รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคภาคตอ.เฉียงเหนือ ประจำเดือน เม.ย.48

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 3, 2005 11:51 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของภาคตะวันออก/เหนือเดือนเมษายน 2548 
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนเมษายน 2548 โดยสรุป
จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 332 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่งการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนเมษายน 2548
ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เท่ากับ 100 และเดือนเมษายน 2548 เท่ากับ 109.3 สำหรับเดือนมีนาคม 2548 เท่ากับ 107.9
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เดือนเมษายน 2548 เทียบกับ
2.1 เดือนมีนาคม 2548 สูงขึ้นร้อยละ 1.3
2.2 เดือนเมษายน 2547 สูงขึ้นร้อยละ 4.3
2.3 เดือนมกราคม - เมษายน 2548 เทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปี 2547 สูงขึ้นร้อยละ 3.6
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนเมษายน 2548 เทียบกับเดือนมีนาคม 2548 สูงขึ้นร้อยละ 1.3 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 1.8 และดัชนีราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 1.0 โดยมีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าที่สำคัญ ดังนี้
3.1 สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- เนื้อสุกร สุกรมีชีวิตโตช้า เนื่องจากสภาพอากาศร้อน ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านสั่งซื้อสินค้าไปบริโภค ทำให้สุกรชำแหละเข้าสู่ตลาดน้อยกว่าทุกช่วงที่ผ่านมา
- ไก่สด ความต้องการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นตามลำดับ ประกอบกับภาวการณ์ส่งออกกระเตื้องขึ้น
- ปลาและสัตว์น้ำ จากการที่กรมประมงปิดอ่าวไทยห้ามจับสัตว์น้ำในช่วงฤดูวางไข่ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำทะเลลดลง ประกอบกับผู้บริโภคหันมารับประทานสัตว์น้ำจืดแทนทำให้ราคาสัตว์น้ำจืดสูงขึ้นด้วย
- ผักสด ได้แก่ มะนาว ถั่วลันเตา ผักกาดขาว ถั่วฝักยาว มะเขือ หัวผักกาดขาว ขิง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งพืชผักเจริญเติบโตช้า
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- ผลไม้ เนื่องจากเป็นฤดูกาลของผลไม้ ได้แก่ มะม่วง สับปะรด ทะเรียน องุ่น และฝรั่ง เป็นต้น
3.2 สินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.0
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- น้ำมันเชื้อเพลิง มีการปรับราคาตามประกาศของทางราชการ โดยน้ำมันเบนซิน ปรับสูงขึ้น 3 ครั้ง และปรับราคาลดลง 1 ครั้ง
- ค่าตรวจรักษาและค่ายา ได้แก่ ค่าตรวจรักษาคนไข้นอก ค่าถอนฟัน ยาลดกรดในกระเพาะ ยาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ
- ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ได้แก่ ใบมีดโกน ครีมนวดผม แชมพู แป้งทาผิว แปรงสีฟัน และสบู่ถูตัว เป็นต้น
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5850 โทรสาร.0-2507-5825

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ