สรุปผลงานสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ในปี 2547 และแผนงานปี 2548

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 5, 2005 11:27 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          ผลงานสำคัญปี 2547 
ด้านการค้าต่างประเทศ
1) การเจรจาจัดทำ FTA เพื่อรุกขยาย และรักษาตลาด ขณะนี้ประเทศไทยมีการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีกับ 8 ประเทศ และ 1 กลุ่มเศรษฐกิจได้แก่ ออสเตรเลีย จีน บาห์เรน อินเดีย เปรู สหรัฐอเมริกา* ญี่ปุ่น* นิวซีแลนด์ กลุ่ม ประเทศ BIMSTEC (บังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา) ซึ่งเป็นการเปิดประตูให้กับสินค้าและบริการของไทยมีโอกาสและช่องทางขยายการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยสินค้าไทยที่ได้ประโยชน์ที่สำคัญได้แก่ สินค้า อาหาร ผักผลไม้สด สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณี เครื่องประดับ รถยนต์ขนาดเล็ก และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น
2) รุกเจาะตลาด เร่งส่งออก สร้างรายได้ ในปี 2547 (ม.ค.47 - ต.ค.47) สามารถส่งออกได้ 80,432 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 22.6 ) มีสินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ผักผลไม้ สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ โดยดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่
- การส่งออกไปตลาดใหม่ ทำให้มูลค่าการส่งออกไปตลาดใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 37,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ม.ค. - ต.ค.47) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 26.6
- สร้างนักธุรกิจผู้ส่งออกไทยสู่ตลาดโลก (Intertrader) โดยเริ่มดำเนินการในปี 2546 ขณะมีนักธุรกิจเข้าเป็นสมาชิกแล้ว 3,500 ราย (ตั้งเป้าไว้ 5,000 ราย ภายใน 5 ปี)
- หน่วยปฏิบัติการพิเศษเจาะตลาด(Special Task Force : STF) ผลการดำเนินงานของ STF ในปีงบประมาณ 2547 สามารถเพิ่มรายได้จากการส่งออกได้ถึงกว่า 7,100 ล้านบาท เจาะตลาดเป้าหมายเพิ่มขึ้นกว่า 40 เมือง ใน 7 ภูมิภาค
- ไทยแลนด์ มาร์เก็ต เพลส (Thailand Market Place - TMP) และไทยแลนด์ พลาซ่า (Thailand Plaza - THP) ได้กำหนดกลยุทธ์เชิงรุกในการสร้างช่องทางการตลาดและช่องทางการจำหน่ายอย่างถาวรให้กับสินค้าไทย โดยจะจัดตั้ง Thailand Plaza แห่งแรกอย่างสมบูรณ์แบบ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา คาดว่าจะเปิดทำการประมาณกลางปี 2548 และจะจัดตั้งอีก 12 ประเทศ จำนวน 20 แห่ง ภายในปี 2548 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (นครนิวยอร์ก นครลอสแองเจลิส นครชิคาโก) อังกฤษ (กรุงลอนดอน) ฝรั่งเศส (กรุงปารีส) ญี่ปุ่น (กรุงโตเกียว) เยรมนี (กรุงเบอร์ลิน) อิตาลี (กรุงโรม) จีน (นครเซี่ยงไฮ้) เป็นต้น โดยจะมีการนำสินค้า OTOP ไปจำหน่ายด้วย ทั้งนี้ในปี 2547 ผู้ผลิตสินค้า OTOP สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น 160 ราย
หมายเหตุ : * หัวหน้าคณะเจรจาเป็นกระทรวงการต่างประเทศ
สำหรับในปี 2548 กำหนดให้ส่งออกขยายตัวร้อยละ 18.0 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 115,355 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
3) การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมให้การค้าชายแดนมีมูลค่า จำนวน 376,848.33 ล้านบาท (ม.ค. - ธ.ค. 47 ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 30.4
4) ปกป้องผลประโยชน์ทางการค้า เช่น ปัญหาสหภาพยุโรปให้การอุดหนุนส่งออกน้ำตาล ปัญหาการส่งออกกุ้งไป EU แก้ไขปัญหาการส่งออกไก่ และปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยในต่างประเทศ เป็นต้น
5) บริหารนโยบายนำเข้า คณะกรรมการ กบน. ได้เสนอมาตรการชะลอการนำเข้า 9 มาตรการ เช่น ให้มีใบรับรองสุขอนามัยและเข้มงวดการตรวจสารตกค้างในผักและผลไม้ มาตรฐานบังคับเครื่องใช้ไฟฟ้า การติดสลากเป็นภาษาไทยก่อนผ่านเข้าศุลกากรในสินค้าเครื่องสำอาง สุรา ไวน์ และเบียร์ การตรวจพิสูจน์แหล่งกำเนิดสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป การเข้มงวดตรวจจับสินค้าลักลอบนำเข้า และหาแนวทางเพิ่มศักยภาพ การผลิตและรณรงค์การใช้สินค้าไทยทดแทนการนำเข้า รวมทั้งติดตามมาตรการนำเข้าสินค้า 15 กลุ่ม อย่างใกล้ชิด และอยู่ระหว่างจัดทำยุทธศาสตร์การนำเข้าแห่งชาติ เพื่อใช้ในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
ด้านการค้าภายในประเทศ
1) การผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น ได้ป้องกัน/แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรด้วยการแทรกแซงยกระดับราคาสินค้าเกษตรสำคัญ สร้างความร่วมมือกับผู้ส่งออกข้าว และเร่งขยายตลาดใหม่ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรสำคัญสูงขึ้นจาก ปี 2546 เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิราคาปรับตัวสูงขึ้นจากเฉลี่ย ตันละ 6,400 — 9,300 บาท ในปี 2546 เป็นตันละ 8,500 — 9,800 บาท ในช่วง ม.ค.—เม.ย.2547 ข้าวเปลือกนาปรัง 5% จากราคาเฉลี่ยตันละ 4,600 — 4,700 บาท ในปี 2546 ปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอดจนถึงเดือน พ.ย.2547 เป็นตันละ 6,200 บาท (เพิ่มขึ้น1,500 บาท/ตัน) มันสำปะหลัง การรับจำนำส่งผลให้ราคาหัวมันสด (เชื้อแป้ง 25% ) ปรับตัวสูงขึ้น เฉลี่ย กก.ละ 0.95 บาท ในปี 2546 จนปัจจุบัน (ธ.ค.47) ราคาเฉลี่ย กก.ละ 1.30 — 1.50 บาท (สูงขึ้นกก.ละ 0.35 —0.55 บาท) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาตรการรับจำนำช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาดีขึ้น จากที่เคยขายได้ในปี 2546 ที่ กก.ละ 4.20 — 4.72 บาท ปรับตัวสูงขึ้นถึง กก.ละ 5.70 — 6.70 บาท ในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.2547 (สูงขึ้น กก.ละ 1.50 — 1.98 บาท) ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ปรับตัวสูงขึ้นจากเฉลี่ย กก.ละ37.63 ในปี 2546 เป็นราคา กก.ละ 45.05 บาท (เพิ่มขึ้น กก.ละ 7.42 บาท) ปาล์มน้ำมัน ผลจากการแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมัน อย่างเป็นระบบช่วยให้ราคาที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2546 ที่มีราคาเฉลี่ย 2.76 บาท เป็น กก.ละ3.80-4.00 บาท ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.2547 (สูงขึ้น กก.ละ 1.04 — 1.24 บาท) ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตออกมากและราคามักจะตกต่ำ
2) การพัฒนาสินค้า OTOP ได้จัดงานและนำผู้ผลิตสินค้า OTOP เข้าร่วมงานแสดงสินค้า รวมทั้งร่วมมือกับห้างค้าปลีก ปั๊มน้ำมัน ในการจัดสถานที่จำหน่าย เช่น เทสโก้โลตัส แม็คโคร บิ๊กซี บางจาก เชลล์ ปตท. ทำให้มียอดจำหน่ายสินค้าดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น (ต.ค.46-ก.ย.47) 439.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ38.81
3) การส่งเสริมธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และธุรกิจชุมชน ได้ดำเนินการเพื่อสร้างความ เข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการ ส่งเสริมบริการธุรกิจ แฟรนไชส์ รวมทั้งธุรกิจการค้าส่ง — ค้าปลีก ได้แก่
- พัฒนาผู้ประกอบการ ให้มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการ 4,384 ราย (ม.ค. - ธ.ค.47)
- พัฒนาธุรกิจแฟรนไชน์เข้าสู่ระบบมาตรฐาน 1,122 ราย (ม.ค.47 — ธ.ค.47) แบ่งเป็นผู้ซื้อ 987 ราย ผู้ขาย 135 ราย โดยบางรายสามารถขยายสู่ตลาดต่างประเทศแล้ว เช่น อากิโกะ อโรม่าสปา และผลิตภัณฑ์เสริมความงามกรีนทัช เป็นต้น
- พัฒนาธุรกิจบริการ ได้ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจ จำนวน 9 ธุรกิจ ได้แก่ ร้านอาหาร เสริมสวย สปาไทย สำนักงานบัญชี ซ่อมแซ่มบ้าน อู่ซ่อมรถยนต์ การศึกษาวิจัย การให้คำปรึกษาและสถาบันสอนภาษาและคอมพิวเตอร์ รวม 2,570 ราย (ม.ค.47 - ธ.ค.47)
- การส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e - Commerce ดำเนินการพัฒนาธุรกิจ และผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กว่า 1,200 ราย (ขณะนี้มีผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาขึ้นทะเบียนแล้ว 1,173 ราย 1,739 เว็บไซต์) สำหรับประเทศไทยมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอกนิกส์ ของไทย ปี 2547 มีมูลค่ากว่า 65,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ได้ดำเนินการโครงการเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ (TRUST MARK)เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และความมั่นใจของผู้บริโภค
4) พัฒนาสถาบันการค้า (หอการค้าและสมาคมการค้า) เพื่อให้เป็นองค์การกลางภาคเอกชนที่มีบทบาทเข้มแข็ง เป็นตัวแทนของภาคธุรกิจ โดยการเสริมสร้างให้มีการบริหารจัดการที่ดี (Good Governance) มีการรวมกลุ่มสร้างเครือข่าย (ม.ค. - ธ.ค. 47 ) รวม 718 ราย
5) รักษาความเป็นธรรมทางการค้าและคุ้มครองผู้บริโภค โดยดำเนินการได้แก่ กำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค 100 รายการ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาที่เป็นธรรม รวมทั้ง สร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคด้วยการจัดทำโครงการต่างๆ เช่น โครงการธงฟ้าราคาประหยัด โครงการส่งเสริมการประกันคุณภาพสินค้าและบริการ โครงการสถานีบริการน้ำมันเต็มลิตร โครงการตลาดสดดีเด่น โครงการร้านค้าก๊าซหุงต้มชั้นดี เป็นต้น นอกจากนี้ ได้ศึกษาวิเคราะห์ต้นทุนสินค้า เพื่อดูแลมิให้สินค้าต่างๆ ปรับราคาสูงขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม เช่น อาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี น้ำมันพืช ฯลฯ รวมทั้งให้ความรู้แก่ผู้บริโภค และสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค เช่น กลุ่มโรงเรียนสีฟ้า และกลุ่มพลังสีฟ้า เป็นต้น
6) ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจประกันภัย ได้มีการจัดทำโครงการประกันภัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย เช่น การประกันภัยอุบัติเหตุเอื้ออาทร การประประภัยอุบัติเหตุเอื้ออาทรสำหรับเด็กนักเรียน การประกันภัยอุบัติเหตุเอื้ออาทรสำหรับข้าราชการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีผู้ทำประกันภัยอุบัติเหตุเอื้ออาทร ทั้ง 3 ประเภท รวมทั้งสิ้น 719,951 ราย ( ธ.ค.46 — 20 ธ.ค.47) มีผู้เอาประกันภัยได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 746 ราย รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 207,100,000 บาท ( ณ วันที่ 20 ธ.ค.47 ) นอกจากนี้ยังมีโครงการใหม่ ๆ เช่น โครงการการประกันภัยอิสรภาพ ซึ่งประชาชนให้ความสนใจซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพ 15,883 ราย เป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยทั้งสิ้น 2,310,961.75 บาท ( ณ วันที่ 22 ธ.ค.47)
7) ส่งเสริมและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยดำเนินการได้แก่ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับระบบการคุ้มครองสิทธิ์ ปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ส่งผลให้มีการยื่นคำขอจดทะเบียนของคนไทย 45,364 คำขอ ในปี 2547 (ม.ค. - พ.ย.47) เพิ่มขึ้น 5.8 % จากปี 2546 โดยเน้น การจัดอบรมสัมมนาเผยแพร่ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญา และจัดหน่วยบริการรับคำขอเคลื่อนที่ไปยังส่วนภูมิภาค หรือ Mobile Unit จดทะเบียนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยในต่างประเทศ เช่น จดทะเบียนคุ้มครองเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยในต่างประเทศ จำนวน 79 ประเทศ ฯลฯ จัดทำโครงการอาสาพิทักษ์ภูมิปัญญาไทย และแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุน มีผู้ยื่นคำขอกู้เงินแล้ว 220 ราย
8) ดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ งานสำคัญที่ดำเนินการไปแล้ว คือ
- การระบายสินค้าเกษตรสำคัญของภาคใต้ออกสู่ตลาด เช่น ลองกอง 1,571 ตัน ทุเรียน 30 ตัน เงาะ 1,900 ตัน รวมเป็นมูลค่า 49 ล้านบาท
- นำกลุ่มแม่บ้านและผู้ผลิตสินค้า OTOP ไปจำหน่ายสินค้า และพัฒนาร้านค้าชุมชนใน หมู่บ้าน และตำบลที่อยู่ห่างไกล
- จัดมหกรรมสินค้าเพื่อไทยใต้ และโครงการธงฟ้าสู่ชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน
- นำคณะผู้แทนการค้าจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อขยายตลาดและ สร้างเครือข่ายการค้าในต่างประเทศ ให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดชายแดนภาคใต้และเปิดตลาดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนที่หมิงเจีย ซินเจียง และนำผลไม้ลองกอง ไปประชาสัมพันธ์ที่นครหนานหนิน
ด้านการบริหารจัดการ
ได้พัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เพื่อให้ดำเนินงานบรรลุผลตามยุทธศาสตร์และสอดคล้องกับการบริหารราชการแนวใหม่ที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและผู้ประกอบการ ได้รับการบริการรวดเร็ว สะดวก และโปร่งใส โดยได้ดำเนินการดังนี้
1) เน้นการทำงานเป็นทีม
2) จัดทำยุทธศาสตร์ ตัวชี้วัด และมีระบบติดตามประเมินผลที่ชัดเจนและต่อเนื่อง (Scoring System) ทำให้สามารถกำหนดนโยบาย และเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
3) พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึงทุก ภูมิภาค รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้จัดทำระบบข้อมูลของกระทรวง เชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) และศูนย์ปฏิบัติการกระทรวง (MOC) สำหรับใช้ในการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีและ ผู้บริหารอย่าง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นระบบ
สรุปแผนงาน / โครงการสำคัญที่จะดำเนินการ ในปี 2548
ด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
1) จัดทำเขตการค้าเสรี เพื่อเปิดตลาดสินค้าและบริการของไทยมากขึ้น รวมทั้งเป็นการกระจายแหล่งการส่งออก และแสวงหาแหล่งนำเข้าที่เป็นประโยชน์
- เจรจาต่อเนื่องกับ 6 ประเทศ และ 1 กลุ่มเศรษฐกิจ (จีน อินเดีย บาห์เรน เปรู สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เอฟตา และกลุ่ม BIMSTEC)
- การขยายผลประโยชน์จากการจัดทำ FTA โดยร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชนเตรียมความพร้อมในการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของผู้ประกอบการไทย ตลอดจนติดตามตรวจสอบและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลความคืบหน้าของการเจรจาอย่างต่อเนื่อง
- ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA ของไทย — กลุ่ม EFTA , ไทย — แคนาดา , ไทย — ชิลี , ไทย — แอฟริกา
- การส่งเสริมตลาดการค้าและการลงทุนสินค้าอุตสาหกรรมอาเซียน ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศ CLMV
2) เจรจาเพื่อขยายการค้าและปกป้องผลประโยชน์ภายใต้กรอบ WTO เพื่อเปิดเสรีการค้า สินค้าและบริการในระดับพหุภาคีให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดเสรีสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม การค้าบริการ และการอำนวยความสะดวกทางการค้า และเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของไทยในสินค้าน้ำตาล ไก่หมักเกลือ ข้าว และกุ้ง เป็นต้น
- เข้าร่วมเจรจาเปิดเสรีการค้าระดับพหุภาคีรอบโดฮา
- เจรจาสองฝ่ายกับเกาหลี ฟิลิปปินส์ และไต้หวันภายใต้ความตกลงสินค้าเกษตรของ WOT ให้เปิดตลาดข้าวให้ไทยมากขึ้น
- เจรจาสองฝ่ายกับสหภาพฯ เรื่อง การขึ้นภาษีข้าว และการชดเชยผลกระทบจากการขยายสมาชิกภาพ
- ดำเนินการฟ้องร้องสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ตามกระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO ในเรื่องการอุดหนุนน้ำตาลและการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีนำเข้าไก่หมักเกลือของสหภาพฯ และการเรียกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดสินค้ากุ้งไทยของสหรัฐฯ
- ศึกษาผลกระทบและแนวทางการปรับตัวจากการเปิดเสรีสินค้าเกษตร และการอำนวยความสะดวกทางการค้ารอบโดฮา
- ร่วมมือกับภาครัฐ เกษตรกรและเอกชนเตรียมความพร้อมในการปรับตัวรองรับผลการเจรจารอบโดฮา รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลความคืบหน้าของการเจรจาอย่างต่อเนื่อง
3) พัฒนาตลาดเชิงรุก เพื่อมุ่งขยายการส่งออกให้ได้ตามเป้าหมาย 110,000 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ หรือ 4.5 ล้านล้านบาท ในปี 2548 แผนงาน/ โครงการที่สำคัญ เช่น
- จัดตั้งและบริหาร THP/ TMP ในเมืองสำคัญ ๆ เพื่อให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายและมีช่องทางการส่งออกมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2548 จะจัดตั้ง THP/ TMP จำนวน 20 แห่ง ใน 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมัน อิตาลี และจีน เป็นต้น
- จัดตั้งทีมปฏิบัติการพิเศษเคลื่อนที่เร็ว ออกไปสำรวจตลาดใหม่ 7 ตลาด (จีน เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา รัสเซียและ CIS แอฟริกา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์)
- สร้างกองทัพนักธุรกิจการค้า เพื่อเจาะตลาด โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างอินเตอร์เทรดเดอร์ ให้ได้ จำนวน 700 ราย/ ปี
- จัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อขยายตลาดต่างประเทศ
- ส่งเสริมการค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เป็น 363,000 ล้านบาท
- เจรจาขยายตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิไทยในจีน
- โครงการพัฒนาผ้าผืนไทยสู่ตลาดโลก และโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมไทย
- เข้มงวดการตรวจสอบและรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าสิ่งทอ เพื่อป้องกันการแอบอ้างแหล่งกำเนิดสินค้าใช้สิทธิในการส่งออกของไทย ภายหลังการเปิดเสรีสิ่งทอ ในปี 2548
- ผลักดันการส่งออกสินค้า OTOP โดยนำสินค้าระดับ 3-5 ดาว เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
- เข้าร่วม / จัดงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ และสร้างเครือข่ายกระจายสินค้า
- ฯลฯ
4) บริหารการค้าระหว่างประเทศ โดยจัดระบบบริหารการนำเข้า เพื่อทำให้ดุลการค้าของประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองกับประเทศคู่ค้า และใช้ในการคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภคภายในประเทศ
- จัดทำข้อมูล Business Intelligence เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลนำเข้าที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการไทย
- ศึกษานโยบายและมาตรการเชิงรุกกับประเทศคู่ค้า
- ศึกษานโยบายและมาตรการเชิงรุกรายอุตสาหกรรม
- ศึกษาข้อมูลการผลิตและการใช้สินค้าไทย เพื่อทดแทนการนำเข้า
- ฯลฯ
ด้านการส่งเสริมการค้า การตลาดในประเทศ
1) บริหารการตลาดสินค้าเกษตรเชิงรุก ใช้นโยบายการบริหารจัดการสินค้าเกษตร เพื่อผลักดันให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร เช่น
- รับจำนำผลผลิตทางการเกษตร (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ฯลฯ)
- ศูนย์รวบรวมผักและผลไม้เพื่อการส่งออก (POSSEC)
- ส่งเสริมพัฒนาระบบตลาดกลางให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมการใช้ประโยชน์และการเข้าสู่ตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า
- เจรจาร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกสำคัญ เพื่อมิให้ขายตัดราคากัน ซึ่งจะทำให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา
- โครงการ Product Champion กำหนดผู้รับผิดชอบสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวางแผนการผลิต การตลาด และการส่งออก เช่น สินค้าเงาะ และกุ้ง
- โครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร (ข้าว)
- โครงการจัดทำระบบคาดการณ์และเตือนภัยสินค้าเกษตร
- โครงการเพื่อดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น จัดตั้งศูนย์พัฒนาการตลาดสินค้า OTOP ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งและพัฒนาองค์กร ไทย- มาเลเซีย ฟรีเดย์มาเก็ต
- ฯลฯ
2) สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ เพื่อเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการไทยมีความเป็นมืออาชีพในการดำเนินการธุรกิจ มีการบริหารจัดการที่ดี มีการเชื่อมโยงเครือข่าย ได้แก่
- พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านการจัดการการตลาด และการตลาดทางธุรกิจ
- พัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยสู่มาตรฐานสากล โดยอบรมผู้ซื้อ จำนวน 240 ราย และผู้ขาย จำนวน 220 ราย
- พัฒนานิติบุคคลเพื่อจดทะเบียนใหม่ 5,385 ราย
- พัฒนาผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 1,310 ราย
- โครงการทศวรรษแห่งความแข็งแกร่งของสถาบันการค้าไทย
- โครงการคุ้มครองธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
- ฯลฯ
3) ส่งเสริมสนับสนุนการประดิษฐ์คิดค้นทรัพย์สินทางปัญญาของไทย เพื่อให้สังคมไทยก้าวสู่สังคมแห่งฐานความรู้ สามารถพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการแข่งขันในอนาคตได้อย่างกว้างขวาง
- จัดทำยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย โดยระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน นำเสนอแผนยุทธศาสตร์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ให้เป็นวาระแห่งชาติ และจัดทำแผนงานเพื่อผลักดันการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย
- วางระบบการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่าง ๆ ให้เป็นสินทรัพย์ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในระดับรากหญ้าตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของทรัพย์สินทางปัญญา
- จัดหน่วยบริการรับคำขอจดทะเบียนและแจ้งข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาเคลื่อนที่ไปยังส่วนภูมิภาค (Mobile Unit)
- สร้างเครือข่ายด้านทรัพย์สินทางปัญญา
- การป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
- โครงการมหกรรมทรัพย์สินทางปัญญา และตลาดนัดทรัพย์สินทางปัญญา
- ฯลฯ
4) พิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้บริโภค ดูแลให้ประชาชนได้รับสินค้าและบริการที่เป็นธรรม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เช่น
- ส่งเสริมความรู้ผู้บริโภคและพัฒนาพลังผู้บริโภค
- จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เพื่อเพิ่มช่องทางการร้องเรียนของผู้บริโภค
- โครงการส่งเสริมการรับประกันคุณภาพสินค้าและบริการ
- สถานีบริการน้ำมันเต็มลิตร
- ตลาดสดดีเด่น
- โครงการธงฟ้า
- คุ้มครองผู้มีสิทธิประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยและประชาชน
- ฯลฯ
5) สนับสนุนธุรกิจประกันภัย ให้มีบทบาทในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งต่อระบบเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของประเทศ รวมทั้งต้องการให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัยมากขึ้น โดยมีโครงการที่สำคัญ เช่น
- โครงการยุวชนประกันภัยในโรงเรียน
- โครงการพัฒนาระบบการจัดการ / การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
- โครงการชนแล้วแยก แจกใบเคลม
- โครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย และคุ้มครองรักษาสิทธิประโยชน์แก่ประชาชน
- ฯลฯ
6) พัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการให้บริการประชาชน ได้พัฒนารูปแบบการให้บริการที่รวดเร็ว โดยเฉพาะการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น
- ศูนย์บริการการค้าเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace) จะบูรณาการระบบการให้บริการของทุกหน่วยงานในกระทรวง เพื่อให้บริการแบบครบวงจร โดยมีการให้บริการ ดังนี้
* บริการตลาดกลาง ซื้อ/ขายสินค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace)
* เป็นศูนย์รวมการให้บริการของกระทรวงพาณิชย์ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Services) * บริการรวบรวมรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการค้า ทั้งภายในและระหว่างประเทศ (e-Information)
* ให้บริการการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Procurement) ที่สอดคล้องกับระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Procurement, e-GP)
- ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงพาณิชย์ (PMOC) เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการบริหารราชการแผ่นดิน ที่เป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และทันเหตุการณ์
- ศูนย์ให้คำปรึกษาทางธุรกิจ
- ฯลฯ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ