สรุปการประชุมระดมสมอง เรื่อง ข้อตกลงเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 10, 2005 15:31 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

                สรุปการประชุมระดมสมอง เรื่อง ข้อตกลงเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา 
ภายใต้โครงการศึกษาผลกระทบและแนวทางการปรับตัวของ SMEs ไทย
ต่อการทำข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกา
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กำหนดจัดการประชุมระดมสมอง เรื่อง ข้อตกลงเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้โครงการศึกษาผลกระทบและแนวทางการปรับตัวของ SMEs ไทยต่อการทำข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกา ในวันอังคารที่ 25 มกราคม 2548 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องนิลุบล โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ โดยมีคุณยงยศ พรตปกรณ์ และคุณวัชรพงษ์ พงษ์บริบูรณ์ เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุม สรุปประเด็นหารือที่สำคัญได้ ดังนี้
1. ทรัพย์สินทางปัญญาที่สำคัญของไทย คือ ลิขสิทธิ์ (Copy Right) สิทธิบัตร (Patent) และเครื่องหมายการค้า (Trademarks) และสหรัฐฯให้ความสำคัญอย่างมากในประเด็น ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร
2. กฎหมายลิขสิทธิ์ไทย คุ้มครองงานด้านวรรณกรรม (รวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์) งานนาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรี โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง และงานแพร่เสียงแพร่ภาพ โดยให้การคุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอายุต่อไปอีก 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
3. สิทธิบัตร เป็นการคุ้มครองการประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะดังนี้ คือ เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ (new) มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น (inventive step) และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรม (industrial application) โดยกฎหมายไทยให้การคุ้มครองเป็นเวลา 20 ปี นับแต่วันขอรับสิทธิบัตร
4. กฎหมายไทย คุ้มครองเครื่องหมายการค้า 4 ประเภท คือ เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง และเครื่องหมายร่วม โดยมีอายุการคุ้มครอง 10 ปี นับแต่วันที่ยื่นขอคำจดทะเบียนและต่ออายุได้ทุก 10 ปี
5. สนธิสัญญาที่ไทยเป็นภาคี ได้แก่ สนธิสัญญา WIPO Convention, Berne Convention และ TRIPS Agreement
6. TRIPS Agreement กำหนดมาตรฐานคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในด้านสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์และสิทธิ์ข้างเคียง เครื่องหมายการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ความลับทางการค้า การบังคับใช้กฎหมาย และการออกแบบวงจรรวม
7. การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ให้การคุ้มครองสินค้า 2 ประเภท คือ Wine และ Whisky โดยประเทศภาคีพยายามผลักดันให้ขยายการคุ้มครองประเภทสินค้าเพิ่มขึ้น
8. ข้อตกลง FTA ของสหรัฐฯ มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดกว่าความตกลง TRIPS เรียกว่า TRIPS-plus หรือ Doha minus โดยให้การคุ้มครองในด้านลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า การใช้ชื่อโดเมนบนอินเตอร์เน็ต และการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมทั้งระบุให้ประเทศคู่สัญญาเข้าเป็นภาคีสมาชิกของ UPOV, WIPO และ Patent Cooperation Treaty ซึ่งไทยไม่ได้เป็นภาคีสมาชิก
9. ประเด็นลิขสิทธิ์ภายใต้ FTA ของสหรัฐฯ ให้สิทธิแก่เจ้าของลิขสิทธิ์แต่ผู้เดียวในการแพร่ผลงานต่อสาธารณะ ให้การคุ้มครองมาตรการทางเทคนิค (การเข้ารหัสข้อมูลเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์) และข้อมูลที่ใช้ในการบริหารสิทธิ และขยายอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์จาก 50 ปี เป็น 70 ปีหลังผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต
10. ประเด็นสิทธิบัตรภายใต้ FTA ของสหรัฐฯ ให้ขยายการคุ้มครองสิทธิให้ครอบคลุมการประดิษฐ์ทุกประเภท รวมถึงพืชและสัตว์ ซอฟต์แวร์ และวิธีการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้ซอฟต์แวร์และอินเตอร์เน็ต และการคุ้มครอง Test data ที่เอกชนได้ยื่นต่อรัฐในการขอขึ้นทะเบียนเป็นเวลา 5 ปีในยา และ 10 ปีในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
11. ประเด็นเครื่องหมายการค้า ภายใต้ FTA ของสหรัฐฯ ให้ขยายการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าครอบคลุมถึงสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และเครื่องหมายที่ไม่อยู่ในรูปที่มองเห็นได้ เช่น เครื่องหมายกลิ่น เสียง พร้อมทั้งกำหนดใช้กระบวนการของ ICANN ในการระงับข้อพิพาทเรื่องชื่อโดแมน
12. ประเด็นการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ FTA ไทย-สหรัฐฯ ระบุให้มีการเผยแพร่กฎหมาย ข้อบังคับและกระบวนต่าง ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาต่อสาธารณชน และเจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ต้องร้องขอจากผู้เสียหาย ในการป้องกันสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ผ่านเข้าประเทศ
13. ผลกระทบของข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้ FTA ของสหรัฐฯ ดังนี้
1) สิทธิบัตรทั้งหมดมีจำนวน 30 ล้านฉบับ และเป็นสิทธิบัตรที่จดในไทยจำนวนร้อยละ 0.05 ของสิทธิบัตรทั้งหมด ซึ่งไทยสามารถใช้ทรัพย์สินที่จดสิทธิบัตรจำนวนร้อยละ 99.95 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดังนั้น จึงเป็นการลดโอกาสในการใช้เทคโนโลยีในคลังสิทธิบัตรต่างประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
2) ลดโอกาสของประชาชนในการเข้าถึงยา และเพิ่มภาระของรัฐในการบริการสาธารณสุข
3) ขยายการให้สิทธิผูกขาดในสิ่งมีชีวิต และกระตุ้นให้เกิดการเร่งเข้าถึงทรัพยากรด้านพันธุกรรมในประเทศกำลังพัฒนา
4) เพิ่มต้นทุนในการศึกษาและต้นทุนของห้องสมุดในการบริการประชาชน และเป็นอุปสรรคต่อการวิจัยและพัฒนา
5) เพิ่มต้นทุนของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์สั่งผลิต และเพิ่มการผูกขาดและจำกัดการสร้างนวัตกรรม
6) ผู้บริโภคมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น การผูกขาดสิทธิบัตรยา ทำให้ยามีราคาแพง
14. แนวทางในการเจรจาของไทย ภายใต้เขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ดังนี้
1) ควรเจรจาชี้ให้เห็นว่า ข้อตกลงขัดกับเป้าหมายในการพัฒนาประเทศของไทย ได้แก่ ระดับการคุ้มครองต้องขึ้นกับระดับการพัฒนา และขัดกับนโยบายของรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐต้องจัดหาบริการสาธารณสุขและการศึกษาให้ประชาชนอย่างทั่วถึง
2) ควรยืดเวลาในการปฏิบัติตามข้อตกลงออกไป
3) เจรจาต่อรองให้ไทยยังไม่ต้องเป็นสมาชิก UPOV ซึ่งมีมาตรฐานการคุ้มครองพันธุ์พืชสูงกว่าที่เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ในประเทศจะได้ประโยชน์
4) ปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันทางการค้าให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากการผูกขาด
5) อนุญาตให้สามารถใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ไม่ขัดต่อกฎหมายเครื่องหมายทางการค้า โดยคำนึงว่ามีสิ่งบ่งชี้จำนวนมากที่ถูกใช้มาก่อนมีการใช้กฎหมายเครื่องหมายทางการค้า
6) ตัดเงื่อนไขที่จำกัดการเข้าสู่ตลาดยาหรือสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรของผู้ประกอบการรายใหม่ เช่น การขยายเวลาการคุ้มครอง การห้ามประกอบการ หรือการห้ามเข้าถึงข้อมูลทดลองยาต่าง ๆ
7) ไม่ควรขยายอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตรให้นานเกินกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
8) ไม่ควรขยายการคุ้มครองสิทธิบัตร ให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิตที่เกินกว่าความคุ้มครองตามความตกลง TRIPS
9) ไม่ควรยอมรับการเข้าเป็นภาคีสมาชิกของ PCT ซึ่งจะลดโอกาสในการใช้เทคโนโลยีในคลังสิทธิบัตรต่างประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายของอุตสาหกรรมไทย ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าทรัพย์สินทางปัญญามาใช้เพื่อการผลิตเป็นส่วนมาก
ที่มา: หอการค้าไทย ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ