นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวง มหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือประเภทของอาคารที่เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครอง อาคารหรือผู้ดำเนินการต้องทำการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และ ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 โดยกฎกระทรวงดังกล่าว กำหนดให้ อาคารของเอกชน ได้แก่ อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมชุมคน โรงมหรสพ โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ และป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไปต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายคุ้มครองชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน ของบุคคลภายนอก โดยเจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ที่ได้มี การทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย ไว้ก่อนหน้าที่กฎกระทรวงมีผลบังคับ ให้แสดงสำเนา ตารางกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคาร นั้น และให้เจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ดำเนินการ สำหรับอาคารที่มีอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และยัง ไม่มีการทำประกันภัยต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย ภายใน 180 วัน นับจากวันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับหรือวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2548) นั่นคือ ต้องจัดทำประกันภัยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549
นางสาวพจนีย์ฯ กล่าวต่อไปว่า กรมการประกันภัยได้เตรียมการรองรับกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว โดยขณะนี้ได้จัดเตรียมกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกหรือกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายและอัตราเบี้ยประกันภัยไว้แล้ว ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว จะให้ความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายของเจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารหรือ ผู้ดำเนินการ ใน 2 ส่วนคือ การเสียชีวิตหรือความบาดเจ็บต่อร่างกายหรือความเจ็บป่วยของบุคคลภายนอกและความสูญเสียหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ยกเว้นบุคคลในครอบครัวหรือลูกจ้างของ ผู้เอาประกันภัย ทั้งนี้ ความรับผิดตามกฎหมายดังกล่าวต้องเกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุเท่านั้น สำหรับอัตราเบี้ยประกันภัยของการประกันภัยดังกล่าวนี้ กำหนดไว้เป็นช่วงระหว่าง 0.01% - 5% ต่อปี ตัวอย่างเช่น จำนวนเงินจำกัดความรับผิด 1,000,000 บาท ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัย อยู่ระหว่าง 100 — 50,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของอาคาร แต่ละประเภท จึงขอเชิญชวนให้เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ดำเนินการ ที่สร้างใหม่หรือ ที่ดำเนินการอยู่แล้วและยังไม่มีการจัดทำประกันภัย ให้เร่งดำเนินการจัดทำประกันภัยให้แล้วเสร็จภายใน ระยะเวลาที่กฎกระทรวงกำหนด เพื่อเป็นไปตามข้อบังคับของกฎหมายเกิดประโยชน์ต่อตนเองและ ประชาชนทั่วไป ซึ่งขณะนี้บริษัทประกันวินาศภัยพร้อมที่จะรับทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย ดังกล่าวแล้ว หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ โทร. 0-2547-4548 หรือ สายด่วน กรมการประกันภัย 1186
ที่มา: http://www.doi.go.th