ม.หอการค้าฯ หวั่นไทยขาดดุล ‘เอฟทีเอจีน’

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 27, 2005 16:46 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          ผู้อำนวยการศูนย์การค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช เปิดเผยผลการวิเคราะห์ทิศทางการส่งออก การนำเข้าและดุลการค้าและการเปิดเสรีทางการค้า (เอฟทีเอ)กลุ่มผัก ผลไม้ ไทย-จีน ว่าแม้ไทยจะได้เปรียบดุลการค้ากับจีน แต่จากข้อมูลการวิเคราะห์กลับพบว่าไทย มีแนวโน้มว่าจะขาดดุลกับจีนมากขึ้นในปี 2549 อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่ไทยทำข้อตกลงเอฟทีเอกับจีน ในสินค้าผักผลไม้ 116 รายการ (พิกัด 07-08) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค 2546 ตัวเลขการส่งออกภายใต้เอฟทีเอ ปี 2548 มีมูลค่า 393 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 37% ในขณะที่มีการนำเข้ามูลค่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 17% ไทยได้ดุลการค้า 273 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 49% แต่หากตัดยอดการส่งออกมันสำปะหลังออกไป ไทยจะขาดดุลการค้ากับจีนทันที 
นอกจากนี้ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ยังให้ความเห็นว่าในปี 2549 เอฟทีเอภายใต้กรอบอาเซียนและจีนจะเริ่มแสดงผลประเทศต่างๆ จะได้รับการลดภาษีที่ทัดเทียมกัน ประกอบกับสินค้าในกลุ่มอาเซี่ยน มีความคล้ายคลึงกัน จะส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยไปจีนในช่วงปีหน้าทวีความรุนแรง มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะ
- สินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน ที่ต้องแข่งขันกับประเทศมาเลเซีย
- สินค้ายางพารา ที่ต้องแข่งขันกับประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย รวมถึงสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ ผัก ผลไม้ และสิ่งทอ
- มันสำปะหลัง ซึ่งนับเป็นจุดแข็งของไทย จะต้องเผชิญการแข่งขันกับลาว และกัมพูชา ที่มีความสามารถในการผลิตภายใต้การส่งเสริมความร่วมมืออนุภูมิภาคของไทย-จีน จึงต้องมีความชัดเจนในด้านนโยบาย ในการวางตำแหน่งตลาด
ประเด็นวิเคราะห์:
อุปสรรคการค้าระหว่างไทย-จีนภายหลังการเปิดเสรีทางการค้า คืออุปสรรการกีดกันการค้าที่มิใช่เรื่องภาษี ความเข้มงวดของกฎระเบียบต่างในแต่ละมณฑลของจีน ซึ่งมีระเบียบที่แตกต่างกันออกไป มาตรฐานด้านสุขอนามัยต่างๆ ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการรองรับข้อกีดกันเหล่านี้มากเท่าที่ควรด้วยเหตุนี้หากไทยต้องการที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ควรพัฒนามาตรฐานสินค้าไทยให้อยู่ในระดับสากล เพื่อมุ่งเน้นการขายสินค้าในตลาดระดับบน และจะต้องหามาตรการต่างๆ ในการป้องกันไม่ให้สินค้าจีนเข้ามาแทนที่สินค้าไทยในประเทศมากเกินความจำเป็น
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ