นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันนี้ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
1. ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2548 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อน เพราะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ภัยธรรมชาติ และความไม่สงบในภาคใต้ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ประเมินว่ายังคงมีแรงส่งให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่องในระยะต่อไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการกระตุ้นของการใช้จ่ายภาครัฐ
2. แรงกดดันต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจมีมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวอย่างชัดเจนจาก ร้อยละ 0.8 ในเดือนเมษายนเป็นร้อยละ 1.2 ในเดือนพฤษภาคม และมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอีกในระยะต่อไป ส่วนหนึ่งเพราะราคาน้ำมันและต้นทุนการผลิตได้ปรับสูงขึ้น ประกอบกับการตึงตัวของภาวะตลาดแรงงานเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ สำหรับด้านต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลสูงมากในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้อาจจะขาดดุล ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องติดตามดูแลต่อไป
3. คณะกรรมการฯ เห็นว่า เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ในเกณฑ์ที่น่าพอใจท่ามกลางปัจจัยลบหลายประการ และแรงส่งของการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีอยู่ แต่ในขณะเดียวกันความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะเร่งตัวมีมากขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อน ดังนั้น จึงควรปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจอันจะเอื้อต่อการขยายตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจในระยะยาว
คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันจากร้อยละ 2.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี
--ธนาคารแห่งประเทศไทย--
1. ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2548 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อน เพราะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ภัยธรรมชาติ และความไม่สงบในภาคใต้ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ประเมินว่ายังคงมีแรงส่งให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่องในระยะต่อไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการกระตุ้นของการใช้จ่ายภาครัฐ
2. แรงกดดันต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจมีมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวอย่างชัดเจนจาก ร้อยละ 0.8 ในเดือนเมษายนเป็นร้อยละ 1.2 ในเดือนพฤษภาคม และมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอีกในระยะต่อไป ส่วนหนึ่งเพราะราคาน้ำมันและต้นทุนการผลิตได้ปรับสูงขึ้น ประกอบกับการตึงตัวของภาวะตลาดแรงงานเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ สำหรับด้านต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลสูงมากในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้อาจจะขาดดุล ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องติดตามดูแลต่อไป
3. คณะกรรมการฯ เห็นว่า เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ในเกณฑ์ที่น่าพอใจท่ามกลางปัจจัยลบหลายประการ และแรงส่งของการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีอยู่ แต่ในขณะเดียวกันความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะเร่งตัวมีมากขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อน ดังนั้น จึงควรปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจอันจะเอื้อต่อการขยายตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจในระยะยาว
คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันจากร้อยละ 2.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี
--ธนาคารแห่งประเทศไทย--