หอการค้าไทย ได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศ ว่าหนังสือพิมพ์ The Washington Post ฉบับประจำวันที่ 13 ตุลาคม 2004 ได้เสนอข่าวภายใต้หัวเรื่อง Textile Makers Fight for Limits เขียนโดยนาย Paul Blustein มีสาระสำคัญว่า การที่สภาผู้ผลิตผ้าของสหรัฐฯ (The National Council of Textile Organizations) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพแรงงาน Unite Here รวมทั้งสมาคมผู้ผลิตผ้าและเครื่องนุ่งห่มในประเทศต่าง ๆ อีก 51 ประเทศที่ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ได้ไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าหรือส่งออกผ้าให้ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2547 ขอให้รัฐบาลจำกัดการนำเข้าสินค้าผ้าและเสื้อผ้าของจีนทั้งหมด 9 ประเภท อาทิเช่น กางเกง เสื้อเชิ้ต ชุดชั้นใน ผ้าปูที่นอน เส้นใยสังเคราะห์ และด้ายฝ้าย เป็นต้น โดยให้อยู่ในระดับเพียงร้อยละ 7.5 ภายใต้มาตรการที่เรียกว่า Safeguards กับจีนประเทศเดียวจนถึงปี 2551 ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จีนตกลงไว้เมื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)
ผู้ผลิตผ้าและเครื่องนุ่งห่มของสหรัฐฯ ดำเนินการดังกล่าวเพื่อปกป้องตลาดของตนในสหรัฐฯ โดยคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการที่ระบบโควต้าการส่งออกผ้าและเสื้อจากประเทศต่าง ๆ เข้าสหรัฐฯ และ สหภาพยุโรปจะสิ้นสุดลงในวันที่ 1 มกราคม 2548 ทำให้คาดว่าสินค้าผ้าและเสื้อผ้าราคาถูกกว่าของจีนจะตีตลาดสินค้าประเภทเดียวกันของผู้ผลิตในเอเชีย ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน การร้องเรียนของสภาผู้ผลิตผ้าของสหรัฐฯ ดังกล่าว หากได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการระหว่างหน่วยงานของสหรัฐฯ จะมีผลให้มีการจำกัดการนำเข้าสินค้าของจีนใน 9 ประเภท
อย่างไรก็ดี สมาคมผู้นำเข้าผ้าและเสื้อผ้าของสหรัฐฯ (U.S. Association of Importers of Textiles and Apparel) ให้ความเห็นว่าการดำเนินการของสภาผู้ผลิตผ้าและเครื่องนุ่งห่มของสหรัฐฯ ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงอุตสาหกรรมที่กำลังจะหมดความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้เป็นการปกป้องตลาดงานของสหรัฐฯ อย่างที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
ที่มา: หอการค้าไทย ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ www.thaiechamber.com
-ดท-