3 สมาคมนักธุรกิจเอกชน เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย 7 คะแนน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 14, 2005 15:11 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          ภายหลังจากที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มาเป็นผู้ปาฐกถา ในงานสัมมนา หัวข้อ "คุณเชื่อมั่นเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยแค่ไหน" โดยมี 3 องค์กรชั้นนำของไทย ได้มาร่วมแสดงความคิดเห็น ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 
จากการประมวลภาพความคิดของผู้บริหาร 3 องค์กร ที่เป็นตัวแทนของภาคเอกชนได้มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ยังเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย โดยได้ให้คะแนนของความเชื่อมั่นสูงถึง 7 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 นั่นหมายความว่า เอกชนไทยยังจะมีการขยายการลงทุนต่อเนื่อง
ปัจจัยที่เอกชนยังมั่นใจต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย ส่วนหนึ่งมาจากผลการสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนต่างประเทศที่ได้มองว่า ไทยยังเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุดในภูมิภาคนี้ เมื่อเทียบกันแล้วในทุกๆ ด้าน และเป็นประเทศที่มีทรัพยากรในการผลิตที่ดี ต้นทุนในการผลิตต่ำ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนไทย
นายเกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ย้ำอย่างหนักแน่นว่า ภาพที่สะท้อนให้เอกชนมีความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย มาจากหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งมาจากกำลังการผลิตโดยรวมของภาคอุตสาหกรรมที่ได้ปรับขึ้นมาอยู่ระดับ 70% ถือว่าเกือบเต็มกำลังการผลิตแล้วในบางอุตสาหกรรม ทำให้ต้องมีการขยายการลงทุนเพิ่ม
ยอดสั่งซื้อสินค้า หรือ ออเดอร์ ก็ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างความมั่นใจ ความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนได้มีการขยายการลงทุนเพิ่ม เพราะในช่วง 6 เดือนแรก ยอดส่งออกได้เติบโตไปแล้ว 13% ในขณะที่เป้าการส่งออกของภาคเอกชนโดยรวมตั้งไว้แค่ 15% เท่านั้น
ประเด็นดังกล่าวจึงทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นขึ้นอย่างมาก ว่าในช่วงเวลาที่เหลือจะทำให้ยอดส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายได้แล้ว
แต่สิ่งหนึ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้มีการแก้ไขเป็นการด่วน คือมาตรการกีดกันทางการค้าที่ยังเป็นอุปสรรคสำหรับการส่งออกของไทย นอกจากนี้แล้วเอกชนไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาการขนส่งด้วย ซึ่งล้วนแล้วยังเป็นปัญหาที่บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันให้ลดลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยกัน
ภาคเอกชนไทยเองก็ต้องการให้รัฐบาลได้ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่เช่นกัน ด้วยการเจรจาในสิ่งที่เป็นอุปสรรคสำหรับภาคธุรกิจไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าของโลกได้อย่างเสรี นอกจากนี้สิ่งที่จะลืมเสียมิได้คือ ต้องให้การสนับสนุนธุรกิจทั้งที่อยู่ต้นน้ำตลอดไปจนถึงปลายน้ำ เพราะหากสนับสนุนเฉพาะบางธุรกิจก็จะเอื้อให้กับธุรกิจนั้นๆ เพียงอย่างเดียว ถือว่าฝนตกไม่ทั่วฟ้า
ประเด็นเรื่องน้ำมัน ต้องมองระยะยาว ต้องรู้จักวางแผนให้ดีทั้งเอกชนและรัฐบาล เพราะปัจจุบันไทยมีการพึ่งพาน้ำมันมากเกินไป ไม่ได้มีการวางแผนใช้พลังงานทดแทนมาก่อนหน้านี้ และน้ำมันก็ถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นได้
สิ่งหนึ่งที่ต้องการฝากรัฐบาลไว้คือ ต้องทำให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการขยายตัวดี โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตรต้องได้ราคาดีด้วย เมื่อราคาพืชผลทางการเกษตรดี ย่อมทำให้มีเงินจับจ่ายใช้สอย
ส่วนการปรับขึ้นราคาสินค้าจริง ๆ ภาคธุรกิจก็ไม่อยากขึ้น เพราะต้องเปลี่ยนแผนการตลาด แต่การทำธุรกิจต้องมีกำไร เพราะไม่ใช่การกุศล แต่ต้องเป็นกำไรแบบมีเหตุผล ไม่ค้ากำไรเกินควร ซึ่งตอนนี้รอดูค่าไฟอยู่ ถ้าค่าไฟขึ้นต้นทุนเพิ่มแน่
ขณะที่มุมมองของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดย ผศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ซึ่งเป็นตัวแทนของสภาหอการค้าฯ ก็ได้ให้คะแนนของความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยสูงถึง 7 คะแนน จากเต็ม 10 เช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า ฐานะทางการเงินของไทย ถือว่าแข็งแกร่งมาก เพราะมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้โอกาสที่จะถูกโจมตีเรื่องค่าเงินนั้นมีน้อยมาก
แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงและจะสะท้อนความเชื่อมั่นในการลงทุนของเอกชนต่อจากนี้ไปคงหนีไม่พ้น เรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่ม ดุลการค้า มาตรฐานสินค้า
ส่วน ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สถาบันการเงินยังมีความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจไทยอยู่ แต่เป็นห่วงโครงการลงทุนในเมกะโปรเจ็กของรัฐบาล ที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า มีความคุ้มค่าจริงหรือเปล่า
ขณะที่เรื่องการปลดภาระหนี้ให้กับประชาชนเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะหากเป็นหนี้ที่เกิดจากการบริหารธุรกิจซึ่งทางสถาบันการเงินก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ แต่ถ้าเป็นหนี้ที่เกิดจากการขาดวินัยต้องทำด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้ยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้ทำให้สถาบันการเงินล่มสลาย แต่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของสายตานักลงทุนในต่างประเทศ และทำให้วินัยของคนเปลี่ยนแปลง
สมาคมธนาคารไทย ยังเป็นห่วงเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตของเอกชนและรัฐบาลอยู่ และได้แนะนำให้มีการปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งปรับโครงสร้างภาษีให้เกิดความเหมาะสม และรักษาเสถียรภาพการเงินไทยให้แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ภาพโดยรวมแล้วให้ความเชื่อมั่นในเสถียรภาพเศรษฐกิจ 7 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน
ที่มา: สภาหอการค้าไทย www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ