รัฐทุ่ม 2 พันล้านปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเติมภูมิคุ้มกันให้ระบบรับมือน้ำมันผันผวน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 30, 2005 16:26 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สรุปสถานการณ์:
นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ตัวแทนภาคเอกชนทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เกียวกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากพบว่าสถิติการค้าแสดงให้เห็นว่าการส่งออกมีลักษณะการเพิ่มขึ้นเล็กน้อย การนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศมาประกอบเพื่อส่งออกไปต่างประเทศไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างชัดเจน ที่ประชุมได้เป็นชอบในหลักการในการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและด้านบริการ โดยแต่งตั้งให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธานพิจารณารายละเอียดของแต่ละภูมิภาค นอกจากนี้ยังอนุมัติกรอบวงเงิน 2,000 พันล้านบาทเพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงโครงสร้างในทุกภาค โดยงบประมาณดังกล่าวจะเน้นในเรื่องการศึกษาสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี การพัฒนาบุคคลากร ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลา 1 ปี ให้เห็นผลได้โดยเร็ว
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช) เปิดเผยว่านายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบกับแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและแข่งขันได้ตามที่ สคช. ได้เสนอ ซึ่งได้แก่โครงสร้างใหญ่ๆ 4 ด้านได้แก่ ด้านพลังงาน น้ำ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ และการสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้ ทั้งนี้ เลขาธิการ สคช. ได้กล่าวว่านายก รัฐมนตรีได้มอบนโยบายการแก้ไขปัญหาเรื่องพลังงานซึ่งจะต้องหาพลังงานทดแทนโดยใช้ก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) เป็นหลัก รวมทั้งการใช้พลังงานจากพืช และจะต้องบริหารจัดการการใช้น้ำเนื่องจากปัญหาภัยแล้งในปีนี้จะส่งผลกระทบต่อพืชสำคัญ
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังได้เปิดเผยว่าแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีปัจจัยลบหลายด้านแต่แนวโน้มในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 จะมีการปรับตัวที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขขาดดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด สถานการณ์ไข้หวัดนก ภัยแล้ง และผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งได้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น และคาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวได้ 4.5% น้อยกว่าที่ตั้งไว้เล็กน้อย
ดร. ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวว่าเศรษฐกิจหลายตัวได้ปรับตัวดีขึ้นแม้ว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้นซึ่งไม่น่าจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากนักโดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวและการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน สิ่งที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการ คือ เรื่องการประหยัดพลังงานเพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศขาดดุลการค้าสูงกว่าที่เคยประมาณการเอาไว้ การคำนวณตัวเลขทางเศรษฐกิจจะต้องมีการติดตามทุกระยะ โดยต้องดูจากความสามารถในการประหยัดน้ำมัน และการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลก
ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เชื่อว่าภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นน่าจะเป็นการปรับราคาชั่วคราวและจะปรับตัวลดลงในระยะต่อไปและธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังไม่มีการทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจใหม่
ประเด็นวิเคราะห์:
จากภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและได้มีการคาดการณ์ว่าอาจจะแตะถึงระดับที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทยหรือไม่นั้น จะต้องดูราคาน้ำมันที่เฉลี่ยทั้งปี อย่ามองเฉพาะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น และที่ผ่านมาไทยมีสินค้า โอทอปเข้ามาช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ อีกทั้งปัจจัยที่เป็นลบไม่ว่าจะเป็นการขาดดุลการค้า หรือดุลบัญชีเดินสะพัด สถานการณ์ไข้หวัดนก ผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ ก็คลี่คลายไปได้ด้วยดี ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลสามารถรณรงค์ให้ประชาชนได้มีการประหยัดพลังงานไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า หรือน้ำมันก็ตาม จะเป็นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศได้โดยการลดการขาดดุลการนำเข้าสินค้าน้ำมัน ได้อีกทางหนึ่งด้วย
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ