พยากรณ์อากาศเกษตรรายปักษ์ ฉบับที่ 19/2548
ระหว่าง วันที่ 1-15 ตุลาคม พ.ศ. 2548
สภาวะอากาศ
ในระยะครึ่งแรกของเดือนตุลาคม ร่องความกดอากาศต่ำจะพาดผ่านภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออกของประเทศไทย ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกชุก โดยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้ภาคใต้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งขึ้นได้ สำหรับประเทศไทยตอนบน อยู่ในช่วงเปลี่ยนจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ลักษณะอากาศจะแปรปรวน โดยบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นครั้งคราว ทำให้บริเวณดังกล่าวเริ่มมีอากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า กับจะมีฝนเป็นแห่งๆถึงกระจายและมีฝนตกหนักได้บางพื้นที่ สำหรับภาคกลางและภาคตะวันออกยังคงมีฝนตกชุก
ข้อควรระวัง: ในระยะครึ่งแรกของเดือนนี้อาจมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิคเหนือด้านตะวันตก และเคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ และมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบนของประเทศไทย ทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น เป็นผลให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะบริเวณที่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่าน อาจเกิดพายุคลื่นซัดฝั่งบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เกษตรกรควรติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและคำเตือนเรื่องพายุหมุนเขตร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยาไว้ด้วย
สะภาวะอากาศที่มีผลกระทบต่อการเกษตร
ไม้ผล เกษตรกรที่ปลูก มะขามหวาน เงาะและองุ่น ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคราแป้ง ซึ่งมักระบาดในช่วงปลายฤดูฝนและต้นฤดูหนาวbr>พืชไร่และพืชผัก แปลง ข้าวโพด พืชตระกูลถั่ว และพืชตระกูลแตง ควรระวัง ป้องกันโรคราน้ำค้าง
สัตว์น้ำ เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรเริ่มลดปริมาณอาหาร เพราะเมื่ออุณหภูมิลดลงสัตว์น้ำจะกินอาการได้น้อยลง อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย
คำเตือน
ในระยะครึ่งแรกของเดือนนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะเป็นช่วงที่เปลี่ยนจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว อากาศจะแปรปรวน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย รวมทั้งควรเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับป้องกันลมหนาวให้แก่สัตว์เลี้ยงที่ยังเล็กด้วย อนึ่งในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ปริมาณฝนจะลดลง เกษตรกรควรเริ่มเก็บกักแหล่งน้ำสำรองเอาไว้ใช้ในช่วงแล้งที่กำลังจะมาถึงด้วย
กลุ่มอุตุนิยมวิทยาเกษตร สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา โทร 02-3992322