พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร ตั้งแต่วันที่ 19 - 25 สิงหาคม 2548

ข่าวทั่วไป Friday August 19, 2005 21:59 —กรมอุตุนิยมวิทยา

          พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร
วัน ศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 99/2548
คาดหมายลักษณะอากาศเพื่อการเกษตรใน 7 วันข้างหน้า
ตั้งแต่วันที่ 19-25 สิงหาคม 2548
ร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องฝนพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณ ดังกล่าวมีฝนตกหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนอยู่ในเกณฑ์เป็นแห่ง ๆ ถึงกระจาย อนึ่ง ในช่วงวันที่ 21 —23 ส.ค. 48 ร่องความกดอากาศต่ำและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ทั่วทุกภาคมีฝนลดลง
# ข้อควรระวัง # เนื่องจากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกต่อเนื่องมาหลายวัน อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากตามที่ลาดเชิงเขาและที่ลุ่มในพื้นที่เสี่ยงภัย เกษตรกรที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าวควรระมัดระวังอันตรายและเตรียมป้องกันความเสียหาย โดยอพยพสัตว์เลี้ยงและสิ่งของไปไว้บนที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง ส่วนผลผลิตทางการเกษตร ที่แก่ดีแล้วควรรีบเก็บเกี่ยว หากปล่อยไว้จะเสียหายได้
ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่างๆในระยะ7วันข้างหน้ามีดังนี้
เหนือ
ลักษณอากาศ
# มีฝนฟ้าคะนอง 70% ของพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางด้านตะวันตกและตอนบนของภาค เว้นแต่ในช่วงวันที่ 21-23 ส.ค.จะมีฝนลดลง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95 % ตอนบ่าย 70%
ผลกระทบต่อการเกษตร
# สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา หากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรสำรวจความเสียหายและฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพที่ดีดังเดิม ส่วนชาวสวนส้มควรระวังและป้องกันการระบาดของโรครากเน่าและโคนเน่า หากพบการระบาดควรรีบกำจัด รวมทั้งควรตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง และกำจัดวัชพืช
ตะวันออกเฉียงเหนือ
# มีฝนฟ้าคะนอง 70% ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางด้านตะวันออกของภาค เว้นแต่ในช่วงวันที่ 21-23 ส.ค. จะมีฝนลดลง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95 % ตอนบ่าย 70%
ผลกระทบต่อการเกษตร
# เนื่องจากระยะที่ผ่านมามีฝนตกหนักหลายพื้นที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง เกษตรกรจึงควรระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตร ส่วนสัตว์เลี้ยง เช่น โคและกระบือไม่ควรปล่อยให้อยู่ในที่ชื้นแฉะ เพราะจะทำให้เกิดการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของหนอนกอ หนอนห่อใบ และหอยเชอรี่ในข้าวนาปี
กลาง
ลักษณะอากาศ
# มีฝนฟ้าคะนอง 40-60% ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาคเกือบตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95 % ตอนบ่าย 60%
ผลกระทบต่อการเกษตร
# สำหรับพื้นที่การเกษตรที่มีฝนตกน้อย เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชที่กำลังเจริญเติบโต และหมั่นสำรวจแปลงปลูก เพราะอาจมีศัตรูพืชต่างๆ ระบาด เช่น หนอนเจาะลำต้นและหนอนเจาะฝักในข้าวโพด หนอนกอ ในอ้อย และหนอนเจาะลำต้นในมะม่วง ซึ่งจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโตและแคระแกร็น หากพบการระบาดควรรีบกำจัด
ตะวันออก
ลักษณะอากาศ
# มีฝนฟ้าคะนอง 30-60% ของพื้นที่ ส่วนมากตามบริเวณเทือกเขาและชายฝั่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95 % ตอนบ่าย 65%
ผลกระทบต่อการเกษตร
# สำหรับบริเวณที่มีฝนตกน้อย เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชไร่ที่กำลังเจริญเติบโต รวมทั้งควรระวังและ ป้องกันการระบาดของศัตรูพืช เช่น เพลี้ยแป้งในสับปะรดและมันสำปะหลัง เพลี้ยจักจั่นในอ้อย เป็นต้น หากพบการระบาดควรรีบกำจัด
ใต้
ลักษณะอากาศ
# ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนอง 30-50% ของพื้นที่ เว้นแต่ในช่วงวันที่ 24-25 ส.ค. จะมีฝนเพิ่มขึ้น ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
# ฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนอง 30-40% ของพื้นที่ เว้นแต่วันที่ 24-25 ส.ค. จะมีฝนเพิ่มขึ้น ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95% ตอนบ่าย 60%
ผลกระทบต่อการเกษตร
# เนื่องจากระยะนี้มีฝนตกน้อย เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชผักที่กำลังเจริญเติบโต รวมทั้งควรระวังและ ป้องกันการระบาดของศัตรูพืช เช่น เพลี้ยอ่อนในพริกและถั่วฝักยาว หนอนกระทู้ในผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ