science Park) ในเขตพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกด้วย
Bilateral Investment Guarantee (Bilateral IGA)
ในการประชุมครั้งนี้ ไทยและสิงคโปร์ยังได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนของทั้งสองประเทศ รวมทั้งนักลงทุนจากภายนอกที่จะเข้ามาลงทุนในไทยและสิงคโปร์
การยอมรับ Mutual Recognition Arrangement (MRA) อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ที่ประชุมรับทราบความร่วมมือของไทยกับสิงคโปร์ในการทำ MRA อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดอุปสรรคและระยะเวลาในการยอมรับใบรับรองมาตรฐานของแต่ละฝ่าย
ความตกลงการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Double Taxation Avoidance Agreement)
ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอของกระทรวงการคลังสิงคโปร์ที่ขอให้กระทรวงการคลังของไทยพิจารณาปรับปรุงความตกลงการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนของไทยที่มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2518 และขอให้พิจารณาสรุปผลการหารือเพื่อปรับปรุงให้ได้ในโอกาสแรก
การหารือของภาคเอกชน
สำหรับการหารือของภาคเอกชนได้มีการจับคู่ทางธุรกิจในสาขาสำคัญ ๆ และได้มีการลงนาม MOUs ในสาขาสำคัญต่างๆ 10 ฉบับ อาทิ สาขาตลาดทุน โลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ และการจัดจำหน่าย
ทั้งนี้ในปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 4 ของไทยในตลาดโลก และยังเป็นผู้ลงทุนสำคัญอันดับที่ 2 ในไทยโดยเป็นรองแค่เพียงการลงทุนจากญี่ปุ่น การประชุม STEER จึงเป็นเวทีสำคัญที่จะผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันที่จะกำหนดเป้าหมายตัวเลขการค้าและการลงทุนในปี 2553 เพิ่มจากเดิมเป็นสองเท่าจากปัจจุบัน และในการประชุมครั้งนี้ มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนของทั้งสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นร่วมกันในการบรรลุเป้าหมายการลงทุนระหว่างสองฝ่ายในปี 2553 ที่ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่าการลงทุนในปัจจุบันที่ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ จากที่ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ จีน ซึ่งทั้งสองประเทศตกลงกำหนดเป้าหมายร่วมกันที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจีนจำนวน 1 ล้านคน มาท่องเที่ยวในไทย สิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนได้ภายใน 3 ปี
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ