เศรษฐกิจโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 7, 2005 15:15 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

          ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี  2547 ยังคงเผชิญกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั้งความเสี่ยงจากสถานการณ์การก่อการร้ายในภูมิภาคต่าง ๆ สถานการณ์ความไม่สงบในอิรัก  ราคาน้ำมันที่ยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา จีน  ฮ่องกง เป็นต้น แต่ญี่ปุ่นยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น  เนื่องจากภาวะเงินฝืดยังตึงตัวไม่คลี่คลาย ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัว ส่งผลให้เงินตราสกุลอื่นแข็งค่าขึ้น เช่น ยูโร เยน ไทย เป็นต้น  ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเข้าไปแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระยะ ๆ เพื่อสกัดไม่ให้เงินสกุลของตนแข็งค่าเร็วเกินไปจนกระทบต่อการส่งออก ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาวะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ผลิตในแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากภาวะการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยภาวะเศรษฐกิจสหภาพยุโรป และประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ได้แก่ จีน  สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง  มาเลเซีย เกาหลีใต้  ได้ขยายตัวดีขึ้น ในขณะที่อินโดนีเซียเศรษฐกิจค่อนข้างทรงตัว  แต่มีเพียงฟิลิปปินส์ที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่วนสหรัฐอเมริกาได้ชะลอตัวลงจากการใช้จ่ายภาคเอกชนมีแนวโน้มลดลง อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น อัตราการว่างงานที่ยังไม่ฟื้นตัว แต่ภาคการผลิตยังคงขยายตัวช้า ๆ อย่างต่อเนื่อง  อย่างไรก็ตามคาดว่าปี 2547 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 4 และชะลอลงเป็นร้อยละ 3.2 ในปี 2548
สำหรับประเด็นเศรษฐกิจโลกที่สำคัญในปี 2547 มีดังนี้
1. จากการที่สหรัฐอเมริกายังประสบปัญหาการขาดดุลแฝด (Twin deficits) ทั้งขาดดุล
งบประมาณและดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสถานการณ์ความมั่นคงด้านการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ ปัญหาการขาดแคลนเงินออม ปัญหาการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ความเชื่อถือในสกุลเงินของสหรัฐฯ ลดน้อยลง ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่ามากขึ้น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาได้ปรับอัตราดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งในรอบปี 2547 โดยได้ปรับเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 10 สิงหาคม 21 กันยายน และ 10 พฤศจิกายน 2547 โดยปรับอัตราดอกเบี้ยเฟดฟันด์ (Fed Funds) เป็นร้อยละ 1.25, 1.50, 1.75 และ 2 ตามลำดับ และปรับอัตราดอกเบี้ยดิสเคาท์เรท (Discount Rate) เป็นร้อยละ 2.25, 2.50, 2.75 และ 3 ตามลำดับ ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคต่าง ๆ มีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้นแต่เพิ่มขึ้นในอัตราช้า ๆ เพื่อลดปัญหาเงินไหลออกและรักษาเสถียรภาพทางการเงินในประเทศไม่ให้อัตราเงินเฟ้อสูงเกินไป
2. จากการที่จีนประกาศชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจแบบชะลอลงอย่างช้า ๆ (Soft Landing) ซึ่งจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเอเชียในระยะยาว โดยจีนจะชะลอการลงทุนและการส่งออก แต่จะใช้นโยบายปรับประสิทธิภาพการลงทุนเพื่อการส่งออกสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น รวมทั้งยกระดับเสถียรภาพทางการเงินและการคลังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจให้มีความมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว โดยเน้นให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีรากฐานทางการศึกษาที่ดีและมีงานทำ นำไปสู่การจ้างงานและรายได้ เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมในสังคม นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตามปรากฏว่าในปี 2547 การบริโภคภายในประเทศ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของจีนยังคงขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง
3. สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงขับเคลื่อนไปได้ดีโดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2547 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวจากความต้องการสินค้าของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การปรับปรุงประสิทธิภาพของแรงงานทำให้อัตราค่าจ้างสูงขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มที่ดีจากภาวะธุรกิจที่แจ่มใสขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยยังไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากภาวะเงินฝืดที่ยังไม่ผ่อนคลาย ทำให้อัตราเงินเฟ้อคงที่อยู่ในระดับต่ำ
4. สำหรับสถานการณ์การค้าโลกในปี 2547 เมื่อพิจารณาประเทศเศรษฐกิจหลักที่สำคัญพบว่าในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2547 สหรัฐอเมริกามีมูลค่าสินค้าส่งออก 576,547.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้า 1,208,135.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขาดดุลการค้า 531,588.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุดถึง 131,083.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ญี่ปุ่นมีมูลค่าสินค้าส่งออก 465,089.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้า 370,739.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เกินดุลการค้า 94,350.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกามากที่สุดถึง 52,216.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับจีนนั้นมีมูลค่าสินค้าส่งออก 468,937.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้า 457,073.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เกินดุลการค้า 11,863.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจีนจะเกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกาและยุโรปจำนวน 62,984.6 และ 27,326.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ แต่จะขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่น อาเซียน และไทย จำนวน 18,840.8 17,449.5 และ 4,948.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา
ในปี 2547 IMF คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.3 โดยเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง จากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลงเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ได้ปรับตัวสูงขึ้น และการจ้างงานที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนตุลาคมปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 87.5 จากร้อยละ 94.2 ในเดือนกันยายน และในเดือพฤศจิกายน ได้ปรับไปอยู่ที่ระดับ 92.8 หลังจากการชนะเลือกตั้งของประธานาธิบดีจอร์จดับเบิลยูบุช ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันลดลงและการจ้างงานที่ฟื้นตัวขึ้น
สำหรับภาคการผลิตยังมีแนวโน้มขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเดือนกันยายนขยายตัว ร้อยละ 4.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วตามการผลิตคอมพิวเตอร์และเครื่องจักรที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing Index) ในเดือนกันยายน ปรับลงมาอยู่ที่ระดับ 58.5 จากระดับ 62.0 และ 59.0 ในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ตามลำดับ
ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนกันยายนอยู่ในระดับร้อยละ 77.3 ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับเดือนสิงหาคมที่อยู่ที่ร้อยละ 77.1
การขาดดุลแฝด (Twin deficits) ทั้งดุลงบประมาณและดุลบัญชีเดินสะพัดยังเป็นปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยในปีงบประมาณ 2547 ดุลงบประมาณขาดดุลรวม 412.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าปี 2546 ที่ขาดดุล 377.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2547 มีมากถึงร้อยละ 5.7 ของ GDP และคาดว่าในปี 2548 จะมากถึงร้อยละ 6.2 ของ GDP ซึ่งการขาดดุลดังกล่าวเป็นผลจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ส่งผลให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลสำคัญ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบปี 2547 จำนวน 4 ครั้ง โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบปี 2547 จำนวน 4 ครั้ง โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดฟันด์ (Fed Funds) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน วันที่ 10 สิงหาคม วันที่ 21 กันยายน และวันที่ 10 พฤศจิกายน 2547 เป็นร้อยละ 1.25, 1.50, 1.75 และ 2 ตามลำดับ และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดิสเคาท์เรท (Discount Rate) เป็นร้อยละ 2.25, 2.50, 2.75 และ 3 ตามลำดับ
สำหรับปี 2548 การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนจะเริ่มชะลอลง ทำให้ คาดว่าปี 2548 เศรษฐกิจจะขยายตัวเพียงร้อยละ 3.5
เศรษฐกิจจีน
เศรษฐกิจจีนในปี 2547 ธนาคารโลกคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.8 โดยเศรษฐกิจในภาพรวมอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง จากการบริโภคภาคเอกชนที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ทั้งในเมืองและชนบท โดยยอดค้าปลีกในประเทศใน 9 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 13
สำหรับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนเดือนตุลาคมขยายตัวร้อยละ 15.7 ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมาตรการจำกัดการให้สินเชื่อในบางภาคอุตสาหกรรมของรัฐบาล โดยการผลิตเหล็กและซีเมนต์มีแนวโน้มชะลอลงมาอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ นอกจากนี้การผลิตรถยนต์หดตัวมากถึงร้อยละ 14.2 อย่างไรก็ตามการผลิตในภาคพลังงานขยายตัวเร่งขึ้น และการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกยังขยายตัวอยู่ในระดังสูง
การส่งออกเดือนตุลาคมขยายตัวร้อยละ 28.4 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 33.1 และการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 29.3 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 22.1 จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
จีนยังประสบปัญหาแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 5.2 เป็นผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาอาหารที่สูงขึ้น โดยราคาอาหารสูงขึ้นร้อยละ 13.9 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม สำหรับราคาสินค้าผู้ผลิตเดือนตุลาคมขยายตัวร้อยละ 8.4 สูงที่สุดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2539 เนื่องจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น
การออกมาตรการชะลอเศรษฐกิจของทางการจีนไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศยังคงไหลเข้าจีนอย่างต่อเนื่องและการลงทุนจริง(FDI) ช่วง 9 เดือนแรกมีมูลค่ารวม 48.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ การค้าและการลงทุนจากต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นเป็น 514.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ณ สิ้นเดือนกันยายน
ธนาคารกลางจีนได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมและเงินฝากโดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มจากร้อยละ 5.31 เป็นร้อยละ 5.58 และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มจากร้อยละ 1.98 เป็นร้อยละ 2.25 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2547 เป็นต้นมา การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาการลงทุนที่ยังอยู่ในระดับสูง
สำหรับปี 2548 ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะยังขยายตัวได้ร้อยละ 9
เศรษฐกิจญี่ปุ่น
เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงขยายตัวต่อเนื่องอย่างช้า ๆ โดยคาดว่าปี 2547 จะขยายตัวร้อยละ 3.6 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกสินค้าประเภทกล้องถ่ายภาพดิจิตอล ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โทรทัศน์ และรถยนต์ ทั้งนี้การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 17.9 เทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว เร่งขึ้นจากร้อยละ 15.1 ในไตรมาสที่ 1/2547 อย่างไรก็ตามการส่งออกเริ่มมีแนวโน้มชะลอลง โดยในเดือนสิงหาคมขยายตัวร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกของญี่ปุ่น
แม้ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคมขยายตัวร้อยละ 9.4 แต่ยังมีความเสี่ยงในเรื่องการสะสมสินค้าคงคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ซึ่งหากมีสินค้าคงคลังมาก ๆ แต่ไม่ได้มียอดสั่งซื้อก็จะทำให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
สำหรับการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 2/2547 ยังทรงตัวจากไตรมาสที่ 1/2547 สะท้อนการบริโภคของภาคครัวเรือนที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ร้อยละ 4.8 เทียบกับช่วงต้นปีที่ร้อยละ 5.0 ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 49.2 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2534 นอกจากนี้ความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากรายได้และความมั่งคั่ง (Wealth) จากการเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์ในญี่ปุ่น
ทางด้านการลงทุน ผลสำรวจความเห็นบริษัทญี่ปุ่น (Tankan) ซึ่งเป็นดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้นมาก โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2547 ดัชนีที่สำรวจเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่(LargeManufacturing Firms) ขยายตัวร้อยละ 26.0 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 12.0 และ 22.0 ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ตามลำดับ โดยเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีทิศทางการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น สอดคล้องกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ Nikkei ที่ปรับสูงขึ้นสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เงินฝืดของญี่ปุ่นยังคงไม่คลี่คลาย โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานในเดือนสิงหาคมยังคงลดลงร้อยละ 0.2 และ 0.2 ตามลำดับ เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 0.1 และ 0.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นยืนยันที่จะดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปจนกว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะมีเสถียรภาพเหนือระดับศูนย์ โดยคาดว่าปีงบประมาณ 2548 จะเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อและอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 0.1
แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับดีขึ้น แต่ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในระยะต่อไป ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงไม่มั่นใจในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจว่าจะยั่งยืน สะท้อนมาที่ค่าเงินเยนเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาที่เคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน และโดยรวมแล้วอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน เงินเยนได้แข็งค่าขึ้นจากเงินเหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่าลง ทั้งนี้คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะสั้นยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ชะลอลงเล็กน้อยในครึ่งหลังของปี 2547 เนื่องจากยังคงมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายในจากการสะสมสินค้าคงเหลือโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจากปัจจัยภายนอก ทั้งการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และการชะลอลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของญี่ปุ่น (สหรัฐฯ และจีน)
สำหรับปี 2548 แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะชะลอตัวลง โดยคาดว่าจะขยายตัวไม่เกินร้อยละ 3
เศรษฐกิจสหภาพยุโรป
เศรษฐกิจสหภาพยุโรปยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างช้า ๆ โดยภาคการส่งออกมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการลงทุนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ยังขยายตัวดี ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงจากผลกระทบของราคาน้ำมัน
สำหรับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูง ส่งผลให้เดือนตุลาคมอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ซึ่งสะท้อนว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังไม่มีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้หากราคาน้ำมันยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อไป คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าที่ร้อยละ 2.2 ต่อไปจนถึงต้นปี 2548
สำหรับดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคมลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน นอกจากนี้ดัชนีการผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production Index) ในเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เทียบกับเดือนที่แล้ว และชะลอลงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นผลจากการผลิตในภาคพลังงานและ Non durable consumer goods ที่ชะลอลง ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการได้ปรับลดลงเช่นเดียวกัน โดยเดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 54.5 เทียบกับ 55.3 ในเดือนกรกฎาคม โดย PMI ภาคบริการของทุกประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปล้วนชะลอตัวทั้งสิ้น
ถึงแม้ว่าค่าเงินยูโรจะมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น อันจะกระทบต่อภาวะการส่งออกและการฟื้นตัวในปีหน้า อย่างไรก็ตามกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มการประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรปในปี 2547 จากร้อยละ 1.7 เป็นร้อยละ 2.0 และประมาณการการขยายตัวในปี 2548 ไว้ที่ร้อยละ 2.3
เศรษฐกิจอาเซียน
สิงคโปร์ เศรษฐกิจสิงคโปร์มีแนวโน้มขยายตัวดีในปี 2547 เป็นผลจากการขยายตัวของการส่งออกจากอุปสงค์ต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเวชภัณฑ์ ขณะที่อุปสงค์ภายในค่อย ๆ ฟื้นตัว โดยการส่งออกสินค้า Non-oil Domestic Exports ในเดือนสิงหาคมขยายตัวร้อยละ 31.9 เร่งขึ้นจากเดือนกรกฎาคมที่ขยายตัวร้อยละ 20.5 โดยการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 27 และสินค้าที่ไม่ใช่อิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 37.4
สำหรับอัตราเงินเฟ้อเริ่มเพิ่มขึ้นโดยอัตราเงินเฟ้อเดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 2.0 เทียบกับเดือนสิงหาคมที่ร้อยละ 6 อย่างไรก็ตามธนาคารกลางสิงคโปร์ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด เพื่อรักษาเสถียรภาพของเงินเฟ้อต่อไปโดยการปล่อยให้ค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ค่อย ๆ แข็งค่าขึ้นทีละน้อย เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า
ทั้งนี้สิงคโปร์ได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2547 เท่ากับร้อยละ 8 — 9 และในปี 2548 คาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 3-5 เท่านั้น
มาเลเซีย
เศรษฐกิจมาเลเซียในปี 2547 มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการส่งออกยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มสูงขึ้น แม้จะมีสัญญาณแสดงถึงการชะลอตัวลงตามดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production Index) ที่ชะลอตัวลง โดยขยายตัวร้อยละ 9.8 ในเดือนกันยายนเทียบกับเฉลี่ยร้อยละ 10.8 ใน 2 เดือนก่อนหน้า แต่ภาคการผลิตและภาคบริการก็ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนการนำเข้าเดือนกันยายนขยายตัวร้อยละ 34.9 ทางด้านอุปสงค์ ภายในประเทศยังขยายตัวได้ดี โดยยอดขายรถยนต์ในเดือนสิงหาคมได้เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 12.8 ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.6 ในเดือนกันยายน เทียบกับร้อยละ 1.4 ในเดือนสิงหาคม สำหรับการขาดดุลงบประมาณนั้น มาเลเซียคงใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลต่อไปโดยไม่สามารถเข้าสู่ภาวะงบประมาณสมดุลในปี 2549 ตามกำหนดได้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามมาเลเซียได้ปรับเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2547 จากร้อยละ 6 — 6.5 เป็นร้อยละ 7
ฟิลิปปินส์
เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในปี 2547 ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน โดยครึ่งแรกปี 2547 ยังขยายตัวค่อนข้างดี อยู่ที่ร้อยละ 6.3 ทั้งนี้ปัจจัยหลักมาจากการส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้นบ้าง สำหรับภาคเกษตรกรรมอยู่ในภาวะชะลอตัวลง
ด้านอัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ยังคงเร่งตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ร้อยละ 6.3 จากร้อยละ 6 ในเดือนกรกฎาคม และยังเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบกว่า 3 ปี ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และการปรับขึ้นค่าโดยสารในประเทศ อย่างไรก็ตามธนาคารกลางฟิลิปปินส์ยังยืนยันว่าจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้เพื่อชะลอแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ เนื่องจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลจากด้านอุปทาน สำหรับอุปสงค์ภายในประเทศยังคงอ่อนแออยู่
อย่างไรก็ดีอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 5 ปี เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปีจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 5 ปี และการเข้มงวดการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อรักษาฐานะทางการคลังให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยคาดว่าปี 2547 เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 4.9 — 5.8 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
อินโดนีเซีย
เศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2547 ค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากการใช้จ่ายของภาครัฐและภาคเอกชนชะลอตัวลง ประกอบกับการส่งออกยังขยายตัวไม่มาก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันที่ต้องแข่งขันกับสินค้าส่งออกต้นทุนต่ำจากจีนและอินเดีย
สำหรับแรงกดดันด้านภาวะเงินเฟ้อยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากด้านราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและน้ำมัน โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 6.3 เทียบกับร้อยละ 6.7 เมื่อเดือนสิงหาคม และคาดว่าสิ้นปี 2547 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 7-7.5 เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ ต้นปี 2547 ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4 — 5 เท่านั้น
ด้านเสถียรภาพทางการเงินนั้น ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ปรับเพิ่ม reserve requirement ของธนาคารพาณิชย์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 ที่ผ่านมา เพื่อลดสภาพคล่องในระบบและรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน ส่งผลให้เงินรูเปียห์แข็งค่าขึ้นจากประมาณ 9,400 รูเปียห์ต่อเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ 8,800 — 9,000 รูเปียห์ต่อเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม และได้อ่อนค่าลงบ้างในเดือนสิงหาคมที่ 9,370 รูเปียห์ต่อเหรียญสหรัฐฯ แต่กลับแข็งค่าขึ้นในเดือนกันยายน อยู่ที่ 9,110 รูเปียห์ต่อเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ธนาคารอินโดนีเซียคาดว่าค่าเงินรูเปียห์ จะแข็งค่าไปอยู่ที่ระดับ 8,800 รูเปียห์ต่อเหรียญสหรัฐฯ ได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี เนื่องจาก คาดว่าจะเริ่มมีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเสร็จสิ้น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซียคาดว่าเศรษฐกิจในปี 2547 จะขยายตัวร้อยละ 4.8 และคาดว่าปี 2548 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.4
เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชีย
ไต้หวัน ไต้หวันปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2547 จากเดิมร้อยละ 5.87 เป็นร้อยละ 5.93 จากการส่งออกที่ขยายตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก ที่สูงขึ้นต่อเนื่อง และการลงทุนของภาคเอกชนที่ขยายตัวสูง แต่เดือนสิงหาคมสถานการณ์ได้พลิกผันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น ทำให้การส่งออกในเดือนสิงหาคมขยายตัวร้อยละ 20 ชะลอจากเดือนกรกฎาคมที่ขยายตัวร้อยละ 26.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการหยุดทำงานของภาคการผลิตในช่วงเกิดพายุ โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสารมีการส่งออกลดลงชัดเจน อีกทั้งการส่งออกอาจชะลอตัวได้อีกจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดลง สำหรับการนำเข้าในเดือนสิงหาคมขยายตัวร้อยละ 33.7 เทียบกับเดือนกรกฎาคมที่ขยายตัวร้อยละ 32.9 ซึ่งเป็นการนำเข้าสินค้าทุนสำหรับใช้ในการผลิต
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2547อยู่ที่ร้อยละ 1.8 โดยมีปัจจัยจากราคาน้ำมันในตลาดโลกและวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และคาดว่าเงินเฟ้อปี 2548 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.9 และจากการที่สหรัฐอเมริกาได้ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้ประชาชนไต้หวันหันไปลงทุนตราสารสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ธนาคารกลางไต้หวันจึงปรับอัตราดอกเบี้มาตรฐานเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 1.375 เป็นร้อยละ 1.625 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2547 สำหรับปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 4.56
ฮ่องกง
เศรษฐกิจฮ่องกงในปี 2547 ขยายตัวดีขึ้น เป็นผลจากการบริโภคในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามภาวะการจ้างงาน (โดยล่าสุดการว่างงานของเดือนสิงหาคมปรับลดลงอยู่ที่ร้อยละ 6.8 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 30 เดือน) และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในสินค้าทุนและเครื่องจักร การส่งออก การท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวกับประเทศจีนที่ขยายตัวดี ประกอบกับภาวะเงินฝืดและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มมีประสิทธิภาพโดยอัตราเงินเฟ้อปรับตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ร้อยละ 0.9 หลังจากที่ตกอยู่ในภาวะเงินฝืดนานถึง 69 เดือน ซึ่งนับเป็นการตกอยู่ในภาวะเงินฝืดที่นานที่สุดในประวัติศาสตร์แต่ธนาคารกลางฮ่องกงกลับปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 2.75 จากร้อยละ 2.5 ทั้งนี้ทางการฮ่องกงได้ปรับเพิ่มการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2547 เป็นร้อยละ 7.5 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 6.0
สำหรับปี 2548 เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงโดยขยายตัวเพียงร้อยละ 4.0 เท่านั้น ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจะกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้น ทำให้กำไรลดลง
เกาหลีใต้
เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 2547 ยังชะลอตัวอย่างช้า ๆ เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนยังหดตัวจากปัญหาหนี้บัตรเครดิตในภาคครัวเรือน ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายลง ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี จะเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 88 ลดลงจาก 88.9 ในเดือนกันยายน และยอดขายสินค้าของห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดสามแห่งในเดือนสิงหาคมลดลงร้อยละ 2.3 ประกอบกับการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนที่ชะลอตัวลง รวมทั้งราคาน้ำมันที่สูง โดยเกาหลีใต้ได้ดำเนินนโยบายทั้งด้านการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ โดยเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2547 และ 11 พฤศจิกายน 2547 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (overnight call rate) ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 และ 3.25 ตามลำดับ เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ และกระทรวงการคลังได้ลดภาษีรายได้และภาษีดอกเบี้ยและเงินปันผลลงอย่างร้อยละ 1 ซึ่งผลจากมาตรการต่าง ๆ เริ่มแสดงผลบ้าง โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากราคาน้ำมันได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตได้ปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ทางการเกาหลีใต้ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2547 ขยายตัวร้อยละ 5 เทียบกับปี 2546 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.1
สรุปภาวะเศรษฐกิจโลกปี 2547 และแนวโน้มปี 2548
ในปี 2547ภาวะเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคของโลกยังมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น จากจีนที่แม้จะประกาศชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจแต่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี สหภาพยุโรปที่ยังฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างช้า ๆ จากการส่งออก รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์ที่มีแนวโน้มขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย ก็ยังขยายตัวในทิศทางที่ดี สำหรับอินโดนีเซียเศรษฐกิจค่อนข้างทรงตัว ในขณะที่ฟิลิปปินส์ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน ทางด้านสหรัฐอเมริกาเศรษฐกิจชะลอตัวจากการบริโภคของภาคเอกชน และอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง แต่ทางด้านการผลิตยังคงขยายตัวช้า ๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 4 ในปี 2547
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ