แนวทางแก้ไขปัญหาการบุกรุก รุกล้ำและละเลย 25 ลุ่มน้ำสำคัญของประเทศและแหล่งน้ำสำคัญของชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 2, 2005 10:59 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาการบุกรุก รุกล้ำและละเลย
25 ลุ่มน้ำสำคัญของประเทศและแหล่งน้ำสำคัญของชาติ
1.ความเป็นมา
ประเทศเกษตรกรรม เช่น ประเทศไทย กับผืนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ แม่น้ำสำคัญที่มีจำนวนเพียงพอในแต่ละภูมิภาครวมทั้งแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งกระจายอยู่ในแต่ละภูมิภาคของประเทศ ตลอดจน ความเป็นอู่ข้าว อู่น้ำ จนกล่าวได้ว่าประชากร 65 ล้านคนของประเทศไม่ต้องแย่งกันกิน เช่น บางประเทศหรือบางภูมิภาคของโลก
การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชาติ และ 25 ลุ่มน้ำสำคัญของประเทศ รวมทั้งแหล่งน้ำสำคัญของชาติ เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย การบริหารจัดการ 25 ลุ่มน้ำ และแหล่งน้ำสำคัญ ต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีเจ้าภาพรับผิดชอบดูแลอย่างชัดเจน มีความต่อเนื่องเรื่องระยะเวลาพร้อมมีการสำรวจและประเมินผลโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้วอย่างจริงจังตามข้อมูลและสภาพที่เป็นจริง ทั้งประเด็นอันเป็นบวกและลบอย่างสม่ำเสมอ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการภัยน้ำหลากในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางแบบบูรณาการ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2546 โดยให้ความเห็นว่ารัฐบาลควรดำเนินการแก้ไขทั้งระดับ เฉพาะท้องถิ่นและระดับลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบแบบบูรณาการโดยพิจารณาควบคู่กับการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ การบริหารจัดการใช้ประโยชน์ที่ดิน การวางผังเมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนให้มีผลอย่างจริงจัง
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นว่าภัยน้ำหลาก ซึ่งเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศมีความรุนแรงมากขึ้น เกิดขึ้นบ่อยครั้งและขยายพื้นที่มากขึ้น จากการศึกษาข้อมูลของหน่วยราชการต่างๆ ทำให้ทราบว่าพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีภัยน้ำหลากนั้น ทางระบายน้ำหลาก (Flood way) พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) และแหล่งน้ำตามพื้นที่ลุ่ม หนองบึงและทะเลสาบ ซึ่งกักเก็บน้ำที่ผิวดิน (Depression Storage) ถูกบุกรุกและรุกล้ำ โดยเกิดจากการพัฒนาพื้นที่ของหน่วยราชการต่างๆ และเอกชน ตลอดจนประชาชน ทำให้ระบบนิเวศของพื้นที่ดังกล่าวแล้วทั้ง 3 ประเภทถูกทำลาย และไม่สามารถทำหน้าที่ของระบบนิเวศเดิมและสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ เพราะว่าทางระบายน้ำหลาก พื้นที่ชุ่มน้ำและพื้นที่ลุ่ม กักเก็บน้ำบนผิวดิน เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของวงจรน้ำ (Hydrologic cycle) ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคุมและช่วยปรับปริมาตร (Volume) และอัตรา (Rate) ของน้ำท่า (Runoff) ไม่ให้เกิดมีปริมาตรและอัตรามากเกินไปหรือช่วยลดอัตราน้ำท่วมสูงสุด (Flood Peak) ของพื้นที่ลุ่มน้ำหรือลดภัยน้ำหลาก ดังนั้นสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับการบุกรุก รุกล้ำ และละเลย ทางระบายน้ำหลาก พื้นที่ชุ่มน้ำ และแหล่งน้ำตามที่ลุ่ม (หนอง บึง ทะเลสาบ) ของประเทศ
หน้าที่ทางนิเวศ (Ecological Functions) ของพื้นที่ชุ่มน้ำ หนองบึง ทะเลสาบ มีหน้าที่หลายประการได้แก่ หน้าที่กักเก็บน้ำท่าในที่ลุ่ม (Depression Storage) ซึ่งเป็นพื้นที่แก้มลิง ทำหน้าที่กักเก็บโดยการสกัดกั้นของใบและต้นพืช (Interception Storage) ทำหน้าที่คายน้ำทางปากใบพืช (Transpiration) ทำหน้าที่ระเหยน้ำจากผิวน้ำ (Evaporation) ทำหน้าที่ซึมซับน้ำฝนลงในดิน (Infiltration) และทำหน้าที่เติมน้ำบาดาล (Groundwater Recharge) ผลรวมของหน้าที่เหล่านี้จะลดการเกิดน้ำล้นตลิ่ง (Bank overflow) ของแม่น้ำลำธารเพราะว่าหน้าที่โดยรวมของนิเวศเหล่านี้ คือ การกักเก็บน้ำนอกลำน้ำ (Off Stream Storage) และลดความรุนแรงของน้ำหลาก ของแม่น้ำลำธาร การพัฒนาหรือทำลายพื้นที่เหล่านี้จะทำให้หน้าที่ทางนิเวศทั้งหมดดังกล่าวมาแล้วลดลงมากจนไม่มีหรือเกือบไม่มี และผลสุดท้ายทำให้เกิดน้ำหลากที่รุนแรงมาก (Flood Peak) เพราะว่าน้ำฝนที่ตกลงมาเกือบทั้งหมดจะกลายเป็นน้ำท่า (Runoff) ในฤดูฝน และก่อให้เกิดความแห้งแล้งในฤดูแล้งเพราะว่าที่กักเก็บน้ำในที่ลุ่ม (Depression Storage) ถูกทำลายหมดไป และระบบนิเวศจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งจะมีลักษณะเลวลง เพราะความหลากหลายทางชีวภาพลดลงทั้งชนิดและปริมาณตลอดจนจุลภูมิอากาศ (Microclimate) จะเปลี่ยนไป การคายระเหย (Evapotranspiration) ก็จะลดลง
หน้าที่ทางนิเวศของทางระบายน้ำหลาก คือ การนำน้ำท่าที่เกิดขึ้นในขณะที่แม่น้ำลำธารมีน้ำไหลมาก (High flow) ซึ่งบริเวณนี้จะเรียกลักษณะภูมิประเทศว่า ตะพักน้ำขั้นต่ำ (Low Terrace) และบริเวณนี้จะเกิดน้ำท่วม เมื่อแม่น้ำลำธาร มีน้ำไหลมากในฤดูฝน การพัฒนาบริเวณทางระบายน้ำหลาก โดยการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ถนน หรือการก่อสร้างอาคารต่างๆ ในบริเวณนี้ ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการไหลลงของน้ำในแม่น้ำลำธารในขณะที่มีน้ำไหลมาก และปริมาตรของอาคารต่างๆ และถนนที่ก่อสร้างในบริเวณทางระบายน้ำหลากจะลดปริมาตรของน้ำในทางระบายน้ำหลาก ซึ่งจะทำให้ปริมาตร (Volume) และอัตราไหล (Flow Rate) ของน้ำลดลง ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรงขึ้นในพื้นที่ต่างๆ นอกจากนี้พืชพรรณต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณน้ำหลากยังทำหน้าที่คายน้ำ (Transpiration) ลดปริมาณน้ำท่าในบริเวณทางระบายน้ำหลาก อาคารต่างๆ และถนนที่เข้ามาแทนที่ ไม่ได้ทำหน้าที่คายน้ำ
พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ลุ่ม และทางระบายน้ำหลากทางนิเวศวิทยา นับเป็นพื้นที่ว่องไวต่อสิ่งแวดล้อม (Environmentally Sensitive Areas) และห้ามพัฒนาพื้นที่เหล่านี้เพราะว่าจะก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางนิเวศและทางเศรษฐกิจ ต้องปล่อยให้คงสภาพตามธรรมชาติ
2. การดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้พิจารณาเห็นว่าภัยน้ำหลาก ซึ่งเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศมีความรุนแรงมากขึ้น และเกิดขึ้นบ่อยครั้งและขยายพื้นที่มากขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักมาจากทางระบายน้ำหลาก พื้นที่ชุ่มน้ำ และแหล่งน้ำตามพื้นที่ลุ่ม หนองบึงและทะเลสาบ ซึ่งกักเก็บน้ำที่ผิวดิน ถูกบุกรุกและรุกล้ำ โดยหน่วยราชการต่างๆ และเอกชน ตลอดจนประชาชน ทำให้ระบบนิเวศของพื้นที่ ดังกล่าวถูกทำลาย จึงได้มอบหมายให้คณะทำงานศึกษาและอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำ แม่กลองและแม่น้ำบางปะกง ดำเนินการศึกษาในประเด็นดังกล่าว ซึ่งคณะทำงานฯดังกล่าว ได้ดำเนินการศึกษาโดย 1) รวบรวมข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้อง 2) จัดประชุมเสวนาร่วมกับนักวิชาการ หน่วยงาน ราชการที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน และ 3) ศึกษาดูงานในพื้นที่ หลังจากนั้นจึงจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว นำเสนอสภาที่ปรึกษา และคณะรัฐมนตรีต่อไป
3. ภาพรวมพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย
พื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย มีทั้งที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแหล่งน้ำจืด ประเภทแหล่งน้ำไหลและแหล่งน้ำนิ่ง ได้แก่ คลองห้วย ลำธาร แม่น้ำ น้ำตก หนอง บึง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน ทะเลสาบ บึง พรุหญ้า พรุน้ำจืดที่มีไม้พุ่ม ที่ลุ่มชื้นแฉะ พื้นที่เกษตรที่มีน้ำท่วมขัง และพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล ได้แก่ ปากแม่น้ำ ชายหาด หาดเลน ป่าชายเลน ปะการัง โดยมีจำนวนพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นประเภทแหล่งน้ำจืดประเภท คลองห้วย ลำธาร แม่น้ำ มากที่สุด อย่างน้อย 25,008 แห่ง รองลงมา ได้แก่ ประเภททะเลสาบ หนอง บึง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน อย่างน้อย 14,128 แห่ง เนื้อที่พื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่อย่างน้อย 36,616.16 ตารางกิโลเมตร (22,885,100 ไร่) คิดเป็นประมาณร้อยละ 7.5 ของพื้นที่ประเทศ ตามตารางที่ 1ซึ่งแสดงประเภทและจำนวนพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย
ตารางที่ 1 ประเภทและจำนวนพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย
ระบบ จำนวน (แห่ง)
คลอง ห้วย ลำธาร แม่น้ำ 25,008
ทะเลสาบ 14,128
หนองน้ำ ที่ลุ่มชื้นแฉะ 1,993
ทะเล ชายฝั่งทะเล และปากแม่น้ำ 1,256
ยังไม่ได้จำแนก 268
รวม 42,653
หมายเหตุ: ไม่รวมพื้นที่นาข้าว
ที่มา: ทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติของประเทศไทย สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, 2542
4. สภาพปัญหา
4.1 การบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำ และพื้นที่ลุ่มที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติได้เกิดขึ้นหลายแห่งทุกภูมิภาคของประเทศ เช่น หนองหาน จังหวัดสกลนคร กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา ทะเลสาบสงขลา ทะเลน้อย จังหวัดสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช บึงบอระเพ็ดและบึงเสนาท จังหวัดนครสวรรค์ ในกรณีของบึงเสนาท จังหวัดนครสวรรค์ ได้มีหน่วยราชการต่างๆ บุกรุกพื้นที่ของบึง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การบริหารส่วนตำบลบึงเสนาท สำนักงานโยธาและผังเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ค่ายลูกเสือ และสถาบันพลศึกษาแห่งชาติ
4.2 การรุกล้ำทางระบายน้ำหลาก ได้เกิดขึ้นหลายแห่ง ทุกภูมิภาคของประเทศ เช่น ทางระบายน้ำหลากของแม่น้ำมูล ตรงบริเวณอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี และทางระบายน้ำหลากบริเวณ ตัวจังหวัดมหาสารคาม เป็นต้น ในกรณีทางระบายน้ำหลากของจังหวัดอุบลราชธานี บริเวณอำเภอวารินชำราบ ได้มีการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย สถานีขนส่ง ถนน และสถานศึกษาในพื้นที่ชุ่มน้ำ และทางน้ำหลาก
4.3 การทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำและพื้นที่ลุ่มได้เกิดขึ้นแล้ว ในทุกภูมิภาคของประเทศ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ บริเวณบึงเสนาท อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ได้มีการถมดินบริเวณบึงเสนาท เพื่อทำการก่อสร้างอาคารต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ค่ายลูกเสือและสนามกีฬา สำนักงานโยธาและผังเมือง จังหวัดนครสวรรค์
4.4 การเกิดน้ำท่วมเนื่องจากว่าพื้นที่ลุ่มและพื้นที่ชุ่มน้ำตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่ต่ำที่สุด และลักษณะเป็นแอ่ง (Depression Land หรือ Bottom Land) ดังนั้นบริเวณนี้จึงมีน้ำท่วมเป็นประจำเพราะว่าเป็นพื้นที่รับน้ำท่าจากบริเวณรอบๆ ซึ่งเป็นพื้นที่สูงกว่า ในทางนิเวศวิทยาจึงได้ห้ามมิให้มีการพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ ต้องปล่อยไว้ให้คงอยู่ตามสภาพธรรมชาติ ซึ่งจะทำหน้าที่ทางนิเวศที่ได้กล่าวมาแล้ว ข้างต้น การแก้ไขน้ำท่วมทำได้ด้วยความยากลำบาก หากมีปริมาตรน้ำท่ามากและคาดคะเนไม่ได้ และจะเกิดความเสียหายตามมาอย่างไม่สิ้นสุด
5. กรณีศึกษาการบุกรุกบึงเสนาท จังหวัดนครสวรรค์
จากการศึกษาและติดตามของคณะทำงานศึกษาและอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง จังหวัดนครสวรรค์ มีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เป็นจังหวัดซึ่งเป็นที่บรรจบของแม่น้ำสายสำคัญทั้งแม่น้ำปิง และแม่น้ำน่าน สภาพพื้นที่รับน้ำสำคัญของชาติทั้งบึงบอระเพ็ดและบึงเสนาท สภาพโดยรวมมีสภาพตื้นเขิน ในอดีตเคยเป็นแหล่งน้ำสำคัญของชาติและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำ โดยตลอดมามีส่วนราชการรับผิดชอบดูแลทั้งปริมาณ คุณภาพน้ำในบึง ความลึก และความตื้นเขิน รวมทั้งวัชพืชในบึง แต่ในปัจจุบันไม่ชัดเจนว่ามีหน่วยงานใด เป็นผู้รับผิดชอบ ดูแล อย่างไรก็ตามริมฝั่งขอบบึง และพื้นที่รอบบึง ควรจะมีส่วนราชการรับผิดชอบดูแล มิให้มีการบุกรุก รุกล้ำ และละเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ในทางปฏิบัติโดยแท้จริงแล้ว บึงเสนาทอยู่ในสภาพถูกละเลยให้อยู่ในสภาพตื้นเขินค่อนข้างมาก และมีการบุกรุก รุกล้ำ โดยหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน ซึ่งต่อไปก็คงจะเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น อันจะสร้างผลกระทบกับแหล่งน้ำสำคัญของชาติ ซึ่งใช้สอยมาแต่ดั้งเดิมในอดีต
การบุกรุก รุกล้ำมาจากแผนการใช้ที่ดินของจังหวัดหรือของทางราชการโดยรวม (Master Plan) ซึ่งน่าจะขาดความชัดเจนในเรื่องเหตุที่มา หลักการ เหตุผล และปรัชญา อันเป็นที่มาของแผนการใช้ที่ดิน ในความรับผิดชอบของทางราชการ รวมทั้งการใช้อิทธิพลในรูปแบบต่างๆของสังคมไทย ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติผังเมืองเกิดขึ้นแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ทั้งประเด็นความล่าช้าไม่ทันเหตุการณ์ ประเด็นความรับผิดชอบ และประเด็นการบูรณาการ
การดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐที่ก่อให้เกิดการบุกรุก รุกล้ำ และละเลย รวมทั้งการใช้งบประมาณแผ่นดินไปก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อแหล่งน้ำสำคัญของชาติ ความเสียหาย และการสูญเสีย ซึ่งจะเกิดขึ้นมากมายตามมา รวมทั้งระบบอภิสิทธิ์จะขยายและแพร่ไปสู่แหล่งน้ำสำคัญของชาติ ณ จุดอื่นๆ ต่อไปทั่วประเทศ ถือได้ว่าเป็นการกระทำ ซึ่งขาดสำนึกตระหนักในระบบนิเวศ และเป็นการทำลายแหล่งน้ำของชาติ อันจะสร้างผลกระทบที่รุนแรงในหลายประเด็น
สภาที่ปรึกษาฯเห็นว่าการบุกรุก รุกล้ำ และละเลยของภาครัฐ เช่น กรณีบึงเสนาทจะเป็นกรณีตัวอย่าง
ที่เห็นได้อย่างชัดเจนในประเด็นการไร้สำนึกในความรับผิดชอบ และสร้างปัญหามากมาย และต่อไปก็จะใช้งบประมาณของชาติไปดำเนินการ ทั้งการขยายพื้นที่ ขยายอาคารที่ทำการ และจะมีการสร้างแนวคันป้องกันน้ำท่วมของแต่ละองค์กร แต่ละสถาบันเพิ่มขึ้นอีก ในกรณีเช่นนี้ ผู้บริหารประเทศจะใช้วิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปโดยไม่มีการทบทวนนโยบาย และการปฏิบัติซึ่งฉกฉวยอย่างอภิสิทธิ์ โดยใช้การประกาศเป็นแผนจังหวัดหรือแผนชาติ โดยขาดความเป็นรูปธรรมในการอนุมัติ พร้อมทั้งขาดปรัชญา หลักการ และเหตุผล ในการนำสิ่งนั้นมาอ้างและยึดเป็น Master Plan ของการใช้ที่ดินของจังหวัดซึ่งก็น่าจะมีส่วนราชการที่จะให้ข้อคิดเพื่อรักษาแหล่งน้ำสำคัญของชาติไว้
ข้อมูลภาพรวมบึงเสนาทสรุปได้ดังนี้
5.1 ข้อมูลทั่วไป
บึงเสนาท มีพื้นที่ประมาณ 6 ตารางกิโลเมตร จุน้ำ 30 ล้าน ลบ.ม. ที่ความลึกประมาณ 5 เมตร เป็นบึงธรรมชาติ ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่แก้มลิง แต่ได้ถูกบุกรุก ปัจจุบันนครสวรรค์เป็นจังหวัดที่แล้งที่สุดในภาคเหนือ
ตอนใต้ เพราะพื้นที่ในบริเวณบึงได้ถูกบุกรุกโดยสถาบันการศึกษา (มหาวิทยาลัยมหิดล) หน่วยงานราชการต่างๆ (โยธาธิการจังหวัด ค่ายลูกเสือ และสถาบันพลศึกษาและการกีฬาแห่งชาติ) และประชาชน
5.2 สภาพน้ำท่วมบริเวณบึง
- ปริมาณน้ำหลาก แม่น้ำปิง ยม น่าน เนื่องจากมรสุมฝนตก เดือนกันยายน-ตุลาคม ปี 2545 ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่ง ท่วมที่ราบลุ่มสูงถึง 2.50 ม.
- แม่น้ำสายหลัก เกิดการตื้นเขินของปริมาณตะกอนที่ตกทับถมมากในแม่น้ำ
- แหล่งน้ำธรรมชาติเคยรองรับปริมาณน้ำถูกบุกรุกเป็นที่ทำกิน และมีการก่อสร้างอาคารต่างๆ และถนนไม่สามารถรับน้ำหลากได้ ทำให้น้ำไหลลงบึง เกินความจุของบึง จึงทำให้น้ำล้นตลิ่งไปสู่บริเวณอื่น ที่ไม่มีเขื่อน หรือพนัง หรือบริเวณที่เคยเป็นแก้มลิง และบึงเสนาทมีการพัฒนาเป็นสถานที่ราชการ
- การพัฒนาเมืองและขยายตัวของชุมชน ในบริเวณใกล้เคียงบึงเสนาท และมีการบุกรุกที่สาธารณะที่เคยเป็นคลองหรือลำน้ำเพื่อก่อสร้างอาคาร บ้านเรือน หรือเส้นทางคมนาคมกีดขวางทางน้ำธรรมชาติทำให้การระบายน้ำไม่เพียงพอ น้ำจึงท่วมระดับสูงและเป็นเวลานาน
5.3 แนวทางแก้ไขปัญหา
1) ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2547 ในการตรวจเยี่ยมจังหวัดนครสวรรค์ เนื่องจากบึงเสนาทและบึงอื่นๆ เป็นแก้มลิงตามธรรมชาติ มีน้ำไหลท่วมเป็นประจำ แต่เนื่องจากภายในบึงเสนาท มีการสร้างอาคารไปแล้วบางส่วน เช่น อาคารมหาวิทยาลัยมหิดล จึงเห็นควรสร้างพนังดินล้อมอาคารเท่าที่จำเป็น โดยไม่ขยายพื้นที่ก่อสร้างออกไปและให้ทหารช่างดำเนินการ สำหรับการหาที่ใหม่ให้มหาวิทยาลัยมหิดล เช่น ที่ราชพัสดุของทหาร ได้หารือในขั้นต้นแล้ว ระหว่างจังหวัดและมณฑลทหารบกที่ 31 ให้รับไปเร่งพัฒนาสถานที่ใหม่ต่อไป และควรตรวจสอบความเป็นไปได้ทางวิชาการในประเด็นดังนี้
- ปริมาณน้ำมากขนาดนี้ พนังดินควรสูงเท่าใด
- ความแข็งแรงของพนังดินในการรับน้ำควรเป็นอย่างไร
- ถนนสัญจรตลอดบริเวณนี้ ซึ่งท่วมเช่นเดียวกัน ต้องยกขึ้นด้วยหรือไม่ หากต้องยก จะยกสูงเพียงใด
- เนื่องจากพื้นที่เป็นแอ่งรับน้ำ พนังกั้นน้ำนี้จะมีผลทำให้ชาวบ้านโดยรอบ ต้องถูก น้ำท่วมในระดับที่สูงขึ้นหรือไม่
- การแก้ไขทั้งหมดจะใช้งบประมาณเท่าใด และจะแก้ได้ยั่งยืนหรือไม่
- หากแก้ไขไม่ได้อย่างยั่งยืน จะมีทางออกอย่างใด
5.4 กรณีที่ไม่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้
1) ที่ดินที่ราชพัสดุในความดูแลของทหาร โดยจังหวัดมณฑลทหารบกที่ 31 ธนารักษ์พื้นที่นครสวรรค์ และมหาวิทยาลัยมหิดล เสนอกองทัพบก ขอใช้ที่ดินจำนวน 2 แปลง คือ
- ที่ดินบริเวณติดทางเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ ด้านทิศตะวันตก ต.กลางแดด อ.เมืองนครสวรรค์
- ที่ดินบริเวณทางแยกไปบ้านเขาทอง ต.ยางตาล อ.โกรกพระ แต่ที่ดินทั้ง 2 บริเวณดังกล่าวมีราษฎรบุกรุกครอบครองเป็นที่ทำกินอยู่บ้าง
- นอกจากนี้ยังมีที่ดินบริเวณเขาทอง ต.ยางตาล อ.โกรกพระเป็นที่ดินของทหารอีกประมาณ 500 ไร่
2) ที่ดินที่มหาวิทยาลัยมหิดล ขอใช้ไว้เดิม ได้แก่
- ที่ดินสาธารณประโยชน์บึงเขาดิน ต.บ้านแก่ง อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เนื้อที่ประมาณ 1015-3-11 ไร่ มีระยะทางห่างจากจังหวัดนครสวรรค์ ประมาณ 10 กิโลเมตร
- ที่ดินสาธารณประโยชน์ดงบ้านโพ ต.หนองเต่า อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ เนื้อที่ประมาณ 800-0-0 ไร่
5.5 สถานการณ์ล่าสุด
1) จังหวัดได้รับแจ้งจากกองอำนวยการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาว่านายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการทหารสูงสุด เข้าดำเนินการก่อสร้างถนน และพนังกันน้ำ ป้องกันน้ำท่วม มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ ซึ่งหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้นำ
กำลังพล เครื่องจักร และยานพาหนะเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2547 ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณเดือนมีนาคม 2548
2) การเปิดเรียนของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ ได้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาตรี คณะการจัดการ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2547 ซึ่งขณะนี้นักศึกษา จำนวน 40 คน และจะเปิดรุ่นที่ 2 ในเดือนกรกฎาคม 2548
6. ข้อเสนอแนะ
6.1 รัฐบาลต้องจริงจังด้วยปรัชญา หลักการและเหตุผล พร้อมมาตรการในการรักษา 25 ลุ่มน้ำสำคัญของประเทศ และแหล่งน้ำสำคัญของชาติในทุกภูมิภาคของประเทศไว้ ควบคู่กับความเป็นประเทศเกษตรกรรมของประเทศ และควบคู่ไว้กับชีวิตคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร
6.2 รัฐบาลต้องสั่งให้มีการสำรวจ การบุกรุก การรุกล้ำ และการทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ลุ่ม และ
พื้นที่ทางระบายน้ำหลากเพื่อให้ทราบสภาพปัจจุบันของพื้นที่ทั้งสามประเภทนี้ทั่วประเทศ โดยการดำเนินงานต้องมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นทั่วประเทศ
6.3 รัฐบาลควรจะประกาศให้การบำรุงรักษา และพัฒนา 25 ลุ่มน้ำสำคัญของประเทศ และ แหล่งน้ำสำคัญของชาติ เป็นนโยบายของชาติ และประกาศต่อสาธารณะ เกษตรกร และภาคประชาชน
6.4 ควรมีส่วนราชการเป็นเจ้าภาพในการดูแล และรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ลุ่มได้แก่ หนอง บึง
และทะเลสาบต่างๆ และทางระบายน้ำหลาก
6.5 ต้องมีการอนุรักษ์ และจัดการที่ดี และเหมาะสมกับพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ลุ่ม และทางระบายน้ำหลาก เพื่อให้พื้นที่ทั้งสามประเภทนี้ ทำหน้าที่ทางนิเวศให้ดีที่สุด โดยให้การศึกษาเกี่ยวกับการอนุรักษ์ และการจัดการที่ดีของพื้นที่ทั้งสามประเภทแก่สาธารณชนทั่วไป โดยเฉพาะประชาชนท้องถิ่น รวมทั้งเยาวชนด้วย ตลอดจนให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และจัดการที่ดีกับพื้นที่ทั้งสามประเภทนี้
6.6 รัฐบาลต้องใช้กรณีบึงเสนาทเป็นกรณีตัวอย่างของการบุกรุก รุกล้ำ และละเลยของหน่วยงาน
ภาครัฐ ซึ่งจะเป็นแบบอย่างแก่จังหวัดอื่น ส่วนราชการอื่น และสถาบันอื่นๆ ต่อไป และเห็นควรให้มีการทบทวนการดำเนินการตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงปัจจุบันโดยคำนึงถึงความไม่โปร่งใสในประเด็นต่างๆ
6.7 รัฐบาลได้ดำเนินการเรื่องการใช้ที่ดินบึงเสนาท โดยไม่ยึดหลักการ เหตุผลและปรัชญา รวมทั้ง ได้รับความเห็นชอบของจังหวัดหรือส่วนกลาง จึงเห็นควรสั่งระงับหรือยกเลิก การใช้ที่ดิน เพื่อก่อสร้างศูนย์ราชการในพื้นที่ดังกล่าว
6.8 ต้องไม่มีการพัฒนาที่ดินในพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ลุ่ม และทางระบายน้ำหลาก เพราะจะมี
ผลกระทบวงจรของน้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วม และความแห้งแล้งอย่างรุนแรง และซ้ำซากในทุกพื้นที่ลุ่มน้ำ
6.9 ต้องมีการติดตามสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ลุ่ม และทางระบายน้ำหลากทุกแห่ง ทุกภาคของ
ประเทศ โดยใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic Information System-GIS) เพื่อทราบสถานภาพปัจจุบัน และเป็นการตรวจสอบ การบุกรุก การรุกล้ำ และการทำลาย พื้นที่ทั้งสามประเภทนี้ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ทั้งสามประเภทโดยตรง
6.10 ควรมีการกำหนดพื้นที่กันชน (Buffer Zone) รอบๆ พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ลุ่ม และทางระบายน้ำหลาก เพื่อลดผลกระทบจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งอยู่รอบๆพื้นที่ทั้งสามประเภท
6.11 รัฐบาลต้องพิจารณาผู้มีส่วนผิดในการดำเนินการในเรื่องนี้ ในทุกลักษณะอย่างโปร่งใสและ ไม่เลือกปฏิบัติ
6.12 รัฐบาลควรพิจารณางบประมาณของประเทศซึ่งได้ลงไปแล้ว ณ พื้นที่นี้ ในแต่ละโครงการของแต่ละส่วนราชการ พร้อมงบประมาณปี 2548 และงบประมาณผูกพัน ให้มีการแก้ไขและป้องกันในทุกกรณี
6.13 ต้องสร้างจิตสำนึกให้เกิดกับประชาชนท้องถิ่น และประชาชนทั่วไปว่าพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ลุ่ม และทางระบายน้ำหลาก เป็นมรดกร่วมของมนุษยชาติ การทำลายจะได้รับภัยพิบัติ ซึ่งเกิดจากทรัพยากรน้ำ เช่น ภัยน้ำท่วม และภัยน้ำแล้งอย่างรวดเร็ว
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

แท็ก เกษตรกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ