ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับแนวทางจัดการธุรกิจการค้าประเวณี
สาเหตุส่วนใหญ่ของผู้ที่เข้าสู่อาชีพการค้าประเวณีมีทั้งความสมัครใจและไม่สมัครใจ มีปัจจัยผลักดันและต้นเหตุของปัญหาจากความไม่เพียงพอของรายได้ในครอบครัว ความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคงของครอบครัว แรงบีบคั้นจากความผิดหวังของคนในครอบครัว การถูกบังคับล่อลวงหรือการติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในแวดวงอาชีพโสเภณี แรงจูงใจที่ต้องการเงินเพื่อพึ่งพาตนเองและแบ่งเบาภาระครอบครัว รวมถึงปัญหาจากการมีค่านิยมที่ผิด ดังนั้น วิธีการแก้ไข ควบคุม ป้องกันและปราบปรามผู้ค้าประเวณีแต่ละกลุ่มจึงควรมีมาตรการที่แตกต่างกัน
ข้อมูลประมาณการหญิงบริการทางเพศตามสถานประกอบการต่างๆ รวม 29 ประเภท ในปี พ.ศ.2539 โดย ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร พบว่ามีหญิงบริการทางเพศประมาณกว่า 200,000 ราย โดยอยู่ตามสถานบริการต่างๆ สูงสุด 5 อันดับแรก คือ ร้านหรือสวนอาหาร อาบอบนวด คาเฟ่ คาราโอเกะ และนวดแผนโบราณ ตามลำดับ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มถึง 100,938 ล้านบาท โดยจำนวนสถานบริการและปริมาณโสเภณีเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ จากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 — 2546 มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี และยังพบอีกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น รูปแบบการค้าประเวณีเด็กจากถูกบังคับ ล่อลวง เป็นขบวนการค้าโดยสมัครใจมากขึ้น
การค้าประเวณีจึงเป็นปัญหาที่แก้ไขให้หมดไปได้ยาก ในปัจจุบันสังคมไทยถือว่าการค้าประเวณีเป็นเรื่องผิดกฎหมายและหลักศีลธรรมของคนในชาติ อีกทั้งก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ประกอบอาชีพค้าประเวณีและสังคมไทยโดยรวมมากกว่าผลดี ต้องควบคุม ป้องกัน และปราบปรามเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมายังไม่บรรลุผลอย่างแท้จริง เนื่องจากยังมีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมกับการบังคับใช้ของกฎหมาย ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหาการค้าประเวณีจึงจำเป็นต้องมีความสอดคล้องทั้งทางสังคมและกฎหมาย โดยอาศัยมาตรการ กลไกทั้งทางกฎหมายและทางสังคมควบคู่กันไป
ความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้พิจารณาแล้วมีความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการจัดการธุรกิจการค้าประเวณี ดังนี้
รัฐไม่ควรอนุญาตให้มีการค้าประเวณีถูกต้องตามกฎหมาย และไม่สนับสนุนธุรกิจใดๆ ที่เอื้อต่อการค้าประเวณี แต่อย่างไรก็ตามการค้าประเวณีเป็นธุรกิจที่มีปรากฏในสังคมมาช้านาน การที่จะแก้ไขปัญหาหรือจัดการให้หมดสิ้นคงเป็นไปได้ยาก จึงควรหาแนวทางจัดการที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยใช้มาตรการเชิงโครงสร้าง มาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางสังคม และการรณรงค์ปลูกฝังศีลธรรมและค่านิยมทางเพศ การรักศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ไม่ละเมิดสิทธิความเป็นสามีภรรยาของคนในสังคม
การจัดการปัญหาการค้าประเวณีตามแนวทางดังกล่าวควรดำเนินการอย่างผสมผสานระหว่างมาตรการเชิงโครงสร้าง มาตรการทางกฎหมาย และมาตรการทางสังคม โดยมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางสังคมมีความละเอียดอ่อนที่แตกต่างกันสามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาให้เกิดความเหมาะสมและสามารถเข้าถึงแต่ละกลุ่มปัญหา ได้ดังนี้
1. มาตรการเชิงโครงสร้าง
1.1 กำหนดเป็นนโยบายระดับชาติและดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการโครงการ/แผนงาน วิธีการทำงานของกระทรวงด้านสังคมเพื่อเสริมความเข้มแข็งด้านปฏิบัติการ วางรูปแบบกลไกการทำงาน กระบวนการมีส่วนร่วม และวิธีดำเนินการจัดระเบียบสังคมที่อยู่ในและนอกกรอบของกฎหมายทั้งระบบ
1.2 ปรับโครงสร้างความผิดมูลฐานตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยดำเนินมาตรการต่อบุคคลที่ประกอบธุรกิจการค้าประเวณีผู้หญิงที่ไม่สมัครใจ เด็ก และเยาวชน และเพิ่มความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์เป็นอีกหนึ่งความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
1.3 ปรับปรุงองค์ประกอบและแนวทางการทำงานของคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ
(ก.ค.อ.) และคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพประจำจังหวัด (ก.ค.อ.จังหวัด) ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 โดยให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการชุดดังกล่าว
1.4 ปรับการวางแผนงบประมาณด้านการควบคุม ป้องกันโรคทางเพศ การดูแลคุ้มครองสุขภาพ ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และให้จัดสรรงบประมาณเรื่องการป้องกันโรคเอดส์ (AIDS) การแพร่กระจายของเชื้อ HIV อย่างเพียงพอในแต่ละกลุ่ม
2. แนวทางการแก้ไขปัญหาของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้มาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางสังคม
2.1 กลุ่มผู้หญิงที่ไม่สมัครใจ เด็ก และเยาวชน
มาตรการทางกฎหมาย
1) ควรนำกฎหมายป้องกันและการปราบปรามการฟอกเงินมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด กับผู้ที่กระทำผิดการค้าประเวณี ผู้ที่ดำเนินธุรกิจการค้าประเวณี ตัวการและผู้สนับสนุน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีผู้หญิงที่ไม่สมัครใจ เด็ก และเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นผู้เป็นธุระจัดหา ผู้เป็นเจ้าของกิจการ ผู้จัดการ หรือผู้ดูแลสถานบริการ เจ้าสำนัก โรงแรม เอเย่นต์ แมงดา บรรดาพ่อเล้าแม่เล้า ผู้ใช้อุบายเล่ห์เหลี่ยม ล่อลวง ขบวนการตกเขียว และบุคคลที่มีพฤติกรรมกดขี่ ขูดรีดผู้หญิงที่ไม่สมัครใจ เด็ก และเยาวชน รวมถึงผู้ใช้บริการทางเพศ
2) ควบคุมเข้มงวดกวดขันผู้ที่ทำการโฆษณา ชักชวนให้เกิดการค้าประเวณี เด็ก การเผยแพร่ภาพเปลือยกาย ภาพลามกอนาจารของเด็กผ่านสื่อต่างๆ ตัดวงจร และควบคุมป้องกันมิให้มีการโฆษณารับสมัคร ชักชวนเข้าทำงานในสถานที่ที่มีธุรกิจเสี่ยง หรือเชื่อมโยงไปสู่การค้าประเวณีอย่างเด็ดขาด
3) ระดมกวาดล้างสื่อหรือวัตถุอันเป็นสิ่งลามกอนาจารให้หมดไปจากสังคมมาตรการทางสังคม
4) รัฐต้องให้ความสำคัญในการจัดการศึกษาทั้งระบบ โดยให้เน้นศีลธรรม และคุณธรรม เพื่อสร้างค่านิยม จิตสำนึกที่ถูกต้องและมั่นคง ขึ้นในสังคมไทยในทุกระดับการศึกษา
5) สร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว ส่งเสริมบทบาทเครือข่ายครอบครัว อบอุ่นเข้มแข็ง และเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันทางศาสนาเพื่อเป็นเกราะป้องกันความอ่อนแอให้กับสังคมโดยรวม
6) ส่งเสริม สนับสนุนบทบาทเครือข่ายองค์กรประชาสังคมด้านเด็ก เยาวชน และ สตรีให้มีความเข้มแข็งในการสร้างเสริมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ด้านสันทนาการและการบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ป้องกันมิให้เด็ก เยาวชน และสตรีหลงเข้าสู่วงจรการค้าประเวณีได้
7) จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอสำหรับการสนับสนุนมาตรการป้องกัน แก้ไข ปัญหา และฟื้นฟูสภาพจิตใจและอารมณ์ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งถูกล่อลวงไปค้าประเวณีให้มีโอกาสกลับคืนสู่สังคมได้ตามปกติ
2.2 กลุ่มผู้สมัครใจประกอบอาชีพโสเภณี ที่มีสาเหตุจากการมีค่านิยมที่ผิดทั้งทาง สังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงสาเหตุจากสภาพบีบคั้นทางครอบครัว มาตรการทางกฎหมาย
1) ควรมีบทบัญญัติกฎหมายเอาผิดกับผู้ใช้บริการทางเพศ
2) ให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปในลักษณะการปราม ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ตก
เป็นเหยื่อจากเหตุการใช้ความรุนแรง รวมถึงการผลักดันให้ออกจากวงจรการค้าประเวณี และการสกัดกั้นผู้หลงผิดรายใหม่
3) ให้มีการคุ้มครองสุขภาพ โดยกำหนดให้ทำการตรวจร่างกาย และการป้องกัน โรคติดต่อทางเพศ โดยเฉพาะโรคเอดส์ (AIDS) และสนับสนุนงบประมาณเรื่องถุงยางอนามัยในกลุ่มผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ HIV อย่างทั่วถึง มาตรการทางสังคม
4) ตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาผู้ประกอบอาชีพพนักงานบริการ โสเภณีโดยสมัครใจ เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ ร่างกายและอารมณ์ และเตรียมการก่อนออกจากอาชีพ โดยครอบคลุมถึงเรื่องจัดระบบการวางแผนชีวิต แผนการใช้จ่าย การออม การลงทุน แหล่งสนับสนุนทุน แผนการเปลี่ยนอาชีพ การจัดหางาน การประกันการมีงานทำ การเข้าถึงบริการทางการเงิน และหลักในการดำเนินชีวิตใหม่
5) ให้ความรู้ทางวิชาการ ด้านการช่วยเหลือ การดูแลรักษาตนเอง การป้องกันโรคภัย แนะนำแนวทางหรือแหล่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับพนักงานบริการ โสเภณีโดยสมัครใจ และเตือนให้ตระหนักในโทษภัยจากการประกอบอาชีพค้าประเวณี
6) สนับสนุนด้านการเงิน เงินทุนเพื่อประกอบการ หรือให้ความช่วยเหลือด้านการ ศึกษาเพื่อขยายโอกาสทางเลือกทางเศรษฐกิจในการไปประกอบอาชีพอื่น
7) รณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมควบคู่ไปกับดำเนินกระบวนการส่งเสริมอาชีพ และสร้างโอกาสให้เปลี่ยนไปประกอบอาชีพที่สังคมยอมรับ มีกระบวนการเฝ้าระวังในระบบการศึกษาและองค์กรต่างๆ กีดกันและป้องกันมิให้มีคนในสังคมเข้าไปข้องเกี่ยวกับอาชีพค้าประเวณีโดยสมัครใจ พร้อมทั้งแสดงจุดยืนที่ชัดเขนของสังคมในการไม่ยอมรับการประกอบอาชีพค้าประเวณี
8) ควรให้สถาบันต่างๆ เช่น สถาบันการเมือง สถาบันการศึกษา สถาบันสื่อมวลชน สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา และองค์กรเอกชนต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ มีทิศทางเดียวกัน เพื่อเป็นแกนกลางประสานการทำงานเชิงบูรณาการให้กับทุกภาคส่วนในสังคม
9) ให้ความรู้เรื่องสิทธิ การส่งเสริมคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การปกป้องการ ละเมิดสิทธิของตนมิให้ถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมือบำบัดความต้องการทางเพศ
10) สนับสนุนให้ผู้ประกอบอาชีพโสเภณีโดยสมัครใจได้รวมกลุ่มแสดงความคิดเห็นในการแก้ไข หรือสะท้อนปัญหาของตนเอง และร่วมแก้ไขปัญหาการค้าประเวณีในสังคมกับภาครัฐ ภาคประชาชนอย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จะลดและเลิกอาชีพการค้าประเวณีให้ได้ในที่สุด
2.3 กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสถานบริการ
มาตรการทางกฎหมาย
1) บัญญัติกฎหมายกำหนดพื้นที่อนุญาตให้ตั้งสถานบริการ (Zoning) ตรวจตรากวดขันและเข้มงวดในการจัดระเบียบสถานบริการ การปฏิบัติตามข้อบังคับหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานที่ที่จะอนุญาตให้มีการจัดตั้งสถานบริการอย่างจริงจัง เช่น ระยะห่างจากสถานศึกษา หรือศาสนสถาน เป็นต้น เพื่อให้สถานบริการดำเนินกิจการอย่างถูกต้องตามประเภทที่ขออนุญาตหรือที่แจ้งการจัดตั้งไว้ เคร่งครัดในระเบียบการเข้ารับบริการ และเปิดปิดสถานบริการตามเวลาที่กฎหมายกำหนด
2) ห้ามทำการโฆษณา ชักชวนให้มาประกอบอาชีพที่ล่อแหลมต่อการค้าประเวณี เช่น ประกาศรับสมัครพนักงานบริการที่เป็นการแอบแฝง ประกาศหาคู่หรือเพื่อนทางอินเตอร์เน็ตหรือทางหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ในขณะเดียวกันต้องทำการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจหรือการทำธุรกรรมที่ไม่เป็นผลดีต่อพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน พร้อมทั้งมีบทลงโทษที่เข้มงวดหากมีการฝ่าฝืน
3) บังคับใช้กฎหมาย และบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายการปราบปรามการค้าโสเภณีโดยเฉพาะผู้หญิงที่ไม่สมัครใจ เด็ก และเยาวชน และกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินกับธุรกิจสถานบริการ หรือผู้ที่มีพฤติกรรมหรือเป็นตัวการให้เกิดการค้าประเวณี ไม่ว่าจะเป็นผู้เป็นธุระจัดหาเกี่ยวกับการค้าประเวณี ผู้เป็นเจ้าของกิจการ ผู้จัดการ หรือผู้ดูแลสถานบริการ เจ้าสำนัก โรงแรม ผู้ใช้บริการ เอเย่นต์ แมงดา บรรดาพ่อเล้าแม่เล้า ผู้ใช้อุบายเล่ห์เหลี่ยม ล่อลวง ผู้อาศัยสถานบริการกระทำการค้าประเวณี และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด
4) บังคับให้ผู้ประกอบการสถานบริการปฏิบัติต่อพนักงานบริการตามกฎหมายสถานบริการ
2.4 กลุ่มขบวนการธุรกิจค้ามนุษย์
มาตรการทางกฎหมาย
1) บัญญัติกฎหมายความผิดการค้ามนุษย์ พร้อมกับกำหนดบทลงโทษอย่างรุนแรงกับผู้เข้าไปมีส่วนร่วมในขบวนการธุรกิจค้ามนุษย์ และเพิ่มเป็นองค์ประกอบความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
2) ลงโทษเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายอาญาในส่วนของความผิดที่เกี่ยวกับความสุขของประชาชน ความผิดฐานอั้งยี่ ซ่องโจร
3) ให้การคุ้มครองและป้องกันการฆ่าตัดตอนจากการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา รวมถึงให้การคุ้มครองทางกฎหมายและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินกับผู้ตกเป็นเหยื่อ พยาน ตลอดจนให้รางวัลกับผู้ชี้เบาะแส
5) ระดมกวาดล้างธุรกิจสถานบริการที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ หรือมีการนำโสเภณีชาวต่างชาติมาเป็นสิ่งจูงใจเพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการการใช้บริการทางเพศ
มาตรการทางสังคม
4) รัฐจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพื่อใช้เป็นกลไกในการปราบปรามขบวนการที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี การค้ามนุษย์ข้ามชาติ มีระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัย มีการประสานความร่วมมือจากองค์กรเครือข่ายต่างๆ อย่างเป็นสากล มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสาร สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และต้องอาศัยอำนาจทางสังคมเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหา
5) สร้างวัฒนธรรมการไม่ยอมรับนับถือบุคคลที่เข้าไปมีส่วนกับการค้ามนุษย์ และ
ตัดสิทธิทางการเมืองของบุคคลที่พิสูจน์ได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์
2.5 กลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบ
มาตรการทางกฎหมาย
1) เข้มงวด กวดขันเจ้าหน้าที่ให้ตรวจตราสถานบริการ พร้อมทั้งลงโทษผู้ที่ละเว้น เพิกเฉยพฤติกรรมมิชอบต่อหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเข้มงวด
2) เสริมสร้างความรู้ทางกฎหมาย ความเข้าใจในแนวทางการทำงานแบบมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย และยึดแนวทางการปฏิบัติในรูปแบบการเชื่อมโยงการทำงานในลักษณะเครือข่ายทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับสากลที่ตรงกัน ในเรื่องการกระทำความผิดให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งในของภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรสาธารณะประโยชน์
3) ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และวางระบบการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ ผู้ตกเป็นเหยื่อ โดยเฉพาะหญิง เด็กและเยาวชนที่เป็นผู้เสียหายจากอาชญากรรมค้ามนุษย์ข้ามชาติ หรือผู้ประกอบอาชีพโสเภณีที่กลับใจ และเป็นผู้ที่ให้ความร่วมมือกับทางราชการ
4) จัดรวบรวมข้อมูล และวางระบบบริหารจัดการสารสนเทศเพื่อประกอบการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ อย่างเป็นระบบ รวมถึงการติดตามความเคลื่อนไหวของขบวนการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องข้อสังเกตท้ายความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาฯ อนึ่ง หากรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาการค้าประเวณีได้อย่างเด็ดขาดแล้ว ควรที่จะผ่อนปรนให้อาชีพโสเภณีเป็นอาชีพอิสระอาชีพหนึ่ง โดยจำกัดไว้เฉพาะหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปีบริบูรณ์และกระทำโดยความสมัครใจ และรัฐควรเพิ่มบทลงโทษอย่างรุนแรงมากขึ้น พร้อมทั้งนำมาตรการการลงโทษทางสังคมมาบังคับใช้กับผู้ที่กระทำผิดต่อผู้ไม่สมัครใจและอายุต่ำกว่า 21 ปี
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9