สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันพุธที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

ข่าวการเมือง Thursday November 24, 2005 10:28 —รัฐสภา

                    การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๒ ปีที่ ๑ ครั้งที่ ๒๘ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)                 วันพุธที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘  เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๓.๓๓ นาฬิกา โดยมีรองศาสตราจารย์ลลิตา      ฤกษ์สำราญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานการประชุม เมื่อครบองค์ประชุม ประธานฯ ได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระการประชุมดังนี้
๑. กระทู้ถาม (ไม่มี)
๒. เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม
๒.๑ รับทราบเรื่องที่วุฒิสภาได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติ ซึ่ง
สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบแล้ว จำนวน ๒ ฉบับ คือ
- ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. ….
- ร่างพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
๒.๒ รับทราบเรื่องที่วุฒิสภาได้ลงมติให้ขยายเวลาการพิจารณาร่าง
พระราชบัญญัติ ออกไปเป็นกรณีพิเศษอีก ๓๐ วัน นับแต่วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ตามมาตรา ๑๗๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จำนวน ๒ ฉบับ คือ
- ร่างพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
(กำหนดโทษปรับของห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ไม่ดำเนินการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการ)
- ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (กำหนดหลักการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนสามัญ)
๒.๓ รับทราบเรื่องนายกรัฐมนตรีได้รับร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน
ไว้พิจารณาให้คำรับรอง ๔ ฉบับ คือ
- ร่างพระราชบัญญัติเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. ….
- ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
- ร่างพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. ….
- ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ….
ที่ประชุมรับทราบ
๓. รับรองรายงานการประชุม (ไม่มี)
เรื่องที่มีมติให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน
- ร่างพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. …. (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) จะเป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๒ ปีที่ ๑ ครั้งที่ ๒๖ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ วันพุธที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
ประธานฯ กล่าวต้อนรับคณะอาจารย์และนักศึกษา สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก จำนวน ๒๕๐ คน ที่เข้ามาเยี่ยมชมการประชุม สภาผู้แทนราษฎร
สมาชิกฯ ได้อภิปรายไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ดังนี้ คือ ๑. สถิติต่าง ๆ ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจในการบริหารประเทศ ๒. ในมาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากร่างเดิม เพราะการใช้กฎหมายเพื่อเรียกข้อมูลเดิมมาใช้ ไม่สามารถใช้ตัดสินใจ ในการแก้ปัญหาได้ แต่สิ่งที่ทำให้สังคมกังวลคือ ในมาตรา ๙ ที่ระบุว่า หน่วยงานใดจะดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำสถิติในเรื่องใด ให้แจ้งสำนักงานสถิติแห่งชาติทราบ พร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ แผนงาน และระเบียบวิธีในการจัดทำไม่น้อยกว่า ๕ วัน ก่อนที่จะดำเนินการ มาตรานี้จะเป็นปัญหาในการสำรวจประชามติที่เป็นกระจกสะท้อนถึงการดำเนินงานในทางการเมือง ส่วนมาตรา ๑๐ นั้น ห้ามสถาบันทางวิชาการของรัฐ ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งขัดแย้งกับกฎหมาย รัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๒
สมาชิกฯ ได้อภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัตินี้อย่างกว้างขวาง กรณี การเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นจริง สะดวก และควบคุมได้ และมีเจตนารมย์เพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย แต่ขอให้สภาฯ ระบุรายละเอียดตัวเลขข้อมูลสถิติที่สามารถอ้างอิงได้ให้ชัดเจน ซึ่งหน่วยงานอื่นสามารถจะขอไปใช้ประโยชน์ได้
กรรมาธิการฯ อภิปรายถึงเจตนารมย์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ที่ไม่เกี่ยวกับการสำรวจความคิดเห็น ความรู้สึกของประชาชน แต่ประการใด สำหรับมาตรา ๙ นั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ทุกหน่วยงานมีการทำสถิติไว้ แต่ไม่ได้ประกาศให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน ถ้ามีหน่วยงานใดจะทำการสำรวจสถิติเรื่องเดิมอีกก็สามารถขอข้อมูลไปศึกษาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไปได้
มีการลงมติรับหลักการ ๒๘๒ เสียง คณะรัฐมนตรีเสนอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน ๓๕ คน รัฐบาล ๕ คน พรรคไทยรักไทย ๒๒ คน พรรคประชาธิปัตย์ ๖ คน และพรรคชาติไทย ๒ คน และกำหนดระยะเวลาการแปรญัตติ ๗ วัน ตามข้อบังคับ
๔. เรื่องที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
- ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่
ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ….
ชื่อร่างพระราชบัญญัติฯ ไม่มีการแก้ไข
คำปรารภ ไม่มีการแก้ไข
มาตรา ๑ ไม่มีการแก้ไข
มาตรา ๒ มีการแก้ไข มีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติ
นายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรค ประชาธิปัตย์ ขอสงวนคำแปรญัตติ เนื่องจากได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำปรารภเพื่อให้ครอบคลุมกับผู้บริโภคทุกส่วน จากเดิม โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยความรับผิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เปลี่ยนเป็น โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยความรับผิดจากสินค้าที่คุณภาพไม่มีมาตรฐานและ ไม่ปลอดภัย
สมาชิกฯ ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางในกรณีของมาตรา ๒ ทำไมต้องมีเงื่อนเวลา ๙๐ วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงจะใช้บังคับได้ และมาตรา ๔ คำนิยามของคำว่า “สินค้า” “ความเสียหาย” “สินค้าไม่ปลอดภัย” และ “อาคาร” หมายความว่าอย่างไร
นายธีระวัฒน์ จันทรสมบูรณ์ ในฐานะกรรมาธิการ จากสำนักงานคณะกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภค ชี้แจงว่า คำปรารภเดิมมีความครอบคลุมที่กว้างอยู่แล้ว
นายสุภาพ คลี่กระจาย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ อภิปรายต่อ ข้อซักถามเงื่อนเวลาว่า ที่ต้องมีการกำหนดเงื่อนเวลาไว้นั้น เพราะมีบางเรื่อง บางมาตรา ต้องกำหนดเป็นกฎกระทรวง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับประชาชนก่อน ถือเป็นเวลาที่เหมาะสม
ประธานฯ จึงให้มีการลงมติเห็นชอบกับคำปรารภโดยไม่มีการแก้ไขดังนี้ เห็นชอบตามกรรมาธิการฯ ๒๒๑ เสียง ไม่เห็นชอบ ๑๓ เสียง งดออกเสียง ๒ เสียง จากนั้นประธานฯ ดำเนินการประชุมโดยเรียงลำดับตามมาตราดังนี้
มาตรา ๓ ไม่มีการแก้ไข
มาตรา ๔ ไม่มีการแก้ไข
กรรมาธิการฯ ขอแก้ไขคำจำกัดความในมาตรา ๔ คำว่า “สินค้าไม่ปลอดภัย” ในบรรทัดที่ ๔ ตัดคำว่า รวมทั้ง ทิ้งไป ยังคงเป็น ลักษณะการใช้งาน การเก็บรักษา การกำจัดทำลาย และการใช้บริการตามปกติ ธรรมดาของสินค้า อันควรมีความปลอดภัยในระดับที่วิญญูชน พึงคาดหวังได้ และขอแก้ไขเพิ่มเติมคำจำกัดความ “ผลิต” เพิ่มคำว่า “ปลูกสร้าง” เข้าไปหลังคำว่า “ทำ” ทุกอย่างเหมือนเดิม เพื่อความสมบูรณ์ ที่ประชุมมีการลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขในมาตรา ๔ ของกรรมาธิการฯ ๒๖๖ เสียง
มาตรา ๕ ไม่มีการแก้ไข มีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติ
มาตรา ๖ มีการแก้ไข
มาตรา ๗ มีการแก้ไข มีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติ
นายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรค ประชาธิปัตย์ ขอสงวนคำแปรญัตติ และขอตัดความในมาตรา ๗ ซึ่งเงื่อนไขในมาตรา ๗ นั้น การพิสูจน์ความรับผิด จะเป็นหน้าที่ของผู้บริโภค
สมาชิกฯ อภิปรายอย่างกว้างขวางในกรณีมาตรา ๗ (๒) ถามกรรมาธิการฯ ถ้าสินค้าไม่ปลอดภัย ปล่อยให้ออกมาขายได้อย่างไร และกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยอย่างไร
กรรมาธิการฯ อภิปรายต่อข้อซักถาม มาตรา ๗(๒) ว่า ที่เขียนข้อยกเว้น ความรับผิดให้กับผู้ประกอบการไว้ มีเหตุผลสำคัญคือ มีความต้องการให้ผู้บริโภคมีส่วนช่วยป้องกันความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยอีกด้านหนึ่งด้วย ซึ่งผู้ประกอบการจะพ้นผิดได้ต้องพิสูจน์ ให้ได้ว่า ผู้เสียหายรู้ชัดเจนอยู่แล้วว่าจะเกิดความเสียหายนั้นกับตน แต่ยังเสี่ยงเข้ารับความเสียหายจาก สินค้านั้นโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร
เมื่อผู้สงวนคำแปรญัตติไม่ติดใจ ประธานฯ จึงไม่ให้ลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขของกรรมาธิการฯ และดำเนินการตามระเบียบวาระการประชุมต่อไป
มาตรา ๘ มีการแก้ไข มีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติ
สมาชิกฯ อภิปรายอย่างกว้างขวาง กรณีมาตรา ๘ วรรค ๒ เป็นการบัญญัติที่กว้างไปหรือไม่ และเปลี่ยนจาก ”ส่วนประกอบ” เป็น “ชิ้นส่วน” เพราะเหตุใด และในมาตรา ๘ (๒) คำว่า คาดเห็น นั้น เป็นภาษากฎหมายหรือไม่
กรรมาธิการฯ อภิปรายเกี่ยวกับมาตรา ๘ วรรค ๑ ว่า เป็นเรื่องของเจ้าของธุรกิจกับเจ้าของโรงงานผลิตไม่ได้ตัดความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจออกไป ซึ่งถ้าผู้เสียหายฟ้อง ก็ฟ้องได้ทั้งเจ้าของธุรกิจและเจ้าของโรงงานผลิต แต่ถ้าผู้ผลิตพิสูจน์ได้ตามมาตรา ๘ (๑) และ (๒) ก็พ้นผิด และกรรมาธิการฯ ขอเพิ่มเติมว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบของสินค้า ไม่ต้องรับผิด เมื่อพิสูจน์ได้ว่าความไม่ปลอดภัยของสินค้ามิได้เกิดจากความไม่ปลอดภัยของชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบของสินค้านั้น แต่เกิดจากการออกแบบ การประกอบหรือการกำหนดวิธีใช้ วิธีคำปรึกษา วิธีกำจัดทำลาย คำเตือน หรือการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าของผู้ผลิตสินค้า สำหรับคำว่า คาดเห็น นั้นมีใช้ในมาตรา ๒๒๒ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๙ มีการแก้ไข มีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติ
มาตรา ๑๐ มีการแก้ไข มีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติ
สมาชิกฯ อภิปรายอย่างกว้างขวางกรณีมาตรา ๑๐ วรรค ๒ ถือเป็นการ ผลักภาระให้แก่ผู้บริโภค หรือผู้ฟ้องแทนผู้บริโภคหรือไม่ ขอให้ตัดตั้งแต่ “แต่ไม่รวมถึงความรับผิดใน
ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด” และมาตรา ๑๐ (๒) “ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมนั้น” ออกไป เพราะเป็นการ ปิดกั้นประชาชน ส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมนั้น
กรรมาธิการฯ อภิปรายต่อข้อซักถามของสมาชิกฯ และให้คงไว้ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่ฟ้องแล้วชนะคดี ศาลจะให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมศาลแทนโจทก์ และอภิปรายต่อว่ามาตรา ๑๐ (๒) นี้ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ได้รับความเสียหายจากการบริโภคเข้าถึงสำนักงาน คุ้มครองผู้บริโภคได้โดยง่ายขึ้น เพียงแต่ผู้เสียหายสมัครเข้าเป็นสมาชิกสมาคมฯ เท่านั้น สมาคมก็จะสามารถฟ้องแทนโดยได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมมากมาย
ในมาตรา ๑๐ นี้ เมื่อมีกรรมาธิการฯ เสียงส่วนน้อยขอสงวนคำแปรญัตติไว้ ประธานฯ จึงให้มีการลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ ด้วยคะแนน ๒๔๕ เสียง
มาตรา ๑๐/๑ กรรมาธิการฯ เสียงส่วนใหญ่เพิ่มเติมขึ้นมา และมีผู้ขอสงวนความคิดเห็นไว้
สมาชิกฯ อภิปรายกันอย่างกว้างขวางกรณีมาตรา ๑๐/๑ ที่ยังไม่มีผลบังคับ ในทางคดี เพราะไม่มีกฎหมายรองรับไว้
กรรมาธิการฯ เสียงส่วนใหญ่อภิปรายเกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งกำลังอยู่ในวาระ ๓ ของประมวลพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ และจะมีผลบังคับใช้ได้ทันในต้นปี ๒๕๔๙ ซึ่งกลุ่มบุคคลที่เป็นโจทก์ร่วม จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินคดี โดยไม่ต้องมาศาลเอง
มีการลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขของกรรมาธิการฯ เสียงส่วนใหญ่ด้วย ๒๕๘ เสียง ไม่เห็นด้วย ๕ เสียง
มาตรา ๑๑ มีการแก้ไข มีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติ
สมาชิกฯ อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง กรณีความหมายของคำว่า “ค่าเสียหาย” กับ “ค่าสินไหมทดแทน” ต่างกันอย่างไร และหลักเกณฑ์ที่จะเรียกค่าเสียหายเพื่อการลงโทษนั้นในกฎหมายอื่นหรือไม่
กรรมาธิการฯ อภิปรายต่อกรณีค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ มีใช้ในพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. ๒๕๔๕ และการกำหนดการลงโทษไว้ ๒ เท่า
มาตรา ๑๒ มีการแก้ไข
มาตรา ๑๓ มีการแก้ไข
มาตรา ๑๔ มีการแก้ไข
กรรมาธิการฯ อภิปรายถึงมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ ว่า เป็นเรื่องของอายุความ และมาตรา ๑๒ วรรคท้ายนั้น ขยายอายุความขึ้นเป็น ๑๐ ปี เพิ่มเข้ามา เพื่อจะเป็นการป้องปราม ผู้กระทำความผิด สำหรับความหมายของ “จำนวนเล็กน้อย” นั้น ให้ศาลใช้ดุลพินิจเป็นเรื่อง ๆ ไป
มาตรา ๑๕ มีการแก้ไข มีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติ
นายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ตัดความในมาตรา ๑๕ เพราะมาตรานี้คำนึงถึงผู้ประกอบการมากกว่าผู้บริโภค และในมาตรา ๑๒ ขัดแย้งกับมาตรา ๑๕ นี้ด้วย และขอเพิ่มความรับผิดทางอาญาในมาตรา ๑๕ นี้ เพื่อเป็นความรับผิด ต่อสังคม
กรรมาธิการฯ อภิปรายขอคงความในมาตรา ๑๕ ไว้ เพราะผู้ประกอบการ ได้ประกอบสินค้าภายใต้กฎหมายในขณะนั้นอย่างถูกต้อง เมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกมาแล้วจะเอาผิดย้อนหลังนั้นถือว่าขาดความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ ซึ่งมาตรานี้จะคุ้มครองถ้าสินค้านั้นผลิตและ มีอยู่ในตลาด ถ้าผู้ผลิตเห็นว่าสินค้าไม่ปลอดภัย ก็จะต้องเรียกเก็บคืน แต่ถ้ายังวางขายอยู่ และส่งมอบให้แก่ผู้บริโภคต้องรับผิดตามกฎหมายฉบับนี้
มาตรา ๑๖ ไม่มีการแก้ไข
ที่ประชุมมีการลงมติเห็นชอบในวาระที่ ๒ ๒๖๑ เสียง และเห็นด้วยกับ ข้อสังเกตของกรรมาธิการฯ ๒๒๙ เสียง ให้ประธานฯ ส่งข้อสังเกตให้คณะรัฐมนตรี เพื่อรับทราบและดำเนินการต่อไป
ปิดประชุมเวลา ๑๙.๓๘ นาฬิกา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ