รายงานดัชนีราคาสินค้าส่งออก ประจำเดือน มี.ค.48

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 1, 2005 11:46 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาสินค้าส่งออก เดือนมีนาคม 2548 และระยะ 3 เดือนแรกของปี 2548
กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมีนาคม 2548 และไตรมาสแรกของปี 2548 โดยสรุป
การประมวลผลดัชนีราคาส่งออกในปี 2548 ใช้มูลค่าส่งออกปี 2547 จากกรมศุลกากรเป็นตัวถ่วงน้ำหนัก สินค้าที่ใช้คำนวณจำนวน 793 รายการ ครอบคลุม 4 หมวดใหญ่ คือ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ตามโครงสร้างเป้าหมายสินค้าส่งออกของกระทรวงพาณิชย์
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมีนาคม 2548 (รูปเงินเหรียญสหรัฐฯ)
ปี 2543 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนมีนาคม 2548 เท่ากับ 111.8 สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2548 เท่ากับ 110.1
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมีนาคม 2548 เทียบกับ
2.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2548 สูงขึ้นร้อยละ 1.5
2.2 เดือนมีนาคม 2547 สูงขึ้นร้อยละ 8.3
2.3 เฉลี่ยเดือนมกราคม - มีนาคม 2548 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 สูงขึ้นร้อยละ 6.9
3. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมีนาคม 2548 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2548
ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 1.5 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาทุกหมวด โดยมีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าที่สำคัญ ดังนี้
3.1 หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 0.9
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เนื่องจากภาวะแห้งแล้ง ผลผลิตลดลง ภาครัฐดำเนินมาตรการแทรกแซงตลาดและมีการประมูลขายมันเส้น มีผลให้ราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น
- ยางพารา เนื่องจากเป็นช่วงฤดูยางผลัดใบ ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย อีกทั้งราคายางมีเสถียรภาพในระดับสูงมาตลอด จากการรวมกลุ่มของผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก (ไทย อินโดนีเซียและ มาเลเซีย) ทำให้ผู้ผลิตสามารถกำหนดราคาการซื้อขายได้
- ผักผลไม้สด แช่เย็นและแช่แข็ง เป็นผลจากรัฐบาลจัดทำโครงการยกระดับคุณภาพเพื่อให้ได้มาตรฐานการผลิตที่ดี (GAP)
- กาแฟดิบ จากภาวะภัยแล้ง ผลผลิตของโลกและไทยลดลง ประกอบกับผลจากมาตรการแทรกแซงตลาดด้วยวิธีรับจำนำของรัฐ
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- กุ้ง การนำเข้าในตลาดญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดหลักสำคัญของไทยชะลอการนำเข้าเนื่องจาก เป็นช่วงปิดงบบัญชี มีนโยบายซื้อสินค้าในราคาต่ำและไม่สต็อกสินค้า
3.2 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 0.5
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ผักและผลไม้กระป๋อง จากการสูงขึ้นของวัตถุดิบเหล็กที่ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ (กระป๋อง) และต้นทุนค่าขนส่ง และสหรัฐอเมริกาได้ประกาศคืนสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) แก่ไทย สินค้าไทยมีคุณภาพมาตรฐานที่ได้รับการรับรองสูงกว่าคู่แข่งโดยเฉพาะจีน
- อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สาเหตุจากการสูงขึ้นของต้นทุนการผลิตตั้งแต่วัตถุดิบหลักในการผลิตได้แก่ ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน วัตถุดิบบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบ ทำกระป๋อง และปัจจัยการผลิตได้แก่น้ำมันเชื้อเพลิง
3.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 1.3
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- เส้นใยประดิษฐ์ วัตถุดิบต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากการกลั่นน้ำมัน เมื่อน้ำมันมีราคาสูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้า
- อัญมณีและเครื่องประดับ สาเหตุจากวัตถุดิบที่ใช้ประกอบในการผลิต ได้แก่ ทองคำ เพชร ทองคำขาว ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก นอกจากนี้ค่าประกันภัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตได้ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ประกอบกับภาครัฐจัดแสดงสินค้าภายในประเทศและต่างประเทศเพื่อผู้ส่งออกและผู้นำเข้า มีการเจรจาสั่งซื้อสินค้าโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
- เม็ดพลาสติก ราคาสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเป็นระยะๆ ในตลาดโลก แม้ในขณะนี้ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะชะลอตัวลง ประกอบกับตลาดส่งออกสำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ฮ่องกง จีน เวียดนาม ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
- เครื่องอิเลคทรอนิกส์ เป็นผลจากการสูงขึ้นของคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โดยวัตถุดิบที่ใช้ เช่น ทองคำ พลาสติก ทองแดง ทองคำขาว รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าในการพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัย
- ปูนซีเมนต์ การปรับตัวของราคาน้ำมันส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งทางเรือสูงขึ้น กระทบต่อการส่งออก เนื่องจากปูนซีเมนต์เป็นสินค้าที่มีน้ำหนักมาก
3.4 หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 9.1
- น้ำมันดิบ ราคาส่งออกสูงขึ้น ตามราคาตลาดโลก
4. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ ไตรมาสแรกของปี 2548
ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ ไตรมาสแรกของปี 2548 เท่ากับ 110.0 เทียบกับ ดัชนีราคาเฉลี่ยช่วงเดียวกันของปี 2547 สูงขึ้นร้อยละ 6.9
4.1 หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 4.6 จากการสูงขึ้นของ
- สินค้ากสิกรรม ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ถั่ว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เครื่องเทศสมุนไพร กาแฟดิบ และใบยาสูบ
- สินค้าประมง ได้แก่ กุ้ง ปลาหมึก ปลา แมงกะพรุนแห้ง ตะพาบน้ำและกบ
- สินค้าปศุสัตว์ ได้แก่ ไก่ เป็ดสดแช่เย็นแช่แข็ง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง กระดูกสัตว์และขน
4.2 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 12.7 จากการสูงขึ้นของ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป
4.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 5.9 จากการสูงขึ้นของเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ เครื่องอิเลคทรอนิกส์ ยานพาหนะและอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน
4.4 หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 25.4 จากการสูงขึ้นของ น้ำมันดิบ และแร่ยิบซั่ม
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5802 โทรสาร.0-2507-5825

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ