WTO ตัดสินให้ไทยชนะคดีไก่หมักเกลือ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 1, 2005 14:46 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สรุปสถานการณ์ :         
องค์การการค้าโลก (WTO) แจ้งว่าเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2548 คณะผู้พิจารณาของ WTO ตัดสินให้ไทยและบราซิลเป็นฝ่ายชนะคดีที่สหภาพยุโรปเปลี่ยนแปลงคำนิยามในพิกัดไก่หมักเกลือใหม่ โดยเพิ่มความเข้มข้นของปริมาณเกลือจาก 1.25-1.5 มาเป็นร้อยละ 1.9 และได้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากร้อยละ 15.4 เป็น 1,024 ECU ต่อตัน โดยที่อียูได้อ้างว่าเพื่อปิดช่องว่างการนำไก่สดแช่แข็งสวมรวยพิกัดเป็นไก่หมักเกลือเพื่อเสียภาษีนำเข้าต่ำในอัตราร้อยละ 15.4 ทางด้านไทยและบราซิลซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกเนื้อไก่รายสำคัญไปอียูได้อ้างเหตุผลว่า การกำหนดนิยามพิกัดไก่หมักเกลือใหม่นั้นเป็นการกีดกันทางการค้าและส่งผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อไก่และการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดมาตรา XXII ของความตกลง GATT 1994 และมาตรา IV ของความเข้าใจว่าด้วยการระงับข้อพิพาทของ WTO
ทั้งนี้ ไทยและบราซิลได้ขอตั้งคณะผู้พิจารณาในปี 2546 และได้มีการตัดสินว่าการกระทำของอียูไม่สอดคล้องกับกฎหมาย GATT 1994 และได้ขอให้อียูแก้ไขกฎระเบียบเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ GATT 1994 แต่อียูไม่พอใจในคำตัดสินดังกล่าวและจะอุทธรณ์คำตัดสินต่อองค์กรอุทธรณ์ภายใต้ WTO ต่อไป
ประเด็นวิเคราะห์ :
สำหรับกรณีพิพาทในเรื่องนี้เกิดขึ้นจากอียูมองว่าปริมาณการนำเข้าไก่หมักเกลือเพิ่มมากขึ้น โดยปกติผู้ส่งออกจะส่งออกไก่แช่แข็งภายใต้พิกัด 2007 อัตราภาษีร้อยละ 30 ขณะที่ไก่หมักเกลือถูกจัดอยู่ในพิกัด 2010 อัตราภาษีร้อยละ 15.4 เมื่อผู้นำเข้าเห็นช่องทางที่จะเสียภาษีได้ถูกลงจึงได้สั่งให้ผู้ส่งออกปรับกระบวนการผลิตและหันมานำเข้าไก่หมักเกลือแทน ดังนั้น อียูจึงได้มีการปรับนิยามพิกัดไก่หมักเกลือใหม่ตามความเข้มข้นของน้ำเกลือที่ใช้หมัก ถ้ามีความเข้มข้นน้อยกว่า 1.9% ไม่ถือว่าเป็นไก่หมักเกลือ
ที่มา: http://www.depthai.go.th
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ