รายงานดัชนีราคาสินค้าส่งออก ประจำเดือน ม.ค.48

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 1, 2005 13:00 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาสินค้าส่งออก เดือนมกราคม 2548 
กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำดัชนีราคาส่งออกของประเทศชุดใหม่ ใช้ปี 2543 เป็นปีฐาน โดยใช้ราคาส่งออก F.O.B. ที่ได้จากการสอบถามผู้ส่งออกโดยตรง ซึ่งสามารถวัดการเปลี่ยนแปลงของราคาที่แท้จริงได้ ทำให้เผยแพร่ดัชนีราคาได้รวดเร็วและถูกต้องยิ่งขึ้น
การประมวลผลดัชนีราคาส่งออกในปี 2548 ใช้มูลค่าส่งออกปี 2547 จากกรมศุลกากรเป็นตัวถ่วงน้ำหนัก จำนวน 793 รายการ ครอบคลุม 4 หมวดใหญ่ คือ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ตามโครงสร้างเป้าหมายการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์
ดัชนีราคาส่งออกของประเทศในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ
ปี 2543 - 2547
ปี 2543 ดัชนีราคาส่งออกเท่ากับ 100 เป็นปีฐาน
ปี 2544 ดัชนีราคาส่งออก ลดลงร้อยละ 7.5 เป็นผลมาจากการเกิดวินาศกรรมในสหรัฐฯ ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ประกอบกับต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคา และมาตรการด้านภาษีในตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ
ปี 2545 - 2547 ดัชนีราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8, 5.9 และ 6.2 ตามลำดับ เนื่องจากไทยเพิ่มกลยุทธ์ในการส่งออก ทั้งในด้านปรับปรุงคุณภาพสินค้า ปรับลดต้นทุนการผลิตลง และขยายตลาดใหม่สำหรับสินค้าบางประเภท
เดือนมกราคม 2548
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมกราคม 2548
ปี 2543 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เท่ากับ 100
ปี 2548 ได้มีการปรับเปลี่ยนน้ำหนัก โดยใช้ ปี 2547 เป็นตัวถ่วงน้ำหนัก
เดือนมกราคม 2548 ดัชนีราคาเท่ากับ 108.0 และเดือนธันวาคม 2547 ดัชนีราคาเท่ากับ 108.1
2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมกราคม 2548 เทียบกับ
2.1 เดือนธันวาคม 2547 ลดลงร้อยละ 0.1
2.2 เดือนมกราคม 2547 สูงขึ้นร้อยละ 5.4
3. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมกราคม 2548 เทียบกับเดือนธันวาคม 2547
ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.1 เป็นผลจากดัชนีราคาหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.2 สำหรับหมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 0.3, 0.3 และ 1.0 ตามลำดับ
3.1 หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 0.3 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ข้าว กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายส่งออกข้าวคุณภาพดี ประกอบกับความต้องการบริโภคข้าวมีมาก
- กุ้ง ปริมาณเข้าสู่ตลาดน้อย
- ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง วัตถุดิบ (หัวมันสำปะหลัง) เข้าสู่โรงงานน้อย
3.2 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 0.3 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ราคาวัตถุดิบ (ปลาสด) สูงขึ้น
- น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล ราคาวัตถุดิบ (อ้อย) สูงขึ้น
3.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.2 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- สิ่งทอ ตามภาวะการแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตกับจีน เวียตนามในตลาดสหรัฐอเมริกา
- อัญมณีและเครื่องประดับ จากการลดลงของราคาทองคำในตลาดโลก
- เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน
- รองเท้าและชิ้นส่วน ผู้ส่งออกต้องการระบายสินค้าตามสมัยนิยมก่อนตกรุ่น
3.4 หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 1.0 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ยิบซั่ม ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน
4. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมกราคม 2548 เทียบกับเดือนมกราคม 2547
ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 5.4 เป็นผลจากดัชนีราคาหมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 2.9, 12.4, 4.9 และ 13.2 ตามลำดับ
4.1 หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 2.9 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ สินค้ากสิกรรม (ข้าว, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง) สินค้าประมง (ปลาหมึก, ปลา) และสินค้าปศุสัตว์ (สุกรแช่เย็นจนแข็ง)
4.2 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 12.4 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป
4.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 4.9 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องอิเลคทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์พลาสติก รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องใช้สำหรับเดินทาง และของเล่น
4.4 หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 13.2 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันดิบ และยิบซั่ม
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5802 โทรสาร.0-2507-5825

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ