คงต้องยอมรับว่า นโยบาย "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" หรือ OTOP ของรัฐบาลนายกทักษิณ ชินวัตร เป็นนโยบายหนึ่งที่ถูกใจประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้านชาวช่องที่อยู่ในชนบท
ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งของรัฐบาลที่ประสบความสำเร็จ อันเป็นหนึ่งในนโยบาย "คิดใหม่ ทำใหม่" ที่รัฐบาลได้ประกาศชัดเจนเมื่อคราวขึ้นมาบริหารประเทศใหม่ๆ เมื่อปี 2544
หากย้อนไปก่อนหน้านั้น "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" ก็ไม่ใช่ของใหม่แกะกล่อง แต่ได้ต่อยอดมาจาก ผลิตภัณฑ์ชุมชนกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ แต่เมื่อได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ เป็นสินค้าหนึ่งตำบล โดยเฉพาะภาครัฐให้การสนับสนุนหรือส่งเสริมอย่างจริงจังและชัดเจน ก็ทำให้นโยบายนี้ก่อเกิดผลเป็นรูปธรรมในเวลาอันรวดเร็ว
มีผลิตภัณฑ์ชุมชนเข้าสู่ตลาดมากมาย
นี้คือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่รัฐบาลชุดนี้ได้ป่าวประกาศอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันผ่านสื่อต่างๆ และโดยเฉพาะช่วงการหาเสียงที่ดำเนินมาอย่างเข้มข้นจนวันนี้
หากวัดความสำเร็จจากตัวเลขยอดขาย 20,000 ล้านบาท ต่อปี ตามที่รัฐบาลได้แถลงมานั้น ก็เป็นสิ่งที่น่าปลื้มใจเป็นอย่างมาก แต่ในความสำเร็จที่ว่านั้นก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ว่าเป็นความล้มเหลว น่าที่จะหยิบยกมาพูดถึงกันให้มากๆ
ผมในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่ได้ติดตามข่าวสารในเรื่องนี้มาโดยตลอด ทั้งการรับฟังสัมมนาจากนักวิชาการหรือผู้รู้ และโดยเฉพาะการไปสังเกตการณ์ในงานแสดงสินค้า OTOP ที่เมืองทองธานี 2-3 ครั้ง ที่ผ่านมา รวมทั้งครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2547
มองว่าเป็นนโยบายที่ดีที่ชาวบ้านจะได้รู้เรื่องการค้าการขายกันมากขึ้น รู้ว่าสินค้าที่ผลิตต้องผลิตกันอย่างไรจึงจะถูกใจผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ จากเดิมที่โอกาสของชาวบ้านถูกปิดกั้นอยู่แค่ในท้องถิ่นเท่านั้น
การได้รู้จักกับผู้บริโภค รู้ว่าผู้ซื้อเป็นใคร ถือเป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของการผลิตสินค้าที่แม้ว่าจะผลิตอะไรก็แล้วแต่ ราคาจะมากจะน้อยก็ตาม ถ้าไม่รู้ว่าลูกค้าเป็นใครก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ
นี่คือสิ่งที่จะต้องชมเชย
แต่ที่จะพูดถึงต่อไปนี้ก็คือเรื่องที่อยากจะแสดงความคิดเห็นกับเขาบ้าง อาจจะพื้นๆ หรือผิวเผิน แต่ก็เป็นสิ่งที่ผมได้เห็นจากที่ได้ไปร่วมงานหลายครั้ง
ประการแรก มองว่าสินค้า OTOP (ต่อไปนี้ขอใช้คำนี้ เพราะว่าชาวบ้านของเราเริ่มเรียกกันคุ้นเคยแล้ว) ยังซ้ำซาก และจำเจอยู่กับที่อีกมาก
มีหลายกลุ่ม หลายผลิตภัณฑ์ ที่ผลิตเหมือนกัน ทำมาเหมือนกัน ยกตัวอย่าง สินค้าประเภทอาหารการกินที่ส่วนใหญ่ยังวนเวียนอยู่กับที่ ผลิตกันแบบไม่ได้มีการวางแผนการตลาด เมื่อถึงเวลาก็มาจำหน่ายแข่งขันกัน หรือสินค้าประเภทจักสานก็เหมือนกัน หาความแตกต่างกันค่อนข้างจะยาก จะว่ามีการลอกเลียนแบบกันก็จะเป็นการดูถูกภูมิปัญญาไทยไปสักหน่อย
แต่มันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
ในมุมมองของผมสินค้า OTOP น่าจะมีรูปแบบการผลิตที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นพื้นฐานเสียก่อน
ขอให้พิจารณาว่าท้องถิ่นของเรามีอะไรดีที่สืบทอดกันมาในอดีต มีวัตถุดิบในท้องถิ่นที่เป็นปัจจัยการผลิตมากน้อยแค่ไหน หรือไม่ก็ต้องมีเรื่องราวความเป็นมาที่พอจะนำมาเป็นจุดขายได้ก็ยังดี
ขอยกตัวอย่างสินค้าที่มีปัจจัยการผลิตที่เป็นวัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น ที่กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา ซึ่งมีต้นกกจำนวนมาก ได้นำมาผลิตเป็นเครื่องจักสานต่างๆ เช่นเดียวกับที่ บ้านทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ได้นำต้นกกมาผลิตเป็นเครื่องจักสานต่างๆ
ถ้าทำได้อย่างนี้ผมว่าจะเป็นการดีมากๆ ซึ่งก็คิดว่าการให้การส่งเสริมของภาครัฐก็คงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ก็ยังมีอยู่มาก ที่ยังค้นหาเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นไม่ได้
ประการต่อมา สินค้า OTOP ยังขาดการพัฒนาในเรื่องรูปแบบให้แปลกใหม่ โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบประเภทเดียวกัน จะต้องฉีกแนว ไม่ให้ซ้ำกัน
เหมือนที่ภาครัฐได้มีการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นเรื่องดี แต่จะมีผู้ผลิตสักกี่รายที่เข้าใจในเรื่องนี้
ในงาน OTOP ครั้งล่าสุด ผมเห็นมีสินค้าที่ได้รับรางวัลชิ้นหนึ่ง (รู้สึกจะเป็นของนักศึกษาสถาบันราชภัฏสักแห่งหนึ่ง) นำเข่งปลาทูที่คนไทยเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี มาออกแบบเป็นกระเป๋าสะพายสุภาพสตรี ดูแล้วเก๋ไก๋มาก
อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของงานออกแบบที่จะต้องเข้าใจถึงแก่นแท้ของความเป็นไทย ซึ่งจะต้องนำมาใช้ในสินค้า OTOP ให้มากที่สุด
อีกประการหนึ่ง สินค้า OTOP ยังขาดคุณภาพและฝีมืออยู่อีกมาก อันนี้ดูเหมือนว่าเรายังมองข้ามไปบ้าง เท่าที่สังเกตสินค้าหลายอย่าง ผลิตขึ้นมาเหมือนว่ายั่วน้ำลายให้ผู้ซื้อหลงใหลกันชั่ววูบ แต่พอซื้อไปใช้ สินค้านั้นๆ ก็ไม่ได้มีคุณค่าคงทน ใช้ไปแค่หนสองหนก็ชำรุดเสียหาย
อย่างนี้แล้ว เราจะหวังให้ผู้ซื้อมาซื้อซ้ำสองในโอกาสต่อไปก็เห็นทีจะยาก เพราะฉะนั้น จะต้องมีการพัฒนาโดยจะต้องศึกษาวิจัยและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ เพื่อให้การผลิตสินค้ามีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะเป้าหมายของเราอยู่ที่การโกอินเตอร์ จะต้องให้ความสำคัญเรื่องการควบคุมคุณภาพให้มากกว่านี้
เรื่องฝีมือของเราก็เหมือนกัน คนไทยเราได้ชื่อว่ามีความประณีตละเอียดอ่อน อันเป็นจุดขายอย่างหนึ่ง ที่จะต้องรักษาไว้ให้คงทน
เหล่านี้เป็นเรื่องที่มองเห็นกันอยู่ เชื่อว่าหลายคนก็คงมองคล้ายๆ กัน
ทั้งนี้ทั้งนั้นเราหวังกันไว้ว่า สินค้า OTOP จะต้องเป็นสินค้าที่ผลิตมาจากชาวบ้าน โดยมีพื้นฐานมาจากภูมิปัญญาไทย และจะต้องพัฒนาไปอย่างยั่งยืน
ผมไม่สบายใจนักที่ได้ทราบข่าวว่า เบื้องลึกที่แท้จริงนั้น ชาวบ้านที่ประสบความสำเร็จมีอยู่ไม่กี่กลุ่ม เพราะปัญหาต่างๆ รุมเร้า โดยเฉพาะเงินทุน ที่อยู่ได้ตอนนี้เพราะการอุดหนุนของภาครัฐ วันใดที่รัฐปล่อยมือนั่นหมายถึงว่าล้มหายตายจาก
เอาง่ายๆ วันใดที่ภาครัฐเลิกจัดงาน OTOP สินค้าที่ชาวบ้านผลิตนั้นก็ไม่รู้ว่าจะไปขายที่ไหน จึงจะได้เงินเป็นกอบเป็นกำ
เขาพูดกันหนาหูว่าเวลานี้มีนายทุนเข้าไปสวมสิทธิ์ ที่เป็นของชาวบ้านจริงๆ มีแค่ 10% เท็จจริงประการใด คำตอบจะปรากฏให้เห็นขึ้นมาเรื่อยๆ
ดูอย่างการเปิดเสรีสุรากลั่น ที่ชาวบ้านมุ่งผลิตไวน์กันเมื่อสองปีก่อนที่มีตัวเลขสูง 1,800 กลุ่ม แต่พอมาถึงวันนี้ จากตัวเลขของทางการมีไม่ถึง 100 กลุ่ม
ผมจำได้ว่าชาวบ้านที่จังหวัดเลย ปลูกกระชายดำกันมาก และต่อมาแพร่ไปหลายจังหวัด เพื่อว่าจะส่งไปขายโรงงานผลิตไวน์ สุดท้ายไม่รู้จะขายใคร เพราะโรงงานเจ๊ง ชาวบ้านก็เลยต้องจอดไปตามๆ กัน
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าที่ประสบความสำเร็จนั้น ได้ถึงมือชาวบ้านมากน้อยเพียงใด
หวังแต่ว่าท่านประสบความสำเร็จทางการเมืองกับกลยุทธ์ที่กินใจชาวบ้านแล้ว ก็จงมุ่งพัฒนาสินค้าของชาวบ้านให้ยั่งยืนก็แล้วกัน
ไม่ใช่เพียงภาพที่สวยหรูอย่างเดียว ของจริงต้องตรวจสอบได้ด้วยนะครับ ที่มา:เทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 352วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548
--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--
-พห-
ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งของรัฐบาลที่ประสบความสำเร็จ อันเป็นหนึ่งในนโยบาย "คิดใหม่ ทำใหม่" ที่รัฐบาลได้ประกาศชัดเจนเมื่อคราวขึ้นมาบริหารประเทศใหม่ๆ เมื่อปี 2544
หากย้อนไปก่อนหน้านั้น "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" ก็ไม่ใช่ของใหม่แกะกล่อง แต่ได้ต่อยอดมาจาก ผลิตภัณฑ์ชุมชนกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ แต่เมื่อได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ เป็นสินค้าหนึ่งตำบล โดยเฉพาะภาครัฐให้การสนับสนุนหรือส่งเสริมอย่างจริงจังและชัดเจน ก็ทำให้นโยบายนี้ก่อเกิดผลเป็นรูปธรรมในเวลาอันรวดเร็ว
มีผลิตภัณฑ์ชุมชนเข้าสู่ตลาดมากมาย
นี้คือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่รัฐบาลชุดนี้ได้ป่าวประกาศอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันผ่านสื่อต่างๆ และโดยเฉพาะช่วงการหาเสียงที่ดำเนินมาอย่างเข้มข้นจนวันนี้
หากวัดความสำเร็จจากตัวเลขยอดขาย 20,000 ล้านบาท ต่อปี ตามที่รัฐบาลได้แถลงมานั้น ก็เป็นสิ่งที่น่าปลื้มใจเป็นอย่างมาก แต่ในความสำเร็จที่ว่านั้นก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ว่าเป็นความล้มเหลว น่าที่จะหยิบยกมาพูดถึงกันให้มากๆ
ผมในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่ได้ติดตามข่าวสารในเรื่องนี้มาโดยตลอด ทั้งการรับฟังสัมมนาจากนักวิชาการหรือผู้รู้ และโดยเฉพาะการไปสังเกตการณ์ในงานแสดงสินค้า OTOP ที่เมืองทองธานี 2-3 ครั้ง ที่ผ่านมา รวมทั้งครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2547
มองว่าเป็นนโยบายที่ดีที่ชาวบ้านจะได้รู้เรื่องการค้าการขายกันมากขึ้น รู้ว่าสินค้าที่ผลิตต้องผลิตกันอย่างไรจึงจะถูกใจผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ จากเดิมที่โอกาสของชาวบ้านถูกปิดกั้นอยู่แค่ในท้องถิ่นเท่านั้น
การได้รู้จักกับผู้บริโภค รู้ว่าผู้ซื้อเป็นใคร ถือเป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของการผลิตสินค้าที่แม้ว่าจะผลิตอะไรก็แล้วแต่ ราคาจะมากจะน้อยก็ตาม ถ้าไม่รู้ว่าลูกค้าเป็นใครก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ
นี่คือสิ่งที่จะต้องชมเชย
แต่ที่จะพูดถึงต่อไปนี้ก็คือเรื่องที่อยากจะแสดงความคิดเห็นกับเขาบ้าง อาจจะพื้นๆ หรือผิวเผิน แต่ก็เป็นสิ่งที่ผมได้เห็นจากที่ได้ไปร่วมงานหลายครั้ง
ประการแรก มองว่าสินค้า OTOP (ต่อไปนี้ขอใช้คำนี้ เพราะว่าชาวบ้านของเราเริ่มเรียกกันคุ้นเคยแล้ว) ยังซ้ำซาก และจำเจอยู่กับที่อีกมาก
มีหลายกลุ่ม หลายผลิตภัณฑ์ ที่ผลิตเหมือนกัน ทำมาเหมือนกัน ยกตัวอย่าง สินค้าประเภทอาหารการกินที่ส่วนใหญ่ยังวนเวียนอยู่กับที่ ผลิตกันแบบไม่ได้มีการวางแผนการตลาด เมื่อถึงเวลาก็มาจำหน่ายแข่งขันกัน หรือสินค้าประเภทจักสานก็เหมือนกัน หาความแตกต่างกันค่อนข้างจะยาก จะว่ามีการลอกเลียนแบบกันก็จะเป็นการดูถูกภูมิปัญญาไทยไปสักหน่อย
แต่มันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
ในมุมมองของผมสินค้า OTOP น่าจะมีรูปแบบการผลิตที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นพื้นฐานเสียก่อน
ขอให้พิจารณาว่าท้องถิ่นของเรามีอะไรดีที่สืบทอดกันมาในอดีต มีวัตถุดิบในท้องถิ่นที่เป็นปัจจัยการผลิตมากน้อยแค่ไหน หรือไม่ก็ต้องมีเรื่องราวความเป็นมาที่พอจะนำมาเป็นจุดขายได้ก็ยังดี
ขอยกตัวอย่างสินค้าที่มีปัจจัยการผลิตที่เป็นวัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น ที่กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา ซึ่งมีต้นกกจำนวนมาก ได้นำมาผลิตเป็นเครื่องจักสานต่างๆ เช่นเดียวกับที่ บ้านทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ได้นำต้นกกมาผลิตเป็นเครื่องจักสานต่างๆ
ถ้าทำได้อย่างนี้ผมว่าจะเป็นการดีมากๆ ซึ่งก็คิดว่าการให้การส่งเสริมของภาครัฐก็คงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ก็ยังมีอยู่มาก ที่ยังค้นหาเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นไม่ได้
ประการต่อมา สินค้า OTOP ยังขาดการพัฒนาในเรื่องรูปแบบให้แปลกใหม่ โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบประเภทเดียวกัน จะต้องฉีกแนว ไม่ให้ซ้ำกัน
เหมือนที่ภาครัฐได้มีการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นเรื่องดี แต่จะมีผู้ผลิตสักกี่รายที่เข้าใจในเรื่องนี้
ในงาน OTOP ครั้งล่าสุด ผมเห็นมีสินค้าที่ได้รับรางวัลชิ้นหนึ่ง (รู้สึกจะเป็นของนักศึกษาสถาบันราชภัฏสักแห่งหนึ่ง) นำเข่งปลาทูที่คนไทยเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี มาออกแบบเป็นกระเป๋าสะพายสุภาพสตรี ดูแล้วเก๋ไก๋มาก
อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของงานออกแบบที่จะต้องเข้าใจถึงแก่นแท้ของความเป็นไทย ซึ่งจะต้องนำมาใช้ในสินค้า OTOP ให้มากที่สุด
อีกประการหนึ่ง สินค้า OTOP ยังขาดคุณภาพและฝีมืออยู่อีกมาก อันนี้ดูเหมือนว่าเรายังมองข้ามไปบ้าง เท่าที่สังเกตสินค้าหลายอย่าง ผลิตขึ้นมาเหมือนว่ายั่วน้ำลายให้ผู้ซื้อหลงใหลกันชั่ววูบ แต่พอซื้อไปใช้ สินค้านั้นๆ ก็ไม่ได้มีคุณค่าคงทน ใช้ไปแค่หนสองหนก็ชำรุดเสียหาย
อย่างนี้แล้ว เราจะหวังให้ผู้ซื้อมาซื้อซ้ำสองในโอกาสต่อไปก็เห็นทีจะยาก เพราะฉะนั้น จะต้องมีการพัฒนาโดยจะต้องศึกษาวิจัยและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ เพื่อให้การผลิตสินค้ามีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะเป้าหมายของเราอยู่ที่การโกอินเตอร์ จะต้องให้ความสำคัญเรื่องการควบคุมคุณภาพให้มากกว่านี้
เรื่องฝีมือของเราก็เหมือนกัน คนไทยเราได้ชื่อว่ามีความประณีตละเอียดอ่อน อันเป็นจุดขายอย่างหนึ่ง ที่จะต้องรักษาไว้ให้คงทน
เหล่านี้เป็นเรื่องที่มองเห็นกันอยู่ เชื่อว่าหลายคนก็คงมองคล้ายๆ กัน
ทั้งนี้ทั้งนั้นเราหวังกันไว้ว่า สินค้า OTOP จะต้องเป็นสินค้าที่ผลิตมาจากชาวบ้าน โดยมีพื้นฐานมาจากภูมิปัญญาไทย และจะต้องพัฒนาไปอย่างยั่งยืน
ผมไม่สบายใจนักที่ได้ทราบข่าวว่า เบื้องลึกที่แท้จริงนั้น ชาวบ้านที่ประสบความสำเร็จมีอยู่ไม่กี่กลุ่ม เพราะปัญหาต่างๆ รุมเร้า โดยเฉพาะเงินทุน ที่อยู่ได้ตอนนี้เพราะการอุดหนุนของภาครัฐ วันใดที่รัฐปล่อยมือนั่นหมายถึงว่าล้มหายตายจาก
เอาง่ายๆ วันใดที่ภาครัฐเลิกจัดงาน OTOP สินค้าที่ชาวบ้านผลิตนั้นก็ไม่รู้ว่าจะไปขายที่ไหน จึงจะได้เงินเป็นกอบเป็นกำ
เขาพูดกันหนาหูว่าเวลานี้มีนายทุนเข้าไปสวมสิทธิ์ ที่เป็นของชาวบ้านจริงๆ มีแค่ 10% เท็จจริงประการใด คำตอบจะปรากฏให้เห็นขึ้นมาเรื่อยๆ
ดูอย่างการเปิดเสรีสุรากลั่น ที่ชาวบ้านมุ่งผลิตไวน์กันเมื่อสองปีก่อนที่มีตัวเลขสูง 1,800 กลุ่ม แต่พอมาถึงวันนี้ จากตัวเลขของทางการมีไม่ถึง 100 กลุ่ม
ผมจำได้ว่าชาวบ้านที่จังหวัดเลย ปลูกกระชายดำกันมาก และต่อมาแพร่ไปหลายจังหวัด เพื่อว่าจะส่งไปขายโรงงานผลิตไวน์ สุดท้ายไม่รู้จะขายใคร เพราะโรงงานเจ๊ง ชาวบ้านก็เลยต้องจอดไปตามๆ กัน
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าที่ประสบความสำเร็จนั้น ได้ถึงมือชาวบ้านมากน้อยเพียงใด
หวังแต่ว่าท่านประสบความสำเร็จทางการเมืองกับกลยุทธ์ที่กินใจชาวบ้านแล้ว ก็จงมุ่งพัฒนาสินค้าของชาวบ้านให้ยั่งยืนก็แล้วกัน
ไม่ใช่เพียงภาพที่สวยหรูอย่างเดียว ของจริงต้องตรวจสอบได้ด้วยนะครับ ที่มา:เทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 352วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548
--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--
-พห-