โรดแมปกุ้งหึ่งรุมฮุบเงินอุดหนุน 5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 27, 2005 14:16 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          ส.แช่เยือกแข็งตีแสกหน้ากรมประมง ลงมติเอกฉันท์ให้ตั้งคณะทำงานทบทวนแผน roadmap มูลค่า 11,631 ล้านบาทใหม่ เหตุใช้แนวทางผลผลิตนำการตลาดไม่เหมาะสม แถมนโยบายให้เงินอุดหนุนโดยตรง 5% แก่ผู้ส่งออกที่ขยายตลาดเพิ่มขึ้นได้ เป็นเรื่องไม่ยุติธรรม วิจารณ์กันแซดทั้งวงการ เอื้อประโยชน์ให้ "ยักษ์ใหญ่" ได้รับการอุดหนุน รายเล็กหมดสิทธิ เผยสมาคมผู้เลี้ยงและผู้ส่งออกรายอื่นไม่เห็นด้วยเท่าไหร่  แต่เกรงอำนาจการเมือง จำใจเซ็นสนับสนุนเข้า ครม.
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาเคลื่อนไหว "roadmap of shrimp" หรือแผนบริหารจัดการกุ้งเพื่อเร่งรัดผลักดันการส่งออก ซึ่งจัดทำโดยกรมประมง ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง หลังจากแผนการดังกล่าวเคยถูกสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แสดงความไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท, การอุดหนุนค่าไฟฟ้า และการมุ่งส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหรัฐเพียงตลาดเดียว
นอกจากนี้ roadmap of shrimp ฉบับของกรมประมงยังสร้างความกระอักกระอ่วนใจให้กับกระทรวงพาณิชย์ ในข้อที่ว่า สหรัฐกำลังเปิดการทบทวนกรณีสถานการณ์เปลี่ยนแปลง (changed circumstance review หรือ CCR) ซึ่งจะมีผลต่ออัตราการเรียกเก็บภาษีทุ่มตลาด (AD) กุ้งของไทย จากกรณีประเทศไทยประสบภัยพิบัติถูกคลื่นยักษ์
สึนามิถล่มในประเด็นที่ว่า อุตสาหกรรมกุ้งไทยเกิดความเสียหายร้ายแรงจริงหรือไม่ ? ทว่าในทางกลับกัน ไทยกลับมีการผลิตกุ้งล้นเกินภายในประเทศจนรัฐต้องออกมาตรการรับจำนำกุ้ง แถมยังมี "ตลกร้าย" ด้วยการจัดทำ roadmap of shrimp ส่งเสริมให้เกิดการเลี้ยงกุ้งด้วยการมุ่งส่งออกไปที่สหรัฐเพียงตลาดเดียวกันยกใหญ่
แต่เหตุผลเหล่านี้ไม่สามารถหยุดยั้ง roadmap of shrimp ฉบับนี้ได้ เมื่อในทาง "ลับ" ภาคเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทผู้ส่งออกกุ้งยักษ์ใหญ่ของประเทศได้รับ "ข้อเสนอ" อย่างไม่เป็นทางการที่ว่า รัฐพร้อมที่จะอุดหนุนโดยตรงด้วยการให้เงินแก่ผู้ส่งออกกุ้งที่สามารถทำยอดส่งออกกุ้งเพิ่มขึ้น
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงาน roadmap of shrimp ฉบับปรับปรุงแก้ไขล่าสุดของกรมประมงที่ถูกนำออกมาเคลื่อนไหวให้ภาคเอกชนให้ความสนับสนุนอยู่ในขณะนี้ว่า จะแบ่งการดำเนินโครงการออกเป็น 3 ระยะ (ปี 2548-2549-2550) คือ 1)การเพิ่มพื้นที่/พัฒนาสายพันธุ์ รวม 595.9 ล้านบาท 2)การผลิตที่ได้มาตรฐาน รวม 991.2 ล้านบาท 3)การพัฒนาการแปรรูป รวม 124.5 ล้านบาท 4)การแก้ไขปัญหาทางการค้ารวม 450.522 ล้านบาท และ 5)การวิจัยและพัฒนาด้านการตลาด (5%) รวม 2,625 ล้านบาท และที่สำคัญก็คือ กรมประมงยัง
เสนอของบประมาณในการส่งเสริมค่าไฟฟ้าสำหรับผู้เลี้ยงกุ้งเป็นเวลา 3 ปี อีก 7,295 ล้านบาท ส่งผลให้งบประมาณในการจัดทำคลัสเตอร์กุ้งของกรมประมงพุ่งขึ้นสูงถึง 11,631.6 ล้านบาท (รายละเอียดตามตารางประกอบ)
อย่างไรก็ตาม ใน roadmap of shrimp ฉบับนี้ได้ถูกกลุ่มผู้ส่งออกวิพากษ์วิจารณ์กันมากในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาด้านการตลาด (5%) แท้ที่จริงแล้วก็คือ การจ่ายเงินอุดหนุนโดยตรงให้กับบริษัทผู้ส่งออกที่สามารถส่งออกกุ้งมีมูลค่ารวมกันเกินกว่า 5% ของยอดส่งออกของแต่ละบริษัทในปี 2547 ตามที่ได้รับคำรับรองอย่างไม่เป็นทางการที่ว่า "ขอให้สมาคมกุ้งทุกสมาคมสนับสนุนข้อเสนอนี้ ก่อนที่กระทรวงเกษตรฯจะทำเรื่องส่งเข้า ครม. โดยจะพยายามออกมติ ครม.ให้ลักษณะไม่เผยแพร่ออกเป็นข่าว เพราะการให้เงินอุดหนุนโดยตรง ตลอดจนการช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้าขัดต่อข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO)" ผู้เกี่ยวข้องในการทำแผน roadmap กุ้งกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ"
และมีรายงานข่าวเข้ามาด้วยว่า หลังจากที่ข้อเสนอนี้ถูกเผยแพร่ออกไป บรรดาสมาคมที่เกี่ยวกับกุ้งได้ลงนามให้ความเห็นชอบ roadmap ของกรมประมงทันที เนื่องจากสมาคมเหล่านี้บางส่วนถูก "ครอบงำ" โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านปศุสัตว์ที่ส่ง "คนของตัวเอง" เข้ามาบริหารสมาคมเพื่อแชร์ผลประโยชน์จากรัฐอยู่แล้ว
ล่าสุดมีรายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แจ้งเข้ามาที่ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แม้สมาคมที่เกี่ยวข้องกับกุ้งเกือบทั้งหมดได้ลงชื่อสนับสนุน roadmap กุ้งของกรมประมงเพื่อเปิดทางสะดวกให้มีการนำเรื่องเสนอต่อ ครม.โดยปราศจากการต่อต้านจากผู้ประกอบการแล้วก็ตาม แต่ในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ นายพจน์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กลับทำหนังสือแสดงท่าที "คัดค้าน" roadmap กุ้งฉบับนี้ ส่งถึงกระทรวงเกษตร-พาณิชย์-คลัง
โดยหนังสือของสมาคมแช่เยือกแข็งไทยได้อ้างมติที่ประชุมสมาคมในวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า สมาคมเห็นด้วยกับแนวทาง roadmap และยินดีให้การสนับสนุน แต่ขอให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวน "roadmap" และจัดทำข้อเสนอแนะ โดยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเขรวมเปนคณะทำงาน
พร้อมกับมีข้อสังเกตในเรื่องของ 1)การกำหนด "ค่าการส่งเสริมการตลาด" ให้กับบริษัทที่ส่งสินค้ากุ้งไปต่างประเทศทุกบริษัท ไม่ควรกำหนดให้เฉพาะบริษัทที่ส่งออกมากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งอาจทำให้เกิดขบวนการปลาใหญ่กินปลาเล็ก
2)ขอให้มีการศึกษาราคาขายในประเทศผู้ซื้อและราคาวัตถุดิบของประเทศคู่แข่งขันรวมถึงปัจจัยอื่นๆ เพราะราคาเป็นตัวบิดเบือนกลไกการตลาด 3)ขอให้มีการพิจารณาจัดหาแหล่งเงินเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมการผลิตให้มีเงินหมุนเวียน4)มาตรการควบคุมการนำเข้าสารเคมีและการใช้สารเคมีในกุ้ง 5)ดำเนินโครงการในการสร้างระบบย้อนกลับ (traceability) 6)ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับปรุงระบบฟาร์มให้เป็นไปตามระบบ7)ส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ 8)ผลักดันให้มีการแข่งขันเพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิต และ 9)ผลักดันให้มีการสร้างตลาดภายในประเทศ
แหล่งข่าวจากวงการผู้ส่งออกกุ้ง กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เงินอุดหนุนร้อยละ 5 สำหรับผู้ส่งออกที่มียอดขายเพิ่มขึ้นนั้น ดูเหมือนเป็นนโยบายที่ออกมาจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศมากกว่า เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ตลาดส่งออกกุ้งหลักอยู่ที่สหรัฐ ซึ่งตอนนี้มีเพียงบริษัทใหญ่ไม่ถึง 5 บริษัทที่จัดการเรื่องวางเงินค้ำประกันได้เรียบร้อย ส่วนบริษัทรายกลางที่ส่งไปได้ก็ปริมาณน้อยมากๆ ที่ลูกค้าทางสหรัฐช่วยรับภาระ
"การชดเชย 5% จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นมีกี่คนที่ทำได้ สุดท้ายจะกลายเป็นใหญ่กินเล็กกินรวบ สมมติบริษัท A ขาย 6 เดือนผ่านมาเพิ่ม 4,000 ล้านบาท 5% คือ 200 ล้านบาท สามารถเอาเงิน 200 ล้านบาทนี้มาอุดหนุนในการส่งออก 6 เดือนหลังเป็นการขายได้ใช่หรือไม่ เพราะกำไรตัวนี้โผล่เติมขึ้นมา แล้วยังสามารถเอาเงินตรงนี้มาเคลมคืนได้อีกรอบ " แหล่งข่าวกล่าว
ตัวเลขการส่งออกกุ้งของกรมศุลกากรระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2548 บริษัทที่ส่งออกกุ้งสูงสุด ทั้งกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง กับกุ้งแปรรูปได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยรอแยลฟรอเซนฟู้ด จำกัด, บริษัท ไทยแลนด์ฟิชเชอรี่โคลด์สตอเรจ จำกัด, บริษัท จันทบุรี โฟรเซนฟู้ด จำกัด, บมจ.ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่นโปรดักส์ และบริษัท แพ็คฟู้ด จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
ที่มา: หอการค้าไทย www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ