การเจรจาการค้านอกรอบ WTO ที่เมืองต้าเหลียน ประเทศจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 2, 2005 16:10 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          จีนได้เป็นเจ้าภาพเชิญรัฐมนตรีการค้าของประเทศสมาชิก WTO ที่มีบทบาทการเจรจาการค้ารอบโดฮารวม 33 ประเทศประกอบไปด้วย สหรัฐฯ ประชาคมยุโรป ญี่ปุ่น อินเดีย บราซิล ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ ไทย ฯลฯ มาร่วมกันหารือเพื่อประนีประนอมท่าทีระหว่างกันในวันที่ 12-13 กรกฎาคม ณ เมืองต้าเหลียน ประเทศจีน ทั้งนี้เพื่อให้การเจรจามีความคืบหน้าเพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้ในการประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าครั้งที่ 6 ในเดือนธันวาคม ณ เมืองฮ่องกง   
นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยได้ประชุมร่วมกับกลุ่ม G-20 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่รวมตัวกันสร้างอำนาจต่อรองให้มีการลดการอุดหนุนและเปิดตลาดสินค้าเกษตรและได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอรูปแบบการลดภาษีนำเข้า โดยแบ่งช่วงภาษีสำหรับการลดเป็น 4 ช่วง (bands) โดยจะลดช่วงภาษีสูงมากกว่าช่วงภาษีต่ำ ที่ประชุมโดยเฉพาะสหรัฐฯ และประชาคมยุโรปยอมรับที่จะใช้ข้อเสนอของ G-20 เป็นพื้นฐานหรือจุดเริ่มต้นในการเจรจากันต่อที่นครเจนีวา
ส่วนข้อเสนอในการลดการอุดหนุนภายในประชาคมยุโรปยอมรับที่จะให้แบ่งช่วงมูลค่าการอุดหนุนภายในออกเป็น 3 ช่วง โดยยอมที่จะอยู่ในช่วงสูงสุดที่จะต้องลดในอัตราสูงสุด ส่วนสหรัฐฯ ต้องการให้ประชาคมยุโรปลดลงมาให้อยู่ในระดับที่เท่าเทียมกันกับสหรัฐฯ และเตือนว่าเป็นโอกาสเดียวที่สหรัฐฯ จะทำการปฏิรูปการเกษตรเพราะเป็นช่วงที่จะมีการเสนอกฎหมายเกษตรฉบับใหม่เข้ารัฐสภาแทนกฎหมายฉบับปัจจุบันที่จะหมดอายุลงในปี 2550
แม้ว่าประเทศสมาชิกได้ตกลงกันที่จะยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกแล้วแต่ยังไม่ตกลงกันว่าจะใช้เวลากี่ปี ซึ่งกลุ่ม G-20 ได้เสนอต่อที่ประชุมนานสุดไม่เกิน 5 ปี และประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศในการประชุม G-8 ณ สก๊อตแลนด์ ที่จะยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกในปี 2553 แต่ประชาคมยุโรปต้องการให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อส่งออก การช่วยเหลือด้านอาหาร ในลักษณะที่เป็นการอุดหนุนส่งออกไปพร้อมกันด้วย
ทั้งนี้ที่ประชุมตกลงให้รัฐมนตรีการค้าสั่งการให้ผู้แทนถาวรประจำ WTO เจรจากันต่อไปโดยมีท่าประนีประนอมมากขึ้นเพื่อให้ได้รูปแบบการลดภาษีและลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรภายในเดือนกรกฎาคมนี้
การประชุมรัฐมนตรี WTO นอกรอบ (วันที่สอง)
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 รัฐมนตรี WTO จำนวนกว่า 30 ประเทศ ที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจา อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อินเดีย บราซิล ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และไทย ได้หารือนอกรอบกันเป็นวันที่สองและเป็นวันสุดท้าย ที่โรงแรมฟูรามา เมืองต้าเหลียน สาธารณรัฐประชาชนจีน
เรื่องสำคัญที่รัฐมนตรีได้หารือกันคือการเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งสมาชิกยังมีท่าทีที่แตกต่างกันในประเด็นหลักๆ ได้แก่ สูตรการลดภาษี การนำสินค้าที่ยังไม่มีข้อผูกพันอัตราภาษีมาผูกพันการลดภาษี และการเร่งลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรมรายสาขาลงเหลือร้อยละ 0
ประเทศสมาชิกไม่สามารถหาข้อยุติเรื่องสูตรการลดภาษี ซึ่งมีทางเลือก 2 สูตร คือ สูตรสวิส (เสนอโดยสวิตเซอร์แลนด์) กับสูตร Girard (สูตรที่เสนอโดยอดีตประธานกลุ่มเจรจาเรื่องนี้)เนื่องจากมีการเผชิญหน้ากันระหว่างสมาชิกที่มีท่าทีต่างกัน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสนับสนุนสูตรสวิส อาทิ สหรัฐญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย จีน และไทย เป็นต้น กับกลุ่ม 3 ประเทศ ประกอบด้วยอาร์เจนตินา บราซิลและอินเดีย ซึ่งสนับสนุนการใช้สูตร Girard โดยกลุ่มหลังมีท่าทีแข็งกร้าว แม้ว่าที่ประชุมส่วนใหญ่ต้องการใช้สูตรสวิสก็ตาม ทั้งนี้ สูตรสวิสจะทำให้อัตราภาษีหลังลดต่ำกว่าสูตรอุรุกวัย ในที่สุด ที่ประชุมรัฐมนตรีได้ตกลงให้เจ้าหน้าที่เจรจากันต่อที่นครเจนีวา เพื่อตกลงกำหนดสูตรการลดภาษีให้ได้เพื่อนำเสนอสูตรที่สมบูรณ์เต็มรูปแบบต่อที่ประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 6 ในเดือนธันวาคม สกนี้ ที่ฮ่องกง
สำหรับเรื่องการผูกพันสินค้าที่ยังไม่เคยมีข้อผูกพันการลดภาษีนั้น ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันเกี่ยวกับแนวทางต่างๆ เช่น ต้องผูกพันการลดภาษีสินค้าทุกรายการ การแก้ไขปัญหาสินค้าที่มีอัตราภาษีต่ำอยู่แล้ว วิธีการกำหนดอัตราฐานก่อนเข้าสูตรการลดภาษี เป็นต้น
นอกจากนี้ เสียงส่วนมากของที่ประชุม ก็สนับสนุนการลดภาษีสินค้ารายสาขาลงเหลือร้อยละ 0 โดยในแต่ละสาขาจะต้องมีจำนวนประเทศสมาชิกเข้าร่วมและมีมูลค่าการค้าในสาขานั้นๆมากพอ และเป็นการเข้าร่วมโดยสมัครใจ ซึ่งก่อนหน้าก็ได้มีประเทศที่เป็นตัวตั้งตัวตีในแต่ละสาขา ชักชวนให้สมาชิกอื่นเข้าร่วมประชุมหารือกันไปบ้างแล้ว รวมทั้ง ไทย ในสาขาอัญมณี และเครื่องประดับ
ไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เจรจาผลักดันท่าทีไทยหลายเรื่อง ได้แก่ การใช้สูตรสวิสลดภาษี การผูกพันการลดภาษีทุกรายการ และการกำหนดอัตราฐานสำหรับสินค้าที่ยังไม่ได้ผูกพันการลดภาษี โดยเฉพาะ ไทยได้คัดค้านวิธีการกำหนดอัตราฐานก่อนการลดภาษีที่จะทำให้ไทยต้องลดภาษีและผูกพันในอัตราต่ำมาก โดยได้เสนอให้ใช้วิธีการอื่นแทนคือกำหนดอัตราขั้นต่ำสุดหลังการลดภาษี
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ