1. เศรษฐกิจไทยในปี 2548 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.25-6.25 ส่วนปี 2547 GDP ของไทยขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 6.3
2. ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญอันดับที่ 23 ของโลก ในปี 2547 มีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 1.13 ของการส่งออกรวมในตลาดโลก(ปี 2546 ไทยอยู่อันดับที่ 23 สัดส่วนร้อยละ 1.16)
3. ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าสำคัญอันดับที่ 23 ของโลก ของปี 2547 มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณร้อยละ 1.66 ของการนำเข้าในตลาดโลก
4. การค้าของไทยในเดือน ม.ค.-ก.ค 2548 มีมูลค่า 130,935.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.89 แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 61,348.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.67 การนำเข้ามีมูลค่า 69,586.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.18 ไทยเสียเปรียบดุลการค้า เป็นมูลค่า 8,237.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
5. กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกในปี 2548 ที่มูลค่า 115,837 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 การส่งออกเดือน ม.ค.-ก.ค. 2548 มีมูลค่า 61,348.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.89 หรือคิดเป็นร้อยละ 52.96 ของเป้าหมายการ ส่งออก
6. สินค้าส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรก สัดส่วนรวมกันร้อยละ 83.16 ของมูลค่าการส่งออกเดือน ก.ค. 2548 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง มีดังนี้
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 มี 2 รายการ คือ ไก่แปรรูป และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.35 และ 55.20 ตามลำดับ
7. ตลาดส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรก สัดส่วนรวมกันร้อยละ 95.93 ของมูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค.-ก.ค. 2548 ตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง มีดังนี้
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 1 ตลาด ได้แก่ อาร์เจนตินา โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 268.5
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 มี 5 ตลาด ได้แก่ อินเดีย ตุรกี นิวซีแลนด์ ออสเตรียและสาธารณรัฐเช็ก โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 71.95, 55.89, 68.65,50.40 และ 50.69 ตามลำดับ
8. การนำเข้า
8.1 สินค้านำเข้ามีสัดส่วนโครงสร้างดังนี้
- สินค้าเชื้อเพลิง สัดส่วนร้อยละ 18.00 เพิ่มขึ้นร้อยละ 79.17
- สินค้าทุน สัดส่วนร้อยละ 27.80 เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.15
- สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สัดส่วนร้อยละ 43.19 เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.23
- สินค้าบริโภค สัดส่วนร้อยละ 6.38 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.32
- สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง สัดส่วนร้อยละ 3.45 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.33
- สินค้าอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 1.17 เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.93
8.2 แหล่งนำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก
มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 68.40 ของมูลค่าการนำเข้าเดือน ก.ค. 2548 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ซาอุดีอาระเบีย เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย สัดส่วนร้อยละ 21.94, 9.25, 7.28, 7.06, 5.04, 4.49, 3.77, 3.39, 3.31 และ 2.87 โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 18.30, 47.21, 21.16, 58.31, 100.48, 28.08, 11.17, 77.53, 6.55 และ 69.52 ตามลำดับ
9. ข้อคิดเห็น
1. นาย Richard T. Ong ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโกลด์แมน แซคส์ เปิดเผยในโอกาสที่ได้เข้าพบ ดร.ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเข้มแข็ง การส่งออกสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ทั้งนี้ บริษัท สนใจที่จะลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ สำหรับการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย นั้น ยังไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด ส่วนโครงการเมกะโปรเจกต์ที่นักลงทุนค่อนข้างให้ความสนใจนั้น นาย Richard T. Ong กล่าวด้วยว่า นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้นเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีนโยบายติดตามการลงทุนอย่างใกล้ชิด ส่วนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ นักลงทุนได้ให้ความสนใจในการแปรรูปเป็นอย่างมากและเชื่อมั่นในสถานภาพของธุรกิจไทย
2. ดร.ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเศรษฐกิจของไทยในปี 2548 จะขยายตัวเกิน 4% แน่นอน เนื่องจากตัวเลขการขาดดุลการค้าในเดือนกรกฎาคม ลดลงเหลือ 84.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังไม่ได้มีการประเมินตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดใหม่ แม้จะเชื่อว่าครึ่งปีหลังตัวเลขการนำเข้าจะลดลงและการส่งออกจะขยายตัวมากขึ้น ขณะที่การประหยัดพลังงานมีมากขึ้น โดยยืนยันตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไว้ที่ไม่เกิน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ จะได้มีการหารือกับหน่วยงานเศรษฐกิจ อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช) ว่ามีแนวคิดอย่างไรกับสภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ ส่วนแนวโน้มการประหยัดพลังงานในประเทศและการเร่งนำพลังงานทดแทนมาใช้นั้น รัฐบาลจะเร่งการนำก๊าซเอ็นจีวี มาใช้และจะลดภาษีการนำเข้าถังแก้สซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้ และเชื่อมั่นได้ว่าในครึ่งปีหลังดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะเป็นบวกอย่างแน่นอน
- ด้าน ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงดุลการค้าของเดือนกรกฎาคม ว่าที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงเหลือ 84 ล้านดอลลาร์ว่าเป็นสิ่งที่ดีและส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนกรกฎาคมเกินดุลได้ แต่โดยรวมทั้งปีแล้วจะไม่เกินดุลแต่จะขาดดุลน้อยกว่าเดิม ซึ่งจะต้องรอดูตัวเลขดุลการค้าในเดือนสิงหาคมก่อน ขณะที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ไปบรรยายพิเศษให้แก่ทูตไทยในประเทศต่างๆ เมื่อค่ำวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมาถึงสาเหตุและสิ่งที่ต้องระวังเศรษฐกิจไทย รวมถึงกลยุทธ์ระยะยาวและสั้นในการประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป โดยเน้นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และการหาตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ราคาน้ำมันว่าจะยังไม่ลดลงใน 3 ปีข้างหน้า
- อย่างไรก็ตาม ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ขอความร่วมมือกับรัฐมนตรีในทุกกระทรวงว่าขอให้ช่วยดูแลปริมาณการขาดดุลการค้าให้กลับมาอยู่ในภาวะที่สมดุลหรือเกินดุลเล็กน้อยให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กลับคืนมเพราะในช่วงที่ผ่านมาความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจได้ลดลงเนื่องจากดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุล
3. นายวิจักร วิเศษน้อย รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในขณะที่ประเทศไทยประสบปัญหาการขาดดุลการค้า การนำระบบการค้าแบบหักบัญชี (Account Trade) มาใช้จะเป็นมาตรการเสริมที่จะช่วยเพิ่มการค้าและลดการขาดดุลได้ เนื่องจากการค้าแบบหักบัญชียังไม่ต้องชำระเงินทันทีที่มีการซื้อสินค้าแต่จะมีการลงบัญชีเอาไว้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่ทั้งสองได้ตกลงกันไว้ก็จะมีการหักกลบลบหนี้ โดยลูกหนี้จะชำระหนี้เฉพาะส่วนต่างชของมูลค่าสินค้าที่ซื้อขายพร้อมดอกเบี้ยตามสกุลเงินที่ได้ตกลงกันไว้
สำหรับประเทศไทย ได้มีการลงนามในโครงการ Account Trade แล้ว ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกีนี ซิมบับเว เกาหลีเหนือ ปากีสถาน สหภาพพม่า บังกลาเทศ และอิหร่าน ในส่วนของไทยมีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เป็นธนาคารตัวแทนในการทำธุรกิจ และมีธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งเข้าร่วมโครงการ เช่น ธนาคารทหารไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงเทพ กรุงศรีอยุธยา เป็นต้น
4. แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ได้รับแจ้งจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าในครึ่งปีแรกของปี 2548 หน่วยงานอาหารและยา หรือ FDA ของสหรัฐได้ปฎิเสธการนำเข้าสินค้าภายใต้การควบคุมของ FDA รวมทั้งสิ้น 10,286 รายการ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 589 รายการ โดยประเทศที่ถูกปฎิเสธการนำเข้ามากที่สุดได้แก่ เม็กซิโก 1,552 รายการ อินเดีย 1,062 รายการ และจีน 1,039 รายการ สำหรับไทย นั้นถูกปฎิเสธการนำเข้า 204 รายการ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 46 รายการ ส่วนมากเป็นสินค้าประเภทอาหาร โดยส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล ซอสต่างๆ และเครื่องดื่ม ซึ่งเหตุผลของ FDA ปฎิเสธการนำเข้ามากที่สุด คือ ความสกปรกและมีสิ่งเจือปนรวม 117 ครั้ง เหตุผลต่อมาคือ โรงงานผลิตไม่ได้แจ้งกระบวนการผลิตไว้กับ FDA ตามกฎหมาย รวม 46 ครั้ง และอีกเหตุผลคือ โรงงานผลิตสินค้าอาหารกระป๋องไม่ได้ขอหมายเลข FCE ( คือ การจดทะเบียนโรงงานกับสหรัฐเพื่อให้ความมั้นใจว่าสินค้าได้ผ่านกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย) ไว้กับ FDA รวม 34 ครั้ง
5. จากการที่กุ้งไทยถูกฟ้องการทุ่มตลาด (AD) จากสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐได้มีการประเมินอัตราภาษีเอดีไว้ที่ 5.95% ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกกุ้งจากไทยเนื่องจากผู้ส่งออกของไทยจะต้องมีการจ่ายภาษีประเมินที่ 5.95% ที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐกำหนดไว้แล้วยังจะต้องให้ผู้นำเข้าสินค้ากุ้งค้ำประกันการนำเข้าหรือที่เรียกว่า ซี บอนด์ (Continuous Bond) ในวงเงินที่สูงโดยคิดจากยอดนำเข้าตลอดปีที่ผ่านมาคูณด้วยอัตราภาษีประเมินเท่ากับว่าจะต้องจ่ายภาษีล่วงหน้าสำหรับยอดนำเข้าตลอดปีที่ผ่านมาด้วย ในทางกฎหมายของสหรัฐทั้งภาษีนำเข้าเอดีและการวางซีบอนด์ ดังกล่าว กำหนดให้ผู้นำเข้าเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ในทางปฎิบัติไม่ได้เป็นเช่นนั้น ผู้นำเข้าปัดภาระให้แก่ผู้ส่งออกของไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้ส่งออกจะต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าด้วยเพื่อรับต้นทุนทางการเงิน ที่สำคัญต้องเจอกับปัญหาที่ไม่สามารถไปวางซีบอนด์นี้ได้ เนื่องจากมีมูลค่าที่สูงมาก โดยไม่ทราบกำหนดว่าจะได้คืนเมื่อใด ปัญหาที่เกิดขึ้นหากนำราคากุ้งไทยซึ่งถูกมาตรการเอดีไปเปรียบเทียบกับประเทศที่ไม่มีเอดี ได้แก่ อินโดนีเซีย ราคาจะแตกต่างกันประมาณ 20% ทั้งที่ความเป็นจริงราคาควรจะห่างกันเพียง 6% เท่านั้น
ที่มา: http://www.depthai.go.th