บีโอไอดึง 60รายผนึกจีน นำร่องโลจิสติกส์พันล้าน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 14, 2005 15:06 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

เร่งทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมไทย-จีน 21-23 ก.ย.นี้ที่เชียงใหม่ เน้นโครงสร้างพื้นฐาน 
"บีโอไอ" ประสาน สภาหอการค้า-สภาอุตสาหกรรม ดึง 60 เอกชนไทย ถกยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนไทย-จีนกับ 39 ยักษ์ใหญ่ เปิดประเทศใช้เป็นฐานการผลิตส่งออกป้อนอาเซียน ด้าน "ทรานเอเชีย" จับมือ "คุนหมิง ต้าเชียน" ลงนามร่วมทุนตั้งธุรกิจขนส่งครบวงจร 1,200 ล้านบาท เชื่อมคุนหมิง-ระนอง
นายสาธิต ศิริรังคมานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมเตรียมการต้อนรับคณะนักธุรกิจจีน 39 บริษัท โดยมีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย เข้าร่วมประชุม ว่า บริษัทของจีนจะเดินทางมาไทยพร้อมคณะของมาดาม อู๋ อี๋ รองนายกรัฐมนตรีของจีน ที่มาเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 21-23 ก.ย.นี้ ที่ จ.เชียงใหม่
เอกชนของจีนที่เดินทางมาถือว่าเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก ซึ่งบีโอไอรับผิดชอบการเจรจาของเอกชนทั้งสองประเทศขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะดูแลเรื่องการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลในเรื่องบาร์เตอร์เทรด และการท่องเที่ยว
นายสาธิต กล่าวว่า บีโอไอจะผลักดันให้การเจรจาเกิดยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านการลงทุนร่วมกัน โดยจะเน้นเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ การลงทุนโดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปประเทศอื่นในอาเซียน เพื่อให้ไทยและจีนผลิตสินค้าป้อนตลาดโลกเพราะไทยไม่สามารถแข่งขันกับจีนได้จึงต้องร่วมมือกัน โดยมีภาคเอกชนไทยเข้าร่วม 60 ราย และเอกชนไทยสนใจที่จะเข้าร่วม
นอกจากนี้ อาจจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างเอกชน 2 ฝ่าย ที่ตกลงรายละเอียดกันได้ ซึ่งเอกชนบางรายติดต่อกันมานานแล้ว โดยกลุ่มที่คาดว่าจะมีการลงนามจับคู่ธุรกิจกัน เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน พลังงาน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก และไทยสนใจที่จะลงทุนผลิตน้ำตาลในจีน เพราะจีนมีน้ำตาลไม่เพียงพอในการบริโภคและไทยมีความพร้อมมากกว่า
นายสาธิต กล่าวว่า ได้ให้ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ไปหารือกับสมาชิกถึงรายละเอียดที่จะจัดทำยุทธศาสตร์เพิ่มการค้าการลงทุนร่วมกัน ซึ่งจีนเห็นศักยภาพไทยจึงสนใจเข้ามาลงทุน และถ้าเรามองจีนเป็นคู่ค้าจะร่วมมือกันได้มากกว่าการเป็นคู่แข่ง โดยมาดาม อู๋ อี๋ จะเดินทางถึงเชียงใหม่วันที่ 21 ก.ย. ประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ขนานไปกับการพบกันของนักธุรกิจ 2 ชาติ ในวันที่ 22 ก.ย. ซึ่งช่วงเย็น มาดาม อู๋ อี๋ จะเข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะเดินทางกลับวันที่ 23 ก.ย. และบีโอไอจะมีการประชุมหารือรายละเอียดอีกครั้งวันที่ 15 ก.ย. 2548
เอกชนสนร่วมทุนกลุ่มอาหาร-เครื่องใช้ไฟฟ้า
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้ารับไปประสานงานกับสมาชิก เพื่อเข้าร่วมหารือกับนักธุรกิจจีน โดยจะเน้นบริษัทที่ทำธุรกิจกับจีนเป็นอันดับแรกในธุรกิจส่งออกนำเข้า ธุรกิจอาหาร เพื่อให้เกิดการค้าและการลงทุนร่วมกันมากขึ้น เช่น กลุ่มซีพี กลุ่มสหพัฒน์ ซึ่งเชื่อว่าการหารือที่เกิดจะทำให้การทำธุรกิจของเอกชนดีขึ้น
นายคมสัน โอภาสสถาวร รองเลขาธิการ ส.อ.ท. กล่าวว่า บีโอไอมอบการบ้านให้เอกชนไปหาแนวทางว่าจะจับมือร่วมกับเอกชนจีนอย่างไร รวมทั้งการแก้ปัญหาอุปสรรคของเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-จีน ที่บางธุรกิจยังมีปัญหา รวมถึงการวางระบบโลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้าและการลงทุนของเอกชนร่วมกัน ซึ่ง ส.อ.ท.จะกลับไปหารือกับประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี อาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องนุ่งห่ม อะลูมิเนียม ปูนซีเมนต์ เหล็ก
ทั้งนี้ จีน สนใจที่จะมาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ในไทย รวมถึงการตั้งโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์และโรงงานผลิตหลอดภาพโทรทัศน์
นายคมสัน กล่าวว่า หลายอุตสาหกรรมที่ไทยเคยกลัวจีนมาก่อน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่จีนผลิตได้ราคาถูกกว่าไทยมาก หากมีความร่วมมือกันเชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้ของไทยจะดีขึ้นมาก ซึ่งภาคเอกชนไทยต้องการจับมือเพื่อผลิตร่วมกันในไทยมากกว่าแข่งกับจีน เพราะจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่จึงต้องจับมือกับเพื่อเป็นแหล่งผลิตของโลก การเจรจาครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของเอกชนไทย เนื่องจากต้องการขยายการค้ากับจีนอยู่แล้ว และถ้านิ่งเฉยอยู่จะทำให้ไทยโดนบุกอยู่ฝ่ายเดียว
'ทรานเอเชีย โลจิสติกส์'ลงนามขนส่ง
นายสาทร วณิชเสถียร ประธานกรรมการบริษัท ทรานเอเชีย โลจิสติกส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัททรานเอเชีย โลจิสติกส์ จะลงนามเอ็มโอยูร่วมกับบริษัท คุนหมิง ต้าเชียน ขนส่ง จำกัด ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน เพื่อร่วมลงทุนจัดตั้งธุรกิจขนส่งแบบครบวงจร ซึ่งจะขนส่งสินค้าและขนส่งมีวงเงินลงทุนระยะแรก 800 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 1,200 ล้านบาท โดยไทยจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และจะมีการจดทะเบียนบริษัทที่จะตั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2549
นายสาทร กล่าวว่า บริษัททรานเอเชีย โลจิสติกส์ และบริษัทคุนหมิง ต้าเชียน จะรับผิดชอบหาผู้ร่วมลงทุนเพิ่มเติม โดยจะมีการสร้างสถานีขนส่งในเส้นทางไทย-จีน ที่กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงของของไทย บ่อหาน เชียงรุ้งของคุนหมิง รวมทั้งจะมีการสร้างสถานีขนส่งไปยังมณฑลอื่นของจีนและประเทศในอาเซียน ซึ่งสถานีที่เชียงรายและเชียงรุ้ง จะเน้นสถานีขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ
สำหรับบริษัทที่จะตั้งขึ้นจะดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งภายหลังดำเนินการแล้วมีแผนจะมีการลงทุนสร้างโรงแรมรวม 550 ห้อง สถานีขนส่งที่คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 2-3 ล้านคนต่อปี สถานีรถบรรทุกที่รองรับ 6,000-8,000 คันต่อปี คลังสินค้าและลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ รวมทั้งจะเชิญนักธุรกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) มาร่วมลงทุนฝ่ายละ 10% เพราะต้องการให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการขนส่งระหว่างประเทศ
นายสาทร กล่าวว่า เส้นทางจากคุนหมิงมาเชียงรายจะสร้างเสร็จปลายปี 2549 ขณะนี้ เหลือช่วงบ่อหานชายแดนจีนถึงห้วยทรายของลาว ระยะทาง 250 กม. ซึ่งจะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าสายใหม่จากคุนหมิงถึงท่าเรือน้ำลึกระนองที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยใช้เวลาเพียง 2 วัน ประหยัดเวลากว่าการขนส่งทางเรือ 7 วัน จะทำให้การขนส่งสินค้าจากท่าเรือน้ำระนองเป็นประตูการค้าแห่งใหม่ของโลก และคาดว่าการค้าของโลก 10% จะผ่านเส้นทางนี้ เพราะสามารถขนส่งไปยังอินเดีย ตะวันออกกลาง อียูได้สะดวก
ที่มา: สภาหอการค้าไทย www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ