รุก-รับ ปรับ-สู้ เปิดประตูอาเซียน — จีน สินค้ากว่า 5,000 รายการเตรียมเฮ เริ่มมีการลดภาษีระหว่างกัน 20 กรกฎาคม 2548 นี้ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้โอกาสในการช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดยุคโลกไร้พรมแดน
นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “รุก-รับ ปรับ-สู้ เปิดประตูอาเซียน-จีน” ว่า “ขณะนี้เศรษฐกิจของเอเชียได้ฟื้นตัวและพร้อมที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมั่นคง การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีน ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียและโลก ทำให้เกิดโอกาสใหม่กับทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกับอาเซียนซึ่งเป็นหุ้นส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกัน ดังนั้นไทยจึงจำเป็นจะต้องกำหนดบทบาทใหม่ของตนเองทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก ไม่เพียงเพื่อใช้ประโยชน์ แต่เพื่อเป็นแรงส่งเสริมคลื่นเศรษฐกิจระลอกใหม่ร่วมกับเพื่อนสมาชิกอื่น ๆ ในอาเซียน ซึ่งอาเซียนเองก็เป็นตลาดที่กำลังขยายนตัวและมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติรวมกันสูงถึง 700 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ (หรือประมาณ 28 ล้านบาท) มีประชากรจำนวน 550 ล้านคน ขณะนี้กำลังเร่งปรับตัวให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อรองรับการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นกับประเทศจีน ญี่ปุ่น และอินเดียต่อไป”
กระแสโลกาภิวัตน์ได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายใน 4 เรื่องใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านแรงงาน เงินทุน สินค้าและบริการ ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเตรียมการรองรับ และ โดยที่การเจรจาการค้าในทุกเวทีไม่วาจะเป็น WTO APEC หรือ AFTA ต่างมุ่งไปสู่การค้าเสรี จึงเห็นว่าการค้าเสรีเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ประกอบกับเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนโดยอาศัยรายได้จากการส่งออกค่อนข้างมาก โดยในปี 2547 ที่ผ่านมา การส่งออกของไทยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของ GDP การรักษาตลาดเดิมและแสวงหาตลาดใหม่ ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ ประเทศคู่ค้าหลักของไทยต่างหันไปทำ FTA หากไทยไม่ทำก็จะสูญเสียตลาด เนื่องจากประเทศที่ทำ FTA ระหว่างกันจะได้รับการลดภาษีที่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ทำเขตการค้าเสรีกับเม็กซิโก และแคนาดา เป็นต้น
นอกจากนี้ นายทนงยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ภาคเอกชนควรพัฒนาตัวเองเป็นศูนย์กลางการให้บริการทางการค้าขาย (Hub service provider) หรือศูนย์กลางการให้บริการทางการค้าขายของจีนในกลุ่มอาเซียนมากกว่าการเป็นฐานการผลิตเพียงอย่างเดียว เพื่อเสริมรายได้จากการเป็นตัวกลาง เช่นเดียวกับที่ สิงคโปร์ทำอยู่ โดยเสนอแนะให้เอกชนไทยอาศัยการเปิดเสรีการค้าของจีนกับอาเซียนเป็นช่องทางการเปิดตลาดสู่จีน แต่ต้องดูว่าเราจะขายอะไรและขายอย่างไร รวมถึงศึกษาช่องทางการขยายธุรกิจให้แม่นยำ ซึ่งมี 4 ช่องทางที่จะเปิดตลาดเข้าจีน ได้แก่ เมืองกวางตุ้ง นครเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และยูนนาน”
ขณะเดียวกันต้องสร้าง Value creation ให้แก่สินค้า โดยการพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานสินค้า พัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร การสร้างฐานความรู้ในเชิงวิจัยและพัฒนา ผลิตและค้าสินค้าที่ลูกค้าต้องการและยอมรับ เน้นการทำธุรกิจที่โปร่งใส ซื่อสัตย์ มีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่สินค้าไทย และคนไทย ในตลาดโลก และสุดท้ายคือ ต้องมีนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าในการบุกแต่ละตลาดที่ชัดเจนและสอดคล้องกับความ้องการของโลกในอนาคตและใน 5 ปีข้างหน้า
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-