ถ้ายังจำกันได้ ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement :TAFTA) เป็นความตกลงฯ เอฟทีเอฉบับแรกที่ไทยได้มีการลงนามกับประเทศคู่เจรจา ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 ที่ผ่านมา
ภายใต้ความตกลงฯ กำหนดให้ไทยและออสเตรเลียเริ่มเปิดเสรีการค้าครอบคลุมสินค้าทุกรายการ รวมทั้งเปิดตลาดทั้งในด้านบริการ การลงทุน และความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างกัน รวมทั้งร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี เช่น มาตรการด้านสุขอนามัยที่เข้มงวดของออสเตรเลีย และมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และในสาขาต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และนโยบายการแข่งขัน เป็นต้น
ทั้งนี้ คาดได้ว่า ความตกลงนี้จะส่งผลให้ไทยและออสเตรเลียสามารถขยายการค้าทั้งในด้านสินค้าและบริการ และเพิ่มการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ไทยกับออสเตรเลียมีความสัมพันธ์โดยรวมที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมากล่าวถึง ก็เพราะว่า ในระยะหลังๆ นี้ เริ่มมีกระแสข่าวที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าไทยไปยังออสเตรเลียว่าเกิด “อุปสรรค” ทั้งที่ไทยและออสเตรเลียได้บรรลุและลงนามในความตกลงฯ ไปเรียบร้อยแล้ว และเห็นว่าประเด็นข่าวที่คลาดเคลื่อน อาจจะสร้างความกังวลให้แก่ผู้ประกอบการของไทยได้
ประเด็นข่าวที่ว่า ก็คือ กรณีที่มีผู้ส่งออกผลไม้ของไทยออกมาระบุว่ากำลังประสบปัญหาในการส่งออกผลไม้ไปยังตลาดออสเตรเลีย โดยออสเตรเลียมีการตรวจสอบสินค้านำเข้าอย่างเข้มงวด รวมถึงผลไม้ที่นำเข้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ได้แก่ ลำไย มังคุด และลิ้นจี่
โดยผู้ส่งออกรายดังกล่าวระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั่นคือ ออสเตรเลียจะสุ่มตรวจผลไม้จำนวน 600 ผล จากทุก ๆ 1,000 ผลของทุกบริษัทและทุกล็อตที่มีการนำเข้าออสเตรเลีย
ก่อนที่จะชี้ให้เห็นประเด็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้น อยากจะย้อนอดีตไปเล็กน้อยว่า ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย มีสาระสำคัญคร่าว ๆ อย่างไรบ้าง
ภายใต้ความตกลงฯ ดังกล่าว ครอบคลุมทั้งการเปิดเสรีสินค้า การบริการ และการลงทุนระหว่างกัน โดยในที่นี้จะขอยกสาระสำคัญเฉพาะการค้าสินค้าให้เห็นกันก่อน เพราะปัญหาของผู้ส่งออกรายดังกล่าวข้างต้นพูดถึงการส่งออกสินค้า
ทั้งนี้ ออสเตรเลียลดภาษีเป็น 0 ทันทีเมื่อความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ สำหรับสินค้ากว่า 83% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่นำเข้าจากไทย เช่น ผักและผลไม้สด สับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรด อาหารสำเร็จรูป รถยนต์ขนาดเล็กและรถปิกอัพ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ส่วนรายการสินค้าที่เหลืออีก 17% ออสเตรเลียจะยกเลิกภาษีภายในปี 2553 หรือ 2558 เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์ และสิ่งทอและเสื้อผ้า
ส่วนไทยจะลดภาษีเป็น 0 สำหรับสินค้าเกือบ 50% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่นำเข้าจากออสเตรเลีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบที่ต้องการนำเข้า เช่น สินแร่ เชื้อเพลิง เคมีภัณฑ์ หนังดิบและหนังฟอก เป็นต้น และจะทยอยลดภาษีเป็น 0 สำหรับรายการสินค้าที่เหลืออีก 45% ภายในปี 2553 ส่วนที่เหลือซึ่งเป็นสินค้าอ่อนไหวอีก 5 % เช่น สินค้า ปศุสัตว์ (เนื้อวัว เนื้อหมู นม เนย) ชา และกาแฟ จะทยอยลดเป็น 0 ในปี 2558 หรือ 2563
ขณะเดียวกัน ภายใต้ความตกลงฯ ยังได้ครอบคลุมถึงความร่วมมือด้านการค้า โดยไทยและออสเตรเลียได้ตกลงที่จะร่วมมือกันในด้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้การค้าระหว่างกันมีความโปร่งใสและคล่องตัวมากขึ้น เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการด้านมาตรการสุขอนามัยเพื่อแก้ไขปัญหาของสินค้าที่ติดมาตรการด้านสุขอนามัยพืชและสัตว์ในการนำเข้าให้ลุล่วงภายใน 2 ปี อาทิ ลิ้นจี่ ลำไย ทุเรียน เนื้อไก่ กุ้ง และปลายสวยงาม เป็นต้น
พร้อมทั้ง ร่วมมือกันในด้านพิธีการด้านศุลกากร มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา และนโยบายการแข่งขัน โดยให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการจัดฝึกอบรมและสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างบุคลากรของทั้งสองประเทศ การบังคับใช้ เป็นต้น
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่ผู้ส่งออกผลไม้ไทยประสบปัญหาในการส่งออกไปตลาดออสเตรเลียว่า กรมฯ ได้ประสานเป็นการภายในกับเจ้าหน้าที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติของออสเตรเลีย ซึ่งได้รับทราบข้อเท็จจริงว่า ตามขั้นตอนการดำเนินการของออสเตรเลีย จะทำการตรวจสอบโดยสุ่มตรวจผลไม้จำนวน 600 ผล จากจำนวนที่นำเข้า 1 ตู้คอนเทนเนอร์ นำไปส่องกล้องจุลทรรศน์
หากพบผลที่น่าสงสัยว่าจะมีการติดเชื้อโรค จึงจะผ่าพิสูจน์ ในกรณีที่ไม่พบสิ่งใด ก็สามารถนำเข้าได้เลย แต่ในกรณีเจอเชื้อโรค ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนการตรวจสอบ โดยการพิสูจน์ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ต่อไป
ดังนั้น การที่ผู้ส่งออกรายดังกล่าวระบุว่ามีการสุ่มตรวจ 600 ผล จากทุก 1,000 ผล อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และขณะนี้ทูตเกษตรของไทยประจำออสเตรเลียแจ้งว่า ยังไม่มีผู้ส่งออกของไทยรายใดร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวเลย
ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับออสเตรเลียมีทั้งสิ้น 172,389.83 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 47.17% โดยไทยส่งออกไปออสเตรเลีย 80,154.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.35% นำเข้าจากออสเตรเลีย 92,235.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.14% โดยเฉพาะลิ้นจี่สด และลำไยสดนั้น ไทยส่งออกไปออสเตรเลียในช่วง 8 เดือนแรกคิดเป็นมูลค่า 10.19 ล้านบาท และ 8.57 ล้านบาท ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม อยากจะฝากทิ้งท้ายว่า แม้ว่าออสเตรเลียกำหนดมาตรฐานสุขอนามัยที่สูง เพราะเขาเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยในการบริโภค แต่ถ้าผักผลไม้และอาหารไทยมีคุณภาพมาตรฐาน ได้ความเชื่อมั่นของคนออสเตรเลีย โอกาสที่จะขยายตลาดในระยะยาวมีสูง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าโดยรวมได้ทางหนึ่งด้วย
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-