ความตกลงการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์ (Thailand-New Zealand Closer Economic Partnership: CEP)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 26, 2005 15:34 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นายทนง  พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ Mr. Jim Sutton รัฐมนตรีด้านการค้าของนิวซีแลนด์ ได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์  เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2548  ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548  ผลของความตกลงฯ จะทำให้มีการขยายตัวด้านการค้าการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ และความตกลงฉบับนี้เป็นความตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคีฉบับที่ 2 ที่ไทยทำกับประเทศพัฒนาแล้ว ต่อจากที่ทำกับประเทศออสเตรเลีย โดยเป็นความตกลงที่ครอบคลุมประเด็นกว้างขวาง(Comprehensive Agreement) ได้แก่ การค้าสินค้า บริการ การลงทุน และความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และนโยบายการแข่งขัน เป็นต้น 
นายทนง กล่าวต่อว่า การเปิดตลาดสินค้านิวซีแลนด์จะลดภาษีเป็น 0 ให้ไทยในระยะเวลา 10 ปี โดยสินค้าที่ไทยได้รับประโยชน์ทันทีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ เช่น รถปิกอัพ กุ้งแช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง อาหารทะเลกระป๋อง เม็ดพลาสติก พลาสติกและของทำจากพลาสติก เป็นต้น
ในส่วนของไทยที่จะลดภาษีเป็น 0 ทันที เป็นสินค้าวัตถุดิบ หรือ สินค้าที่ไทยผลิตเองไม่ได้ เช่น อาหารปรุงแต่งสำหรับทารก ขนแกะ ธัญพืช ไม้และของทำด้วยไม้ สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมอ่อนไหว เช่น ไฟเบอร์บอร์ด พาร์ติเคิลบอร์ด จะลดภาษีเหลือ 0 ภายใน 7-10 ปี (ปี 2558) ส่วนสินค้าเกษตรอ่อนไหว เช่น สินค้าปศุสัตว์ (เนื้อวัว เนื้อหมู นม เนย) จะมีมาตรการปกป้องพิเศษรองรับที่จะค่อย ๆ ลดภาษีในเวลา 15 ปี โดยระหว่างนั้น จะนำเข้ามาได้ในปริมาณที่กำหนดเท่านั้น หากเกิน จะกลับไปเก็บภาษี ณ อัตราฐาน หรืออัตรา MFN ณ ขณะนั้น
สำหรับนมผงขาดมันเนย ซึ่งเป็นสินค้าอ่อนไหวของไทย ซึ่งมีการนำเข้าจากนิวซีแลนด์ในปี 2547 เป็นมูลค่า 35.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 15 ของการนำเข้าจากนิวซีแลนด์) จะไม่มีการเปิดตลาดเพิ่มเติมจากที่ไทยต้องเปิดใน WTO ในช่วง 20 ปี การเปิดเสรีรายการนี้จะเกิดขึ้นในปีที่ 21 อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการไทย จะต้องมีการปรับตัวในด้านการปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ เพื่อรองรับการเปิดตลาดในอีก 15-20 ปีข้างหน้า
ในด้านการค้าและการลงทุนภาคบริการจะมีการเจรจาในอีก 3 ปี โดยในระหว่างนี้นิวซีแลนด์เปิดโอกาสให้พ่อครัวแม่ครัวที่ได้รับวุฒิบัตรของไทยและมีสัญญาจ้างงานเข้าไปทำงานได้ชั่วคราวเป็นเวลา 3 ปี และต่ออายุได้อีก 1 ปี
ในเรื่องการลงทุนภาคอื่นๆ ไทยเข้าไปลงทุนในนิวซีแลนด์ได้ 100% ยกเว้นประมง ส่วนไทยจะเปิดเสรีการลงทุนทางตรงให้คนนิวซีแลนด์ลงทุนได้ 100% ในธุรกิจผลิตสินค้าบางประเภทที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน อาทิ ธุรกิจผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซอฟแวร์ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์กระดาษ การแปรรูปอาหารที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น
นายทนง กล่าวเพิ่มเติมถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำความตกลงการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์ คือ
- ไทยจะได้รับหลักประกันว่าภาษีของนิวซีแลนด์ทั้งหมดจะเป็น 0 ถาวร แม้ว่าปัจจุบันภาษีส่วนใหญ่ของนิวซีแลนด์จะเป็น 0 อยู่แล้วก็ตาม แต่นิวซีแลนด์ก็ยังไม่ได้ผูกพันที่จะไม่ขึ้นภาษีใน WTO
- สินค้าส่งออกของไทยที่จะได้ประโยชน์จากการที่สินค้าของนิวซีแลนด์มีอัตราภาษีลดเหลือ 0 ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ถึงร้อยละ 79 ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยนิวซีแลนด์จะลดภาษีจาก 0-7% ในบางรายการ เป็น 0 ทันที เช่น รถปิกอัพ กุ้งแช่แข็ง ทูนากระป๋อง อาหารทะเลกระป๋อง เม็ดพลาสติกพลาสติกและของทำจากพลาสติก เฟอร์นิเจอร์ ของปรุงแต่งจากธัญพืช อัญมณีและเครื่องประดับเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
- จะมีการแก้ไขปัญหาด้านสุขอนามัยอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งคณะกรรมการด้านมาตรการสุขอนามัย เพื่อดำเนิน การ ซึ่งจะช่วยให้สินค้าผักและผลไม้ไทยได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด ขิงสด และทุเรียนสามารถเข้าตลาดนิวซีแลนด์ได้สะดวกขึ้น
- จะได้รับความร่วมมือในการพัฒนาด้านปศุสัตว์ ซึ่งเป็นสาขาที่นิวซีแลนด์มีความเชี่ยวชาญและมีเทคโนโลยีทางการผลิต อีกทั้งยังเป็นโอกาสสำหรับการร่วมลงทุนเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สามในภูมิภาคนี้โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลาง
- พ่อครัวแม่ครัวไทยจะมีโอกาสเข้าไปทำงานในนิวซีแลนด์ได้สะดวกขึ้น
- นอกจากนี้ ไทยและนิวซีแลนด์จะร่วมมือกันพัฒนาในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าและสนับสนุนให้การค้าระหว่างสองประเทศมีความคล่องตัวยิ่งขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้การค้าระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2547 การค้าระหว่างทั้งสองประเทศมีมูลค่ารวมประมาณ 567 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้าประมาณ 90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นิวซีแลนด์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 39 และเป็นตลาดส่งออกสินค้าของไทยอันดับที่ 38 ของไทย สินค้าที่ไทยส่งไปนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมกว่าร้อยละ 80 ในขณะที่สินค้านำเข้าจากนิวซีแลนด์เป็นสินค้าเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์จึงเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม ทำให้สินค้าไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดนิวซีแลนด์สูง ผู้ส่งออกของไทยจึงควรเร่งส่งออกไปยังตลาดนิวซีแลนด์เพื่อใช้ประโยชน์จากการลดภาษีดังกล่าว นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรจะต้องเตรียมความพร้อมโดยต้องมีการปรับตัวในภาคการผลิต การตลาด และปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมจากเชิงรับเป็นเชิงรุก
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ