แนะสมศ.ปรับปรุงผู้ประเมินอย่าติดราชการ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 1, 2005 17:18 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหาร สมศ. ซึ่งมี ดร.โอฬาร ไชยประวัติ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลประเมินการดำเนินงานของ สมศ. ตั้งแต่ 1 ต.ค. 47 ถึง 31 มี.ค. 48 โดยผลงานสรุปโดยรวมอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 90.77 โดยด้านการพัฒนาองค์กรได้ร้อยละ 91.25 ด้านประสิทธิภาพการบริการสำนักงานได้ร้อยละ 89.00 และด้านสัมฤทธิผลตามพันธกิจและผลผลิตของสำนักงานได้ร้อยละ 90.98 และยังได้พิจารณาต่อสัญญาให้ตนเป็นผอ.สมศ.ต่ออีกวาระหนึ่ง ตั้งแต่ 1 ส.ค. 2548-31 ก.ค. 2552
ศ.ดร.สมหวัง กล่าวต่อไปว่า สำหรับการประเมินสถานศึกษาในรอบแรก ซึ่งบอร์ด สมศ.ได้มีมติให้ประเมินรอบแรกให้แล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค. 2548 นั้น ขณะนี้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานยังมีเหลือไม่ได้ประเมินอยู่ 180 โรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากปัญหาความไม่สงบ ที่ประชุมจึงอนุมัติในหลักการให้ปรับรูปแบบการประเมิน โดยใช้รูปแบบการประเมินเสริมการวิจัยเข้มข้น ไม่ต้องลงไปเยี่ยมสถานศึกษา โดยจะมีคนกลางเข้ามาช่วยตรวจสอบผลการประเมินเพื่อให้แน่ใจว่ามีมาตรฐานและคุณภาพทัดเทียมกับที่อื่น
ด้าน ดร.ชุมพล พรประภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกลางเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการประเมินคุณภาพภายนอกโรงเรียนช่างกลอุดรธานีที่ผู้บริหารสถานศึกษาร้องเรียนว่าผู้ประเมินภายนอกของ สมศ. เรียกร้องเงิน เปิดเผยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ผลสรุปว่า คณะผู้ประเมินไม่ได้เรียกร้องเงิน แต่มูลเหตุเกิดจากพฤติกรรมของผู้ประเมินเพียง 1 คนที่ไม่สุภาพ ประกอบกับเคยเป็นข้าราชการมาก่อน จึงทำให้ยังติดยึดกับรายงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรนำไปสู่ความไม่เข้าใจ เช่น การตีความกิจกรรมช่วยสังคม ผู้ประเมินจะดูที่จำนวนงบประมาณ แต่การที่เจ้าของโรงเรียนสามารถขอรับเงินช่วยเหลือจากบริษัทเอกชนในการส่งคนไปร่วมปฏิบัติงานช่วยชุมชน กลับไม่ได้ตีมูลค่าส่วนนี้ให้ และแทนที่จะชมกลับตำหนิ ทั้งที่การระดมทรัพยากรจากหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อไปช่วยเหลือสังคมเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย
คณะอนุกรรมการกลางฯได้มีข้อเสนอให้ปรับปรุงการประเมินภายนอก โดยผู้ประเมินควรมีการสรุปรายละเอียดอย่างชัดเจนให้เจ้าของทราบและสามารถโต้แย้งได้, หลักสูตรในการอบรมผู้ประเมินควรเข้มข้นยิ่งขึ้น อย่ายึดแนวราชการมากเกินไป และควรมีตัวแทนจากสภาหอการค้าฯ และสภาอุตสาห กรรมฯ เข้าร่วมในทีมด้วย เพื่อช่วยลดการเข้าใจผิด ดร.ชุมพล กล่าว
ที่มา: หอการค้าไทย www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ