รายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ประจำเดือน มี.ค.48

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 1, 2005 11:10 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมีนาคม 2548 และระยะ 3 เดือนแรกของปี 2548
กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมีนาคม 2548 และระยะ 3 เดือนแรกของปี 2548 โดยสรุป
จากการสำรวจและประมวลราคาสินค้าที่เกษตรกรและผู้ประกอบการจำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 506 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนำมาคำนวณเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมีนาคม 2548
ปี 2543 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนมีนาคม 2548 เท่ากับ 123.6
2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมีนาคม 2548 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2548 สูงขึ้นร้อยละ 2.6
2.2 เดือนมีนาคม 2547 สูงขึ้นร้อยละ 11.1
2.3 เฉลี่ยเดือนมกราคม - มีนาคม 2548 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 สูงขึ้น ร้อยละ 9.6
3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมีนาคม 2548 โดยเฉลี่ยสูงขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ร้อยละ 2.6 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาทุกหมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 7.9 , 4.5 และ 1.7 ตามลำดับ
3.1 หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 7.9 สินค้าสำคัญที่ราคา สูงขึ้น ได้แก่
- ข้าวเปลือก (ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว) เป็นผลจากการที่รัฐบาลกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าปีก่อน ประกอบกับปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดู ขณะที่ความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง
- หัวมันสำปะหลังสด ราคายังคงสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจาก
การที่รัฐบาลปรับวิธีการและราคารับจำนำ ส่งผลให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันรับซื้อ รวมทั้งปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยจากสภาพอากาศแห้งแล้งเป็นอุปสรรคต่อการขุดหัวมันสด
- พืชผัก ได้แก่ มะเขือ กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดหอม ผักบุ้งจีน ต้นหอม
และผักชี โดยเฉพาะมะนาว ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยตามฤดูกาล
- ยางพารา ได้แก่ น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ และเศษยาง ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เพราะเป็นช่วงต้นยางผลัดใบ
- สัตว์มีชีวิต ได้แก่ สุกร จากสภาพอากาศร้อน ทำให้สุกรเติบโตช้ากว่าปกติ ปริมาณเข้าตลาดน้อย ส่วนไก่ ภาวะการค้าโดยรวมคล่องตัว จากความต้องการบริโภคในประเทศและ แนวโน้มการส่งออกไก่แปรรูปเพิ่มขึ้น หลังจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นให้การรับรองมาตรฐานการผลิต ไก่แปรรูปของไทย
- ปลาและสัตว์น้ำ โดยเฉพาะกุ้งกุลาดำ มีผลจากมาตรการรับจำนำกุ้งกุลาดำของรัฐบาล ประกอบกับความต้องการของตลาดยังมีมากโดยเฉพาะญี่ปุ่น ขณะที่ปริมาณกุ้งกุลาดำออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากการเลี้ยงลดลง จากการเกิดโรคระบาดกุ้งในปีที่ผ่านมา
3.2 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 4.5 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น
ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ(NG) คอนเดนเสท(ก๊าซธรรมชาติเหลว) แร่ตะกั่ว แร่สังกะสี และแร่ดีบุก
3.3 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.7 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด ราคาสูงขึ้นตามตลาดโลก ส่งผลให้เม็ดพลาสติกประเภทต่าง ๆ เช่น โพลีสไตริน (PS) โพลีไวนิล คลอไรด์ (PVC) โพลีเอทีลีน (PE) โพลีโพรพิลีน (PP) และอะคริโลไนทริล บิวทาไดอีนสไตรีน (ABS) มีราคาสูงขึ้นด้วย
- ผลิตภัณฑ พลาสติก ได้แก่ กระสอบพลาสติก ถุงพลาสติก และขวดพลาสติก
ราคาสูงขึ้นตามราคาเม็ดพลาสติก
- สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญได้แก่ ทอง ราคาสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก
4. ดัชนีราคาเฉลี่ยในระยะ 3 เดือนแรก (มกราคม - มีนาคม) ของปี 2548 สูงขึ้น จากระยะเดียวกันของปี 2547 ร้อยละ 9.6 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาทุกหมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 19.5 , 15.8 และ 8.0 ตามลำดับ
4.1 หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 19.5 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น
ได้แก่ ข้าวเปลือก หัวมันสำปะหลัง ยางพารา สุกรมีชีวิต และไก่มีชีวิต
4.2 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 15.8 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น
ได้แก่ น้ำมันดิบ คอนเดนเสท (ก๊าซธรรมชาติเหลว) แร่ตะกั่ว และแร่สังกะสี
4.3 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 8.0 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น
ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5808 โทรสาร.0-2507-5825

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ