ปาฐกถา เรื่อง “บทบาทคณะแพทยศาสตร์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ” โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 18, 2005 10:48 —กระทรวงการคลัง

                                     ปาฐกถา เรื่อง
“บทบาทคณะแพทยศาสตร์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ”*
โดย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี
12 พฤษภาคม 2547
ท่านอธิการบดี ท่านอดีตอธิการบดี ท่านคณบดี ท่านคณาจารย์ และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน
ชื่อเสียงของโรงพยาบาลรามาธิบดี ชื่อเสียงของมหาวิยาลัยมหิดลมีมานานแล้ว ตั้งแต่ผมยังเป็นหนุ่ม เป็นนักศึกษา ผมก็มีโอกาสได้ยิน ได้ฟัง แต่ก็ไม่เคยมีโอกาสได้เข้ามาสัมผัสเลย จวบจนกระทั่งเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา เมื่อผมได้รู้จักกับท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง คือท่านผู้หญิงวิริยา ซึ่งได้ให้ผมเข้ามาช่วยเหลือในการรณรงค์จัดหาทุนให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดีในครั้งนั้น ณ ขณะนั้นสุขภาพผมไม่ค่อยจะดีนัก ท่านก็เลยแนะนำให้กระผมนั้นได้รู้จักกับคุณหมอท่านหนึ่ง ท่านก็คือคุณหมอรัชตะ รัชตะนาวิน ได้ฝากฝังคุณหมอไว้ว่าให้ช่วยดูแลสุขภาพตรวจเช็คร่างกายให้กระผมด้วย
จากวันนั้นเป็นต้นมา ทุกครั้งที่มีโอกาสได้เข้าไปตรวจสุขภาพ ก็ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผมก็เคยเล่าให้คุณหมอฟังว่ารัฐบาลทำอะไรบ้าง และมีเจตนาอะไรบ้างในการบริหารราชการแผ่นดิน ตัวผมเองก็ไม่ได้เคยคิดว่าจะได้มาอยู่มีตำแหน่งในการบริหารประเทศ แต่ตั้งใจเพียงว่าถ้าหากมีโอกาส ก็อยากจะเป็นตัวอย่างที่ดีของรุ่นน้องๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ซึ่งไม่เคยเกี่ยวข้องกับการเมืองว่าถ้าหากวันหนึ่งเรามีโอกาส และถ้าเราพร้อม เราก็ควรที่จะตอบแทนคุณแผ่นดินโดยการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และถ้าหากท่านเข้ามาทำการเมืองโดยจิตใจที่ใสสะอาด ตั้งใจทำงาน ท่านก็จะสามารถอยู่รอดได้ และจะสามารถทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศได้ ผมมีความเชื่ออย่างนั้น
คุณหมอรัชตะก็ได้กรุณาเล่าให้ผมฟังถึงเรื่องราวของโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้มีโอกาสแสดงถึงความตั้งใจที่ท่านมีในการพัฒนาโรงพยาบาลรามาธิบดี ผมก็เห็นความตั้งใจจริงของท่าน ก็ได้เรียนท่านว่ามีอะไรที่ให้ผมช่วยได้ผมยินดีที่จะช่วยสนับสนุน และแล้ววันหนึ่งผมก็ได้ข่าวว่าคุณหมอรัชตะได้เป็นคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี
ผมจำได้ว่าผมได้เรียนท่านว่าเมื่อท่านเป็นหมอ แม้ว่าท่านจะทำงานหนักเพียงใดก็แล้วแต่ แต่ว่าสุขภาพของท่านจะไม่ทรุดโทรม เพราะท่านรู้ว่าท่านจะ Control ตัวเองอย่างไร ท่านดูแลควบคุมได้ทุกอย่าง แต่เมื่อท่านเข้าสู่ตำแหน่งบริหาร ผมเคยผ่านมาแล้วทั้งในวงการศึกษา และก็ 4 ปีที่อยู่ในวงการรัฐบาล การเป็นผู้บริหารเป็นสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้องกับมนุษย์ เกี่ยวข้องกับจิตใจของแต่ละคน ซึ่งต่างคนต่างจิตต่างใจ บทพิสูจน์ของผู้บริหารก็คือว่าจะทำอย่างไรที่จะชี้นำ ที่จะระดมพลัง ที่จะพยายามชักชวนให้ทุกคนเห็นร่วมกันในวัตถุประสงค์ร่วม ผลักดันให้ภารกิจต่างๆ บรรลุได้ สิ่งเหล่านั้นเป็นงานหนัก และต้องใช้ความอดทน ต้องรับฟัง ต้องมีวิจารณญาณ ฉะนั้นงานข้างหน้านั้นใหญ่หลวงนัก และต้องใช้ความอดทนเป็นพิเศษ
แล้วผมก็ได้เรียนท่านว่าถ้ามีอะไรให้ผมรับใช้ก็ขอให้บอกเลย ผมยินดีสนับสนุนเต็มที่ เพราะว่าได้เห็นในความตั้งใจจริงที่ท่านมีต่อโรงพยาบาลรามาธิบดี มีต่อมหาวิทยาลัยมหิดล และก็มีต่อประเทศชาติ ผ่านมาแล้วประมาณ 5 เดือน ผมจำไม่ผิดประมาณครึ่งปีได้ คุณหมอรัชตะดูจะชราภาพลงไปนิดหน่อย แต่ว่าในความตั้งใจของท่านก็ยังไม่มีอะไรที่ถดถอยเลย ฉะนั้นเมื่อท่านบอกว่าอยากจะให้ผมมากล่าวอะไรบางอย่างในวันนี้ ผมก็เรียนท่านบอกว่าผมยินดีเป็นอย่างยิ่ง และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่าขึ้นมาบรรยายแล้วผมรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตเป็นอย่างสูง เพราะว่าผมอยู่ท่ามกลางแพทย์และพยาบาลกว่าครึ่งหมื่นคน ก็ถือว่าเป็นเกียรติอย่างสูงในวันนี้
ท่านผู้มีเกียรติครับ รัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้มีโอกาสบริหารราชการแผ่นดินมาครบ 1 สมัย และในสมัยที่ 2 ก็ผ่านมาแล้วประมาณ 5 เดือน ในช่วง 4 ปีกว่าที่ผ่านมานี้ เราได้เผชิญกับสิ่งต่างๆ หลายรูปแบบ ตั้งแต่ตอนจุดเริ่มต้นที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังทรุดถอยอย่างรุนแรง และด้วยความพยายามร่วมมือกับเอกชน ร่วมมือกับประชาชน เราก็สามารถผ่านอุปสรรคต่างๆ เหล่านั้นมาได้ และเราก็มีโอกาสได้พบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เติบโตสูงมากอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในหลายปีที่ผ่านมา อยู่ถึง 2 -3 ปี
แต่ในช่วงปี 2547 นับว่าประเทศเริ่มเผชิญกับมรสุมหลายๆ อย่าง ตั้งแต่ต้นปีจวบปลายปี แต่ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างจะแข็งแกร่ง โชคดีที่เราฟื้นตัวเร็ว ฐานะเหล่านั้นก็ช่วยสามารถพยุงให้เศรษฐกิจของเราฝ่าด่านของปี 2547 มาได้ เรามีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 6.1 ทั้งปี เป็นที่ 2 ของเอเชีย
แต่พอก้าวเข้าสู่ปี 2548 ก็ไม่เคยปรากฏอีกเหมือนกัน ที่มรสุมใหญ่ที่ผมนับดูแล้วประมาณ 5 ลูกใหญ่ๆ เกิดขึ้นพร้อมๆ กันในไตรมาสที่ 1 ตั้งแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าสึนามิ ตั้งแต่เรื่องของราคาน้ำมันที่แพงขึ้นมา ตั้งแต่ในเรื่องของการมีระเบิดทางภาคใต้ เรื่องของหวัดนก เรื่องต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ลำพังเฉพาะแค่เรื่องหนึ่งเรื่องใดในอดีต สามารถคว่ำรัฐบาลได้ ยกตัวอย่างเรื่องเฉพาะแค่ว่าน้ำมันเพียงอย่างเดียว แต่นี่เรามีหลายสิ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน กระทบทั้งในเชิงของต้นทุนการผลิต กระทบทั้งในเชิงของการส่งออก กระทบในเชิงของการท่องเที่ยว และที่สำคัญที่สุดคือกระทบความรู้สึกของประชาชน
เศรษฐกิจเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับมนุษย์ เศรษฐกิจไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลขตามตำรา เมื่อไรก็ตามที่พฤติกรรมมนุษย์เปลี่ยน พฤติกรรมนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไปด้วย เราฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์คราวที่แล้วก็เพราะว่าเรามีความมั่นใจ ทุกสัดส่วนเคลื่อนที่ เคลื่อนไหวพร้อมๆ กัน รัฐบาลนำ เอกชนตาม เอกชนมีกำลังใจ มีการลงทุน ทุกอย่างขับเคลื่อน จากสภาพใกล้จะหายนะก็มาสู่สภาพซึ่งฟุ่มเฟือยได้
แต่ในช่วงไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา จากการที่เราเผชิญหลายๆ สิ่ง พร้อมๆ กัน ทำให้ความรู้สึกของประชาชนเริ่มสั่นคลอน และเมื่อเริ่มสั่นคลอน สิ่งที่ตามมาสิ่งแรกก็คือความมั่นใจในการลงทุน นักธุรกิจถ้าหากเขามั่นใจเขามองอนาคต เขาก็จะเริ่มลงทุน แต่เมื่อไรที่เขาเริ่มสั่นคลอน เขาจะเริ่มชะลอการลงทุน ประชาชนถ้าเมื่อไรเริ่มสั่นคลอน สิ่งที่เขาจะบริโภค เขาจะเริ่มชะลอเพื่อดูสถานการณ์ การบริโภคสิ่งจำเป็นซึ่งมีราคาสูง เช่น บ้านที่อยู่อาศัย เขาไม่กล้าที่จะซื้อหา แต่จะเก็บเงินไว้ก่อน ดูว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งตัวนี้ในทางกลับกันก็จะมีผลต่อการผลิต และมีผลต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย ผมถึงได้พยายามกล่าวเตือนตั้งแต่ตอนต้นปีว่าอย่าได้เป็นห่วงจนเกินไป อย่าให้ความรู้สึกในทางลบมากลบความรู้สึกในทางบวกจนกระทั่งไม่เห็นแสงสว่าง เรากังวลได้ แต่อย่าหวั่นเกรงโดยไม่มีเหตุผล เราเคยผ่านหายนะซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทย เรายังสามารถฟื้นคืนและยืนหยัดอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้
ณ วันนี้เรามีเงินสำรองระหว่างประเทศเกือบ 50 billion US dollars เงินเกือบ 50 billions นี้เป็นหน้าตักที่หนาแน่นมาก จริงอยู่ในไตรมาสที่ 1 สัญญาณชะลอตัวทางเศรษฐกิจมันเกิดขึ้น แต่ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สัญญาณต่างๆ ก็เริ่มดีขึ้น การส่งออกเริ่มดีขึ้นเติบโตถึงเกือบร้อยละ 20 การท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามาสู่ปกติอีกครั้งหนึ่ง มีการเติบโตถึงร้อยละ 11 ภาคการผลิตเริ่มมีการผลิตเหมือนดังปกติ มีเพียงสิ่งซึ่งเราเป็นห่วงอยู่ก็คือเรื่องของราคาน้ำมัน การบริโภคยังไม่ลดถอยลง การประหยัดยังไม่เกิดขึ้น สัปดาห์หน้ากระทรวงพลังงานจะนำมาตรการประหยัดพลังงานเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ภาคเอกชนเองก็ได้มีโอกาสในการพบปะกันเอง ตั้งใจจะรณรงค์ว่าจากวันนี้เป็นต้นไปพวกเขาจะประหยัดพลังงานให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 15 ถ้าเรามองไปข้างหน้า จริงอยู่ความชะลอตัวทางเศรษฐกิจมันเริ่มเกิดขึ้น แต่คำว่าความชะลอทางเศรษฐกิจไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจตกต่ำเลย
ในอดีตเราเคยจมปลักเหลือเพียงร้อยละ 2.1 2 ปีที่ผ่านมาเราสูงถึงร้อยละ 6 ถึงร้อยละ7 การที่มันชะลอตัวลง ถ้าเราสามารถรักษาเสถียรภาพให้อยู่นิ่งได้ อย่าให้ผันผวน รอให้จังหวะใหม่เกิดขึ้นเราก็สามารถขับเคลื่อนประเทศไปได้ แต่ถ้าหากว่าเพียงแค่การชะลอตัวเศรษฐกิจเกิดขึ้น แล้วเราหวั่นเกรงจนกระทั่งหวาดวิตก ไม่ทำอะไรเลย นั่งนับแต่ว่าเดือนหน้าจะขาดดุลหรือเปล่าโดยที่ไม่ทำอะไร อย่างนั้นประเทศชาติลำบากแน่นอน
สิ่งที่พยายามทำในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาก็คือว่า ไปกำหนดธงให้กับหน่วยงานสำคัญๆ ในการสร้างรายได้ ไม่ว่าการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อตั้งธงให้พวกเขาวิ่งแข่งหารายได้ให้มากที่สุด เพื่อที่จะมากลบ มายันไว้กับเรื่องการนำเข้าพลังงาน ซึ่งสูงอย่างนี้ ถ้าเราทำเช่นนี้ได้ปลายปีนี้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะน้อยที่สุด หรืออาจจะเกินดุลด้วยซ้ำไป และจากกลางปีนี้เป็นต้นไป ทุกค่าย ทุกสำนัก ต่างก็มองว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แล้วเราจะต้องพยายามประคองสิ่งที่ดีขึ้นนี้ให้ไปถึงปีหน้า
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ผมเลยอยากจะกราบเรียนว่าเศรษฐกิจต้องมีขึ้น ต้องมีลงเป็นธรรมดา ยามขึ้นจะทำอย่างไรที่จะใช้จังหวะเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ยามที่มันชะลอตัวลงจะทำอย่างไรที่จะประคอง Momentum เอาไว้ ให้มันมีเสถียรภาพ อย่าให้มีความผันผวน รอจังหวะใหม่ ผลักดันกันใหม่ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือว่ารัฐบาลไม่เคยสนใจแต่เพียงเฉพาะตัวเลข GDP GDP เป็นเพียงการวัดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ วัดจากทางวัตถุ และ GDP ในปัจจุบันนี้ก็เกิดขึ้นจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจแห่งอดีตที่ผ่านมา โครงสร้างการผลิต โครงสร้างการส่งออก โครงสร้างการท่องเที่ยว โครงสร้างระบบทั้งระบบ ที่เป็นอยู่นั้นมันเป็นตัวกำหนดว่าประเทศจะไปได้สูงสักเพียงใด ไปได้ไกลเพียงใด ถ้าเรามัวสนใจเพียงวันต่อวันว่าเดือนหน้า GDP เท่าไร ขาดดุลเท่าไร โดยที่ไม่มองให้ทะลุว่าประเทศเดินทางไปทางไหน อะไรที่ต้องปรับเปลี่ยน อะไรต้องแก้ไข อนาคตข้างหน้าน่าเป็นห่วง เพราะโลกขณะนี้ปรับเปลี่ยนไปเร็วมาก
เมื่อผมเป็นเด็กอายุ 3 ขวบ ผมยังไม่รู้ความอะไรเลย เล่นอะไรก็ไม่เป็น นั่งอยู่หน้าบ้าน ดูคนเดินไปเดินมา แต่วันนี้เด็กที่อายุ 3 ขวบ ลูกชายคนเล็กผมเข้าอินเตอร์เน็ต เล่นเกมส์ในอินเตอร์เน็ต แปลว่าอะไร? แปลว่าถ้าประเทศไทยซึ่งมีอินเตอร์เน็ตใช้ไม่เท่าไหร่ คนส่วนน้อยของประเทศได้มีโอกาสเข้าไปสู่สิ่งเหล่านี้ในโลกแห่งความรู้ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เขามีความพร้อมพรั่งในเรื่องของเทคโนโลยี พร้อมมูลในเรื่องของอินเตอร์เน็ต พร้อมในเรื่องของสังคมข่าวสาร 10 ปีข้างหน้าถ้าเป็นอย่างนี้ ประเทศไทยแม้จะเกินหน้า แม้จะมี GDP สูง 6 หรือ 7 ก็เปรียบเสมือนการเดินถอยหลัง ไม่มีทางเลยที่เราจะแข่งขันกับเขาได้ ผมถึงพูดแล้วพูดอีกบอกว่าอย่าหวั่นเกรง อย่าหวั่นวิตก ในภาวะช่วงสั้นเราต้องมีความมั่นใจ เราดูแลสถานการณ์ได้ หน้าตักเรามีมากพอ ต่อให้ขาดดุลทุกเดือนหน้าตักผมก็ยังมีอยู่
ครั้งหนึ่งหน้าตักเรา Reserve สำรองเหลือเพียงไม่เท่าไรเลย แต่วันนี้เรามี 50 billions ฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ต้องห่วง และบ่ายนี้ผมได้เรียนเชิญนักธุรกิจใหญ่ๆ ที่สำคัญๆ มารับฟังจากปากนายกรัฐมนตรีด้วยตนเองว่ารัฐบาลคิดอะไร และจะทำอะไร และต้องการให้เขาร่วมมือ ช่วยเหลือสนับสนุนอย่างไร และปีหน้างบประมาณของเราก็ยังคงยืนไว้ที่ 1.36 ล้านล้านบาท แม้เศรษฐกิจไตรมาส 1 ชะลอตัวลง แต่เรามั่นใจว่าฐานะการคลังของเรามีความมั่นคงอย่างยิ่ง เรามีเงินเหลือพอที่จะจับจ่ายในโครงการปกติ และมีงบลงทุนเหลือเพียงพอที่จะทำการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ลงทุนในสิ่งซึ่งสามารถพัฒนาประเทศ พัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ผ่าตัดหน่วยงานหลายๆ หน่วยงาน เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้พร้อมในการรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งอนาคตข้างหน้า
ในงบลงทุนเหล่านั้น รวมแล้วสัดส่วนประมาณร้อยละ 26.2 ของงบประมาณทั้งหมด จะมีการลงทุนในหลายๆ โครงการใหญ่ๆ เรื่อง Mass Transit เรื่องการศึกษา เรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องสาธารณสุข เป็นต้น แต่สิ่งที่แปลกใจเป็นอย่างยิ่งก็คือว่าความสนใจของคนไทย ส่วนใหญ่ทุ่มความสนใจกับเรื่อง Mass Transit เรื่องรถไฟฟ้า แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่สำคัญกว่านั้นมันมีอีกเยอะ เช่น โครงการการศึกษา อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ประเทศแข่งขันในโลก มันวัดกันที่คุณภาพของการศึกษา โครงการสาธารณสุขเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะมันกระทบทางสังคม กระทบทางเศรษฐกิจ แต่น้อยคนมากที่จะพูดถึง
วันนี้ผมจะมาพูดถึงเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ เรื่องสาธารณสุข เรื่องบทบาทของสถาบันแพทย์ทั้งหลาย เรื่องบทบาทของผู้ที่เป็นหมอ ผู้ที่เป็นพยาบาล ผมจะพูดไม่ยาว แต่ผมจะพูดถึงแก่นแท้ของมันเลย
คำว่าสาธารณสุขกับการพัฒนาเป็นของคู่กัน ประเทศยิ่งด้อยพัฒนาก็มีเงินยิ่งน้อยในการพัฒนาระบบสาธารณสุข ยิ่งมีน้อยเท่าไรภาระก็ตกอยู่กับคนยากจน รายจ่ายเขาเพิ่มขึ้น รายได้เขาลดลง คุณภาพชีวิตเลวลง เมื่อคุณภาพของคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนจนเลวลง ประเทศก็จะยิ่งด้อยพัฒนา เป็นสภาพงูกินหางตลอดเวลา ฉะนั้น ในทุกๆ ประเทศที่ต้องการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเอาเรื่องของสาธารณสุขเป็นเรื่องหลัก และต้องพยายามให้การสนับสนุนส่งเสริมในสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจัง
ประเทศไทย ตั้งแต่วันที่เรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 ซึ่งก็เกือบ 40 ปีมาแล้ว เราก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องของสาธารณสุข จากวันนั้นมาถึงวันนี้ถามว่าก้าวหน้าไหม? คำตอบก็คือว่าก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่ง แต่ถามว่าเพียงพอหรือไม่ คำตอบก็คือไม่เพียงพอ คนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุข ระบบการรักษาพยาบาล คำว่าพอเพียงยังอยู่อีกไกล เมื่อคำว่าพอเพียงยังอยู่อีกไกล คำว่าคุณภาพแห่งการให้บริการมันก็ยังอยู่อีกไกล
ผมฝันว่าวันหนึ่งข้างหน้า คนไทยทุกคนจะต้องมีความเท่าเทียมในโอกาส คนจนคนรวยเมื่อไม่สบายต้องมีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาล จะบอกว่าคนจนไม่มีเงิน หากมีภาระแล้วไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลรักษาในสิ่งซึ่งต้องใช้ค่าใช้จ่ายอย่างสูงเป็นการไม่ถูกต้องโรงพยาบาล Afford ไม่ได้ รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้อง Afford เอง คำว่า “เท่าเทียม” คำว่า “โอกาส” คำว่า “ทั่วถึง” เป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จริงๆ แล้วเป็นจุดริเริ่มมาจากแพทย์ ถ้าผมจำไม่ผิดก็มาจากแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีนี้แหละ เป็นความคิดที่ถูกต้อง ในทางปฏิบัติถ้ามันจะมีจุดอ่อนมันก็ต้องแก้ไขกัน แต่ในจิตวิญญาณของโครงการคือความตั้งใจของท่านนายกรัฐมนตรี คือความตั้งใจของรัฐบาล ที่จะยื่นมือเข้าไปให้โอกาสที่เท่าเทียมกับประชาชน คนที่เป็นแพทย์ ถูกผลิตออกมาก็เพื่อต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่เอาโรงพยาบาลเป็นศูนย์กลาง ต้องให้ประชาชนที่เขาเดือดร้อนได้รับการรักษา
สิ่งเหล่านี้รัฐบาลเตรียมงบประมาณ ภาษีหลายๆ อย่างที่เราจะต้องขึ้นภายในปีนี้ โดยเฉพาะเราเรียกว่าภาษี Sin Tax ภาษีที่เก็บจากสินค้า เก็บจากธุรกิจที่ทำให้สุขภาพของเยาวชนเสื่อมโทรม แต่ว่าจะให้มันหายไปก็ไม่ได้ เราจะเก็บภาษีจากส่วนเหล่านั้นมาให้กับการสาธารณสุขของประเทศเป็นการเฉพาะ เหล้า เบียร์ บุหรี่ ท่านนายกรัฐมนตรีเริ่มส่งสัญญาณแล้วว่าให้ลด ให้ละ ให้เลิก เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ละ ลด เลิกได้ ไม่ใช่เลิกไม่ได้ ตัวผมเองสมัยเป็นนักศึกษา ผมจำได้ เดินออกจากประตูท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร้านตรงข้าม ซื้อบุหรี่หกสลึง จำได้ว่าให้บุหรี่มา 3 มวน การสูบบุหรี่ ณ วันนั้นเป็นเพียงการสูบบุหรี่เพื่อเข้ากับเพื่อนฝูง แต่อันนั้นแหละคือจุดเริ่มต้นของการเดินเส้นทางไปสู่ความล้มเหลวแห่งชีวิต ถ้าวัยรุ่นในช่วงจังหวะนั้นไม่พลิกกลับมา ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องมีการรณรงค์อย่างจริงจังให้มีการลด ละ เลิก ภาษีจะเริ่มเก็บแน่นอน เมื่อไรก็เมื่อนั้นแน่นอนภายในปีนี้ เอามาใช้ในการพัฒนาระบบสาธารณสุข ไม่เอาไปใช้อย่างอื่นเลย
เงินที่เข้าไปสู่ระบบสาธารณสุข เราต้องการให้โรงพยาบาลทุกแห่ง สถาบันการศึกษาทุกแห่งที่ผลิตแพทย์ พยาบาล ผลิตบุคลากรให้เพียงพอ แต่ความเพียงพอเหล่านั้นไม่ใช่จุดสิ้นสุด เราต้องไม่ภูมิใจแต่เพียงแค่ว่าเราผลิตแพทย์ได้ปีละเท่าไร เพราะทั้งประเทศนั้นมันมหาศาลมาก แต่จุดที่ว่าจะทำอย่างไรที่จะให้มีบริการสังคม ฝึกอบรมแพทย์จากที่อื่น ฝึกอบรมการแพทย์ที่คนธรรมดาสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติได้ เพื่อการป้องกันก่อนที่ประชาชนจะไม่สบายต้องมาเข้าโรงพยาบาล เป็นการลดต้นทุน การบริการทางสังคมของโรงพยาบาล ของแพทย์ จะต้องมี รัฐบาลยินดีที่จะสนับสนุนในทุกประเด็น แต่สิ่งสำคัญก็คือว่าเราต้องมา Define บทบาทของแพทย์และพยาบาล ต้องพยายามรักษาแก่นแท้แห่งปรัชญาของอาชีพ คำว่ามโนธรรม คุณธรรม การช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ จะต้องเป็นสัจจะที่แพทย์ พยาบาลทุกคนต้องท่องจำให้ขึ้นใจและนำไปปฏิบัติ
วันนี้ผมดีใจอย่างยิ่งผมได้มีโอกาสเข้ามาในที่ประชุมแห่งนี้ เพราะผมถือว่าอาชีพหมอ อาชีพพยาบาลเป็นอาชีพของผู้ที่สละแล้ว ผมได้เห็นหมอหลายๆ คนในต่างจังหวัดทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำไม่บ่นสักคำ ทั้งๆ ที่เขามีโอกาสอีกมหาศาลในชีวิต โรงพยาบาล มหาวิทยาลัยไม่ต้องการผลิตหมอซึ่งเป็นเพียง Machine หรือเครื่องจักรในการรักษา แต่ต้องการหมอซึ่งเป็นผู้ที่สามารถเข้าไปนั่งในใจของคนไข้ เป็นหลักให้เขา เป็นที่พึ่งของคนยากจน
เวลาคนยากจนมาหาหมอ ผมเชื่อว่าเขาจะพูดเรื่องโน้นเรื่องนี้ในชีวิตของเขา เพราะในชีวิตจริงคนไทยมองหมอว่าคือคนดี คือที่พึ่ง เหมือนพระเจ้า เพราะฉะนั้นเขาจะเริ่มระบายสิ่งต่างๆ ให้กับหมอฟัง การฝึกอบรมแพทย์ พยาบาล ก็คือฝึกอบรมให้เขามีสิ่งเหล่านี้ในหัวใจ อดทนฟังสิ่งเหล่านี้จากประชาชน เข้าไปให้ถึงหัวใจของเขา แนะนำเขาว่าชีวิตของเขาควรจะเป็นอย่างไร เป็นที่พึ่งของประชาชนคนยากทั่วประเทศ หมอต่างจากเครื่องจักรในการรักษา แล้วคนเป็นหมอต้องถือว่าเป็นเกียรติอย่างสูง ผมเป็นลูกจีนผสมไทย เพราะเกิดในเมืองไทย ตั้งแต่เล็กจนโต คุณพ่อคุณแม่บอกว่าโตขึ้นจะต้องเป็นหมอนะ ถามว่าทำไมคุณพ่อคุณแม่ถึงอยากให้เป็นหมอ ไม่ใช่เพราะรายได้แน่นอน แต่เขามองว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีเกียรติอย่างสูงสุดอาชีพหนึ่งของประเทศ คนยากจนต้องการหมอหรือไม่ ผมเรียนท่านเลยว่าต้องการอย่างยิ่ง
ครอบครัวผมมีพี่น้องทั้งหมด 10 คน ในวัยเด็กครอบครัวค่อนข้างจะจน พี่ๆ ผมอย่างน้อย 3 คน เสียชีวิตในวัยที่ไม่สมควร ด้วยโรคไร้สาระ แต่การที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสถานบำบัดพยาบาลเร็วพอ ไม่มีความรู้เพียงพอ ต้องเสียชีวิต ต้องด่วนจากกันตั้งแต่อายุยังน้อยๆ กรณีผมเป็นเพียงกรณีเล็กน้อย แต่ว่าถ้าท่านเดินทางออกไปต่างจังหวัด มหาศาลเลยในประเทศไทย อย่าไปเที่ยวคุยเลยว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ลองไปคุยกับชาวบ้านดูจะรู้ว่าอีกนาน อีกไกล กว่าเราจะถึงจุดๆ นั้นได้ แล้วคนที่เป็นที่พึ่งของเขานั้นถามเลยว่าผู้ว่าราชการจังหวัดหรือ? นายอำเภอหรือ? เปล่า คนที่เขาไว้ใจเต็มที่ก็คือหมอ
ผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สมัย 14 ตุลา กลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวมากที่สุดในการต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการ เปลี่ยนแปลงการดูแลคนจนก็คือหมอ ท่านอธิการดีกล่าวคำว่า Change agent ถูกต้องที่สุด คนที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงแนวคิดมากที่สุดคือแพทย์ เพราะเขาเหล่านั้นคือคนที่ Bright ที่สุด สมองดีที่สุด ปราดเปรื่องที่สุดในแผ่นดินนี้ ฉะนั้นหมอเองจะต้องมีบทบาท ไม่เพียงเฉพาะการดูแลสังคม แต่จะต้องมีบทบาทที่เข้าไปพัฒนาสังคม ท่านกำลังเป็นคนที่เอา Cream ของประเทศมาอยู่ร่วมกัน แล้วไม่เปิดโอกาสให้เขามีโอกาส มีบทบาทในการพัฒนา สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของระบบการศึกษาไทย
ประเทศไทยมีคนอยู่ 2 อาชีพ ซึ่งถือว่าเป็นจุดสุดยอดของคนเรา คือแพทย์ กับวิศวกร ผมเรียนท่านคณบดี คือคุณหมอรัชตะว่าทำไมถึงปล่อยให้วิศวกรต้องไปจบอยู่ที่บริษัทเอกชน? ทำไมคนเหล่านั้นไม่มีโอกาสในการออกมาแสดงความคิดเห็นในการที่จะพัฒนาประเทศ? ทำไมคุณหมอวันหนึ่งถึงต้องอยู่เฉพาะคลินิก? แต่ไม่มีโอกาสได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในการพัฒนา ตรงนี้ผมถึงอยากจะเรียนว่าระบบการผลิตบุคลากร วิชาที่ต้องมี ต้องเน้นเรื่อง Social science สังคมศาสตร์ให้มากขึ้น หมอทุกคนเมื่อเรียนจบต้องมีโอกาสสัมผัสกับโลกภายนอกให้มากขึ้น เพราะรัฐบาลต้องการให้เขาเป็นหลักให้กับชาวบ้าน เป็นหลักในการพัฒนาสังคม ไม่ได้ต้องการให้เป็นเพียงแค่เครื่องจักรแห่งการรักษาพยาบาล นี่คือสิ่งที่อยู่ในใจของรัฐบาล งบประมาณในการที่จะช่วยเหลือพัฒนาสิ่งเหล่านี้ ในมิตินี้ รัฐบาลพยายามเจียดหามาในการที่จะสนับสนุนท่าน
ในขณะที่เรามีการเน้นในสิ่งเหล่านี้ 10 ปีที่ผ่านมาจะโดยบังเอิญหรือไม่ก็ตาม คุณภาพของแพทย์ของเรา ซึ่งจริงๆ แล้วเรามีแพทย์ที่เก่งมากๆ ก็เริ่มปรากฏชื่อเสียงในต่างประเทศ การมีชื่อเสียงในต่างประเทศก็ทำให้คนเริ่มรู้จักหมอไทยมากขึ้น เชื่อใจมากขึ้น ในขณะเดียวกันการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคำว่า Thainess คือความเป็นไทย มีจิตใจแห่งการดูแล การให้บริการ ก็ทำให้ชาวต่างประเทศเริ่มอยากจะเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ค่อยสะสม ค่อยๆ เกิดขึ้นมา ผนวกกับการที่ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวมาก ปากต่อปาก ก็ทำให้ประเทศไทยเริ่มถูกกล่าวขานว่าสามารถเป็นจุดหมาย (Destination) แห่งการรักษาพยาบาล ในขณะนี้เชื่อหรือไม่ เมืองไทยเป็นหนึ่งใน 3 แห่งในเอเชียซึ่งคนนิยมไปรักษาพยาบาล มีไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง อาจจะมีมาเลเซียตามมาอีกแห่งหนึ่ง
สิ่งเหล่านี้มันเริ่มเกิดขึ้นมาแล้ว และกระแสนี้จะชัดเจน จะรุนแรงขึ้นในอนาคตข้างหน้า เพราะอีก 10-20 ปีข้างหน้าโลกเราเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Aging society คนที่อยู่วัยชรามีมากขึ้นโดยสัดส่วน เมื่อเป็นเช่นนั้น ความฝันมันก็เกิดว่าถ้าเป็นเช่นนี้ ถ้าเราสามารถให้บริการที่ดี มีแพทย์มีพยาบาลที่เก่ง และมีการบริหารจัดการที่ถูกต้อง เราก็สามารถทำให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางแห่งการรักษาพยาบาลแห่งภูมิภาคได้ อันนี้เป็นความฝันที่ไม่ไกลเกินเอื้อม
ประเทศอย่างสิงคโปร์ในขณะนี้ เขาตั้งเป้าไว้ว่าอีกประมาณ 10-20 ปีข้างหน้า เขาจะมีคนที่มารักษาพยาบาลกับเขามากขึ้นๆ เพราะจุดเด่นของเขานั้นคือเทคโนโลยี คือจำนวนแพทย์ที่มีอยู่ ที่สำคัญก็คือว่าเขามี Strategic partner กับโรงพยาบาลสถานศึกษาใหญ่ๆ ในโลกตะวันตก แต่สิงคโปร์มีจุดอ่อนอย่างมหันต์ในเรื่องการเป็นสถานที่ท่องเที่ยว คนไปสิงคโปร์อยู่ 3 วันก็เบื่อแล้ว
การรักษาพยาบาล การให้บริการ คนไทยเรามีจิตใจในการให้บริการมากกว่า มีสถานที่ท่องเที่ยวดีกว่า ฉะนั้นการแข่งขันกันเป็นไปได้ แต่การที่จะบอกว่าถ้าให้เมืองไทยเป็น Medical hub เป็นศูนย์กลางของแพทย์และพยาบาลในการรักษาพยาบาลคน ไม่ใช่เพียงอยู่ที่คำว่า Thainess เพราะ Bottom line ของการรักษาพยาบาลคือชื่อเสียงของแพทย์ ชื่อเสียงของสถานพยาบาล สิ่งเหล่านี้ถ้าเราต้องการทำความฝันให้เป็นความจริง สถานศึกษา โรงพยาบาลของไทยจะต้องยกระดับตัวเองขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำวิจัย ในการก้าวสู่โลกแห่งความรู้ ในการกระโดดโลดเต้นอยู่ในโลกแห่งวิชาการ
คนไทยเราเป็นคนถ่อมตัว เป็นคนเจียมตัว เรามักไม่กล้าแสดงออกทั้งๆ ที่เรามีความสามารถ สถานศึกษา โรงพยาบาล ถูกจำกัดบทบาทเพียงเฉพาะการไปศึกษาจากโลกตะวันตกกลับมารักษาพยาบาลคนไข้ สถานศึกษาทั่วไปของเมืองไทย คณาจารย์ไปเรียนจบปริญญาเอก กลับมาถึงทิ้งตำรา ไม่เคยทำงานวิจัย กลายเป็นผู้คัดลอกงานวิจัยแล้วก็มาสอนนักศึกษา ความรอบรู้ Knowledge ที่มีในช่วงศึกษา กลับมาถึง 3 ปีให้หลังล้าสมัย แต่ในโลกข้างหน้าเราบอกเราต้องอยู่ในโลกแห่งความรู้ ผมหมายความว่าท่านต้องพยายามต่อเนื่องในเรื่องของ Knowledge นี่คือสิ่งซึ่งโรงพยาบาลทุกโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยต้องเน้นให้ความสำคัญ
แพทย์ พยาบาล ต้องมีโอกาสได้รับรู้ถึงความก้าวหน้าแห่งวิทยาการ การฝึกอบรม การให้เงินสนับสนุนในการทำวิจัย การออกไปต่อสู้ในแนวความคิดกับพวกตะวันตก ยิ่งมีมากเท่าไร ชื่อเสียงก็เริ่มปรากฏ เมื่อชื่อเสียงเริ่มปรากฏ บวกกับชื่อเสียงในการรักษาพยาบาล บวกกับความมีชื่อเสียงในการให้บริการ คำว่า Thailand brand ของ Medical hub มันก็เกิดขึ้นได้อย่างเป็นจริง ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเรามีจิตใจในการบริการ ก็ฝันว่าเราจะเป็น Medical hub อันนั้น “ฝันเฟื่อง” แต่ Bottom line อยู่ที่ความสามารถ การต่อสู้ทางแนวความคิด การนำเสนอโดยไม่ต้องหวั่นเกรงว่าต่างประเทศมีความเจริญกว่า ความรู้นั้นเท่าเทียมกัน
เมืองไทยเป็นเมืองที่ต้องเผชิญกับหวัดนก ทำไมแพทย์ไทยไม่ทุ่มการวิจัยกับหวัดนก เพราะทุกปีหวัดนกมาสู่ประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ต้องทำเป็นโครงการเฉพาะอย่าง ฉะนั้นมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลหวังอย่างยิ่ง ไม่เพียงเฉพาะแค่แพทย์ แต่หมายถึงสถานศึกษาทุกแห่งว่าให้เน้นในเรื่อง Acedamic ให้เน้นในเรื่องการประชุมวิชาการ ให้เน้นในเรื่องการฝึกฝน อันนี้เป็นอีกมิติหนึ่งที่จะช่วยสร้างชื่อเสียงในสังคมโลก ช่วยผันจากมิติของสังคมสู่มิติของเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถ Generate สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศด้วยการเป็นประเทศแห่งการรักษาพยาบาล ฉะนั้น มิติที่หมอ พยาบาล สถานศึกษา มีได้ ไม่ได้จำกัดอยู่กับแค่สังคมเลย เศรษฐกิจเป็นเรื่องแห่งอนาคตที่เกิดขึ้นแน่นอน และสิ่งเหล่านี้ท่านไม่ต้องกังวลว่าในขณะนี้หมอมีรายได้ต่ำ หมอส่วนใหญ่ถูกเอกชนดึงตัวไป ค่าแรงต่างกันเป็น 10 เท่า
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ