บทสรุปภาวะการส่งออกของประเทศไทยเดือน ม.ค.-ส.ค. 2548

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 20, 2005 13:58 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          1. เศรษฐกิจไทยในปี 2548  คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.25-6.25 ส่วนปี 2547 GDP ของไทยขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 6.3
2. ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญอันดับที่ 23 ของโลก ในปี 2547 มีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 1.13 ของการส่งออกรวมในตลาดโลก(ปี 2546 ไทยอยู่อันดับที่ 23 สัดส่วนร้อยละ 1.16)
3. ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าสำคัญอันดับที่ 23 ของโลก ของปี 2547 มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณร้อยละ 1.66 ของการนำเข้าในตลาดโลก
4. การค้าของไทยในเดือน ม.ค.-ส.ค 2548 มีมูลค่า 151,287.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.04 แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 71,529.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.15 การนำเข้ามีมูลค่า 79,757.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.96 ไทยเสียเปรียบดุลการค้า เป็นมูลค่า 8,227.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
5. กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกในปี 2548 ที่มูลค่า 115,837 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 การส่งออกเดือน ม.ค.-ส.ค. 2548 มีมูลค่า 71,529.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.04 หรือคิดเป็นร้อยละ 61.75 ของเป้าหมายการส่งออก
6. สินค้าส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรก สัดส่วนรวมกันร้อยละ 83.34 ของมูลค่าการส่งออกเดือน ส.ค. 2548 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง มีดังนี้
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 มี 2 รายการ คือ น้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.74 และ 52.15 ตามลำดับ
7. ตลาดส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรก สัดส่วนรวมกันร้อยละ 95.87 ของมูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค.-ส.ค. 2548 ตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง มีดังนี้
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 1 ตลาด ได้แก่ อาร์เจนตินา โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 265.98
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 มี 4 ตลาด ได้แก่ ตุรกี นิวซีแลนด์ อินเดีย และสาธารณรัฐเช็ก โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 54.84, 67.57, 68.79 และ 58.56 ตามลำดับ
8. การนำเข้า
8.1 สินค้านำเข้ามีสัดส่วนโครงสร้างดังนี้
- สินค้าเชื้อเพลิง สัดส่วนร้อยละ 17.80 เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.40
- สินค้าทุน สัดส่วนร้อยละ 28.06 เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.76
- สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สัดส่วนร้อยละ 43.09 เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.34
- สินค้าบริโภค สัดส่วนร้อยละ 6.46 เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.54
- สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง สัดส่วนร้อยละ 3.41 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.61
- สินค้าอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 1.17 เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.52
8.2 แหล่งนำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก
มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 68.31 ของมูลค่าการนำเข้าเดือน ส.ค. 2548 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ซาอุดีอาระเบีย เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย สัดส่วนร้อยละ 21.86, 9.28, 7.37, 6.94, 4.94, 4.49, 3.76, 3.43, 3.32 และ 2.91 โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 17.64, 46.47, 23.03, 53.76, 78.84, 27.49, 11.10, 61.88, 8.35 และ 71.55 ตามลำดับ
9. ข้อคิดเห็น
1. นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เปิดเผยว่าขณะนี้ธนาคารโลกได้เสนอปล่อยสินเชื่อให้แก่ไทยเพื่อใช้ในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ หลังจากที่รัฐบาลได้มีแผนที่จะดำเนินโครงการดังกล่าวภายใต้วงเงิน 1.7 ล้านล้านบาท โดยไทยสามารถเลือกกู้ในรูปแบบสกุลเงินบาทหรือสกุลดอลลาร์ จากก่อนหน้านี้จะต้องกู้เป็นสกุลเงินดอลลาร์อย่างเดียว และสามารถเลือกชำระดอกเบี้ยเป็นเงินสกุลใดสกุลหนึ่งก็ได้
นอกจากธนาคารโลกแล้ว ยังมีธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นหรือเจบิค ได้ให้ความสนใจที่จะสนับสนุนเงินกู้ในโครงการเมกะโปรเจ็กต์นี้ด้วย ขณะที่ ผู้อำนวยการส่วนขนส่งธนาคารโลก (ดร. Jitendra Bajpai) ได้กล่าวว่า ธนาคารโลกพร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาลในโครงการดังกล่าวโดยมีรูปแบบและเครื่องมือทางการเงินหลายด้านขณะเดียวกันก็สามารถเป็นหลักประกันให้กับรัฐบาลไทยในการขอสินเชื่อจากแหล่งอื่นๆ ได้อีกด้วย เพราะเศรษฐกิจของไทยได้ฟื้นตัวขึ้นแต่สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ การเพิ่มความมั่นใจแก่นักลงทุนโดยเฉพาะในแง่การคุ้มครองสัญญา ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดหาแหล่งเงินกู้ที่จะได้รับต้นทุนการเงินที่ต่ำด้วย โดยในภาคการขนส่งนั้นถือได้ว่ามีความสำคัญมาก จะต้องมีรูปแบบของสัญญาและนโยบายการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่ชัดเจน โดยแนะว่าให้ผู้ใช้บริการเป็นผู้รับภาระเอง เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนที่ไม่ได้ใช้บริการ
2. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวก่อนเดินทางไปประชุมเอ อี เอ็ม (การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน) ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่านโยบายการค้าระหว่างประเทศของไทยจะต้องให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะการที่จีน ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยเพราะไทยเป็นประตูไปสู่กลุ่มประเทศอาเซียน ดังนั้นจะต้องทำให้อาเซียนแข็งแกร่งและเป็นเอกภาพโดยที่ไทยจะต้องผลักดันตัวเองให้อยู่บนยอดภายใต้ฐานอาเซียน ซึ่งการค้า การลงทุน จะตามมาโดยอัตโนมัติ โดยในการประชุมเออีเอ็มครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่ไทยจะต้องแสดงบทบาทในเวที อาเซียนโดยให้ความสำคัญที่แผนดำเนินการนำไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
แนวทางการไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะพิจารณาการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในสาขาที่สำคัญ 11 สาขา กลุ่มสินค้าและบริการนำร่องสำคัญ ได้แก่ เกษตร ประมง ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาสุขภาพ การท่องเที่ยว การบิน โดยจะเร่งลดภาษีสินค้าทั้ง 9 รายการให้เร็วขึ้น ในส่วนประเทศไทยจะรับผิดชอบในสาขาการท่องเที่ยวและการบินโดยจะเน้นการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว และการร่วมลงทุนระหว่างกัน โดยจะดำเนินงานผ่านโครงการ Asean Pioneer Project Scheme (APPS)
นอกจากนี้การประชุมจะหารือการตั้ง Asean single window ว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางศุลกากร ซึ่งไทยและฟิลิปปินส์ จะอาสาเป็นประเทศนำร่องใช้เบื้องต้นซึ่งจะเน้นในการอำนวยความสะดวกทางศุลการกร เครือข่ายการขนส่งระหว่างภาครัฐด้วยกันก่อน ในขณะที่จะมีการประชุมหารือกับคู่เจรจาหรืออาเซียน+3 จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีด้วย
เอ อี เอ็ม จะพิจารณาความคืบหน้าการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี เพื่อเสนอให้ผู้นำสุดยอดอาเซียน ลงนามในเดือนธันวาคมนี้ที่มาเลเซีย ซึ่งผลการเจรจาล่าสุดอยู่ระหว่างการตกลงรูปแบบการลดภาษีสินค้า กรอบระยะเวลาของการลดภาษีในสินค้ารายการปกติ สินค้าอ่อนไหว และสุขอนามัยพืชและสัตว์
3. นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เปิดเผยว่าอ้ตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2548 ขยายตัวสูงขึ้น 7.6% เป็นเพราะพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามยังเล็กจึงทำให้อัตราการขยายตัวได้สูงกว่าไทย ที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่า
นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า การที่เวียดนามมีจีดีพีสูงขึ้น เนื่องจากเวียดนามได้เปิดประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคตเวียดนามอาจจะเป็นคู่แข่งทางธุรกิจกับไทยได้ ดังนั้น ไทยจะต้องมีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทยให้มากขึ้น ประกอบกับจะต้องเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ เพื่อให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ปรับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยลดลง โดยคาดว่าในปี 2548 จะเติบโตได้ 4.14-4.6% ต่อปี เนื่องจากปัจจัยจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นซึ่งส่งผลกระทบกันไปทั่วโลก อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสแรก ขยายตัวเพียง 3.3% แต่ดัชนีเศรษฐกิจมหภาคหลายตัว ได้แก่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ จำนวนการจ้างงาน จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 จะดีกว่าไตรมาสแรก
ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเชื่อว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะสูงกว่าครึ่งแรกของปี่ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายบริหารการส่งออก การท่องเที่ยว และการนำเข้า ซึ่งจะช่วยให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้นด้วย รวมทั้งรัฐบาลยังได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และมีเม็ดเงินลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน(เมกะโปรเจ็กต์) และปัจจัยลบต่างๆ ในประเทศได้เริ่มคลี่คลายลง
ที่มา: http://www.depthai.go.th

แท็ก การส่งออก   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ