ตัวเก็งประธาน สป.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 27, 2005 14:19 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

อดีตรมช.คลังเก็งประธาน:
ผลการคัดเลือกสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชุดใหม่เสร็จเรียบร้อย โวยแหลกบล็อกโหวตกันอื้อซ่า พิสิฐ ลี้อาธรรม เต็งประธาน
เมื่อวานนี้ ได้มีการประชุมสัมมนาคัดเลือกกันเองของบุคคลเพื่อเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) โดยที่ประชุมใช้เวลายาวนานถึง 12 ชั่วโมง กว่าจะได้รายชื่อสมาชิกครบทั้งหมด 99 คน จากผู้สมัครทั้งหมด 15 กลุ่ม โดยกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้คะแนนมากที่สุด คือนายชวลิต อาคมธน อันดับ 2 คือ นายพจน์ สะเพียรไชย และ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งคาดว่านายพิสิฐจะได้รับการเสนอชื่อเป็นประธาน สป. จากที่ก่อนหน้านี้ นายอาชว์ เตาลานนท์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นตัวเก็งประธาน แต่ล่าสุด นายอาชว์ได้ถอนตัวออกจากกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้ สำหรับตัวแทนองค์กรภาคเอกชน ที่ลงสมัครและไม่ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ นางรสนา โตสิกตระกูล นายวีระ สมความคิด น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป นายวรินทร์ เทียมจรัส ส่วนผู้ที่ได้รับการเลือกกลุ่มนี้ได้แก่กลุ่มการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น น.พ. ประวิทย์ ลี่สภาพรวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุทัยพระนครศรีอยุธยา ด้านสาธารณสุข ได้แก่ น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา รอง ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และนางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล ผู้จัดการโครงการองค์กรพัฒนาเอกชน
สำหรับกลุ่มพัฒนาเด็ก สตรี เยาวชนและผู้สูงอายุ ผู้ที่ได้รับเลือก ได้แก่ นายโคทม อารียา นายพิภพ ธงไชย กลุ่มแรงงาน ได้แก่ นายพนัส ไทยล้วน ประเทือง แสงสังข์ กลุ่มอุตสาหกรรม ได้มีการล็อบบี้กันจนในที่สุดเหลือตัวแทนจากชุดเก่าไม่กี่คน เช่น กุลวัชร หงษ์คู นายอโณทัย ฤทธิปัญ-ญาวงค์ นายสุชิน ทาศิวมาศ นายปรีชา ส่งวัฒนา ซึ่งบรรยากาศในการคัดเลือกของกลุ่มนี้ในช่วงแรกมีผู้เข้าร่วมโหวตเรียกร้องให้ผู้ที่จดคะแนนต้องมีการค้นตัวก่อนและให้ติดปากกาเข้าห้อง ประชุมเพียงด้ามเดียว แต่ในส่วนกลุ่มเกษตรมีบัตรเสียจำนวนมาก และห้องที่มีการคัดเลือกช้าสุด เพราะมีคะแนนเท่ากัน ทำให้ต้องโหวตใหม่ คือกลุ่มการผลิตด้านการเกษตร ซึ่งมีผู้คะแนนเท่ากันถึง 12 รายจากที่ต้องคัดเลือกเหลือเพียง 5 ราย
นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้ที่สมัคร กล่าวต่อที่ประชุมก่อนการเลือกตั้งจะเริ่ม ว่าทางสำนักงาน สป. ไม่ต้องมาอ้างว่าได้เชิญตัวแทนจาก กกต. มาดำเนินการเลือกตั้งหรือให้องค์กรกลางมาสังเกตการณ์ เพราะรู้กันอยู่ว่าการที่คณะกรรมการสรรหาไม่ได้กำหนดวิธีการคัดเลือกที่รัดกุมพอ จึงทำให้มีการบล็อกโหวตเกิดขึ้น จึงขอเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนทุกคนได้ตระหนักว่า ใครก็ตามที่ได้ ตกลงกับคนอื่นว่าจะลงคะแนนเพื่อแลกเปลี่ยนกันให้รู้ตัวว่ากำลังตกอยู่ในกับดักของการบล็อกโหวต และขอให้คณะกรรมการสรรหาในชุดต่อไปได้ใช้วิธีการคัดเลือกในหลายๆ รอบ โดยรอบแรกผู้ที่ได้รับการสรรหาควรได้รับคะแนนเกินกึ่งหนึ่ง
นายธีรภัทร์ ยังขอให้มีกรรมการที่มีคุณสมบัติให้เหมาะสมไม่เช่นนั้นกรรมการ สป.ชุดใหม่ก็ไม่ต่างกับที่จะตกอยู่ในองค์กรตรายาง ไม่ได้ก่อประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้บรรดาผู้ที่เข้าประชุมปรบมือให้กึกก้อง ขณะที่เจ้าหน้าที่ สป.จึงได้ปิดไมค์การถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 จากนั้นทางสถานีจึงได้ยุติการถ่ายทอดทันที
นายวรินทร์ เทียมจรัส เลขานุการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตยหรือพีเน็ต กล่าวว่า การคัดเลือกสมาชิก สป.ครั้งนี้มีการเตรียมการล่วงหน้ามาก่อนแล้ว คะแนนที่ออกมาเป็นไปตามที่ คาดหมายไว้ คือมีลักษณะเป็นกลุ่มบุคคลและคะแนนมีการจัดกลุ่มกัน แต่หาหลักฐานไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ดำเนินการ แต่ถ้ากระบวนการนี้มีการจัดตั้งไปเรื่อยๆ จะมีผลกระทบต่อตำแหน่งประธาน จึงขอให้สมาชิกที่ได้รับการคัดเลือกร่วมทำกิจกรรมกันก่อนการเลือกประธานล่วงหน้า เพื่อป้องกันการล็อบบี้และการบล็อกโหวตได้
อย่างไรก็ตาม นายพนัส สิมะเสถียร ประธานคณะกรรมการสรรหา แถลงว่าในวันที่ 29 มิถุนายน คณะกรรมการจะประชุมตรวจสอบคุณสมบัติของ ผู้ที่ได้รับคัดเลือก หากไม่มีใครมีคุณสมบัติต้องห้ามจะนำเสนอนายกฯ เพื่อลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป คาดว่าในวันที่ 29 มิถุนายน ทุกอย่างจะแล้วเสร็จ แต่หากพบว่ามีผู้ขาดคุณสมบัติก็จะเลือกลำดับสำรองมาแทนต่อไป
ที่มา: หอการค้าไทย www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ