จีนตั้งรับ : ปรับค่าเงินหยวน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 30, 2005 13:51 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          การที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ตรึงค่าเงินหยวนไว้ที่ 8.28 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา ตลอดระยะเวลาดังกล่าวส่งผลให้จีนมีสถานะภาพเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นมูลค่าสูง รวมทั้งมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากกว่า 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลภาวะเศรษฐกิจของจีนขยายตัวอย่างร้อนแรง
นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา เงินหยวนมีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง ประมาณร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการพิจารณาเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยระดับราคาผู้บริโภคของประเทศนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 15
การที่ค่าเงินหยวนต่ำกว่าความเป็นจริงมีผลให้สินค้าส่งออกของจีนมีข้อได้เปรียบต่อคู่แข่งขันจึงสามารถขยายการส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องจึงได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ประกอบกับจีนมีนโยบายกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศจึงส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวสูงในระดับ 8-9% ตลอดมา ในปี 2548 OECD ได้พยากรณ์ว่าเศรษฐกิจของจีนจะขยายตัวร้อยละ 9 และในปี 2549 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.2
เริ่มมีแรงกดดันให้รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนปรับค่าเงินหยวนมาตั้งแต่ปี 2544 และรุนแรงมากขึ้นในปี 2546 เป็นต้นมา เพราะญี่ปุ่นสูญเสียตลาดให้กับจีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในตลาดโลก ต่อมานายอลัน กรีนสแปน (Alan Greenspan) ประธานคณะผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้จีนเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนโดยให้ปล่อยค่าเงินหยวนลอยตัวตามกลไกตลาด
รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ต้านแรงกดดันด้วยการตอบโต้ทุกรูปแบบ
เมื่อวันพุธที่ 26 มกราคม 2548 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยูบุช ของสหรัฐฯได้กดดันให้รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเร่งสร้างความคืบหน้าในการปรับค่าเงินหยวนเนื่องจากสหรัฐฯกำลังประสบภาวะขาดดุลแฝด (Twin Deficit) คือการขาดดุลงบประมาณแผ่นดินและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ปัจจัยสำคัญต่อปัญหาดังกล่าวคือ จีนกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่งในด้านการค้าจึงกลายเป็นเกมการค้า การเมืองระหว่างสหรัฐฯกับสาธารณรัฐประชาชนจีน
สหรัฐฯพยายามทุกวิถีทางเพื่อกดดันให้จีนปรับค่าเงินหยวน เพราะเห็นว่าจีนมีนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมและเป็นต้นเหตุให้สหรัฐฯขาดดุลการค้าเป็นจำนวนมหาศาลและคนในประเทศสูญเสียงานในภาคการผลิตไปไม่น้อยกว่า 1.1 ล้าน ตำแหน่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ล่าสุดสหรัฐฯและสหภาพยุโรปเรียกร้องให้จีนปรับค่าเงินหยวนพร้อมกับเตรียมจำกัดโควต้านำเข้าสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากจีน แต่จีนกำลังตั้งรับการกดดันทั้งค่าเงินหยวนและสินค้าสิ่งทอ นักวิเคราะห์เชื่อว่าจีนกำลังดำเนินการ 2 แนวทาง คือ
1. เปิดสงครามตอบโต้คู่ค้าทั้งสหรัฐฯและอียู
2. กำลังพิจารณาแนวทางวางรากฐานไปสู่การปฏิรูประบบอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ในที่สุดจีนจะนำระบบการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนใหม่มาใช้โดยขยายสกุลเงินต่างประเทศเพิ่มจาก 4 สกุลเป็น 8 สกุล ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐฯ ดอลลาร์ฮ่องกง เยนของญี่ปุ่น ปอนด์ของอังกฤษ ฟรังสวิส ดอลลาร์ออสเตรเลีย ดอลลาร์แคนาดา และยูโรของสหภาพยุโรป
นายพอล คลัฟลิน กรรมการผู้จัดการประจำเอเชียของสแตนดาร์ดแอนด์พัว สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินให้ข้อสังเกตว่าจีนอาจเลือกแนวทางปรับค่าเงินหยวนไปทีละน้อย โดยเปลี่ยนจากการตรึงค่าไว้กับดอลลาร์สหรัฐฯมาเป็นการผูกค่าเงินไว้กับตะกร้าเงินหลายสกุล
เกี่ยวกับเงื่อนเวลาในการปรับค่าเงินหยวนให้ยืดหยุ่นยิ่งขึ้นของจีน นายจอห์น สโนว์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯคาดว่าจีนจะปรับค่าเงินให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าและจะเป็นจุดเริ่มต้นของการลอยตัวค่าเงินหยวนในอนาคต
จากเวทีประชุมการปฏิรูปและพัฒนาระบบการเงินเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2548 ณ กรุงปักกิ่ง นายโรเบิรต์ มัลเดลล์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลและบิดาแห่งเงินยูโร ให้ความเห็นว่า จีนยังไม่สมควรปฏิรูปเงินหยวนเพราะการปรับค่าเงินหยวนจะไม่ส่งผลดีต่อจีนและประเทศที่บังคับให้จีนขึ้นค่าเงินหยวน เนื่องจากมีผลกระทบต่อจีนหลายประการ เช่น การลงทุนโดยตรง (FDI) จากต่างประเทศจะลดลง การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะชะลอตัวลงอย่างฉับพลัน ปัญหาหนี้เสียของธนาคารจะเพิ่มพูนขึ้น ผลกำไรของวิสาหกิจภาครัฐจะลดลง มูลค่าการส่งสินค้าออกของจีนจะลดลงก่อให้เกิดการขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น และประการสำคัญเสถียรภาพ ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเกิดการสั่นคลอน เป็นต้น
มัลเดลล์ แนะนำว่าจีนควรดำเนินโยบายด้านเงินตราต่างประเทศให้มีเสถียรภาพโดยค่อย ๆ ผ่อนคลายไปทีละน้อย
ด้านนายหยงถู อดีตรองรัฐมนตรีกระทรวงการค้าต่างประเทศของจีนได้กล่าวบนเวทีการประชุมในกรุงวอชิงตันสหรัฐฯว่า เมื่อมีแรงกดดันมาก การปฏิรูปเงินหยวนของรัฐบาลจีนยิ่งทำได้ยากมากขึ้น และให้ความเห็นว่า แม้จีนจะปรับค่าเงินหยวนให้แข็งขึ้นก็จะไม่มีผลให้ตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯลดลงได้ เพราะแม้จีนจะแข็งค่าเงินหยวนถึง 100% สินค้าของจีนก็ยังคงมีความสามารถในการแข่งขันเพราะต้นทุนแรงงานในจีนต่ำกว่าในสหรัฐฯถึง 20 เท่า
อย่างไรก็ตาม มีนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านให้ความเห็นว่า เมื่อสหรัฐฯกดดันจีนมากถึงขั้นปิดตลาดนำเข้าสินค้าจากจีนก็จะมีผลให้จีนหันมาพิจารณานำนโยบายปรับอัตราแลกเปลี่ยนมาใช้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของจีนเองในตลาดสหรัฐฯเพราะในปี 2547 จีนมีสัดส่วนการส่งสินค้าออกไปสหรัฐฯถึงร้อยละ 21.05 หรือมูลค่า 124,973.452 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.09 และสหภาพยุโรปร้อยละ 18.05 หรือมูลค่า 107,171.320 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.83 ซึ่งขณะนี้ทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรปกำลังกดดันจีนด้วยการจะจำกัดโควต้า สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากจีนหลายรายการด้วยกัน
ล่าสุดจากข้อมูลในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส ของประเทศอังกฤษได้รายงานเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2548 ว่า สหรัฐฯได้ส่งทูตอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งมีนายเฮนรี่ คีสซ์ซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯไปเตือนจีนให้เร่งปรับค่าเงินหยวนขึ้นอย่างน้อย 10% ภายใน 6 เดือน เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากจีนต้องปรับค่าเงินหยวนจริง
1. ผลกระทบด้านลบ
1.1 คาดว่าจะส่งผลให้เกิดความผันผวนในค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งจะต้องพากันปรับขึ้นค่าเงินตามไปด้วยหลังการประกาศปรับค่าเงินหยวน
1.2 จะไม่สามารถต้านกระแสการเก็งกำไรของนักการเงินและนักลงทุนที่เฝ้ารอโอกาสนี้มานานแล้ว
1.3 การปรับค่าเงินหยวนของจีนเพียงอย่างเดียวคงจะไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯได้ทั้งหมดเพราะสหรัฐฯนำสินค้าเข้าจากจีนในสัดส่วนร้อยละ 13.38 ของมูลค่าการนำเข้ารวม แต่สหรัฐฯขาดดุลต่อจีนเป็นมูลค่า 161,977.969 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2547 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.56 ในช่วงไตรมาสแรกปี 2548 สหรัฐฯขาดดุลการค้า ในตลาดโลกมูลค่า 166,472.141 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และขาดดุลการค้ากับจีนเป็นมูลค่า 42,029.875 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.20
1.4 สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาหลังจากการปรับค่าเงินหยวนคือค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาคจะแข็งค่าตามขึ้นไปด้วย และเมื่อถึงเวลานั้นจีนอาจจะสามารถคงสถานะการแข่งขันในเวทีการค้าโลกไว้ได้ นั่นคือการปรับค่าเงินหยวนอาจจะไม่ได้ช่วยให้การส่งออกของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกดีขึ้นมากนัก โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกในสัดส่วนค่อนข้างสูง อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน รวมทั้งไทยด้วย
1.5 หากจีนปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นจะส่งผลให้จีนประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจได้เพราะในความเป็นจริงเมื่อเงินหยวนแข็งค่าขึ้นก็จะทำให้จีนต้องการปริมาณเงินดอลลาร์มากขึ้นในการลงทุน
2. ผลกระทบด้านบวกต่อประเทศกรณีจีนปรับค่าเงินหยวนขึ้น
2.1 ภาคการส่งออกของประเทศในเอเชียจะได้รับผลดีมากขึ้นจากความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น เพราะเมื่อเงินหยวนแข็งค่าขึ้น สินค้าจีนที่ขายในตลาดโลกจะมีราคาสูงขึ้น สินค้าของไทยจะมีโอกาสมากขึ้นในตลาดโลกเพราะคุณภาพสินค้าของไทยมีคุณภาพได้มาตรฐาน จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดโลกได้มากขึ้น
2.2 สำหรับผู้ส่งออกที่ส่งสินค้าไปประเทศจีนที่ได้รับรายได้เป็นเงินหยวนจะสามารถนำมาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้นกว่าเดิม
2.3 การที่จีนเลิกตรึงอัตราแลกเปลี่ยนกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีผลดีต่อทุกประเทศในเอเชีย รวมทั้งไทยสามารถลดภาระในการเข้าไปดูแลหรือแทรกแซงค่าเงินเพื่อไม่ให้ค่าเงินของตนเองต้องแข็งค่าจนเกินไป
3. ข้อคิดเห็น
ขณะนี้จีนได้รับการกดดันอย่างรุนแรงจากสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ทั้งการปรับค่าเงินหยวนพร้อมกับแรงกดดันเกี่ยวกับการที่สหรัฐฯและสหภาพยุโรปกำลังจะจำกัดโควต้านำเข้าสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากจีน
3.1 ในกรณีการปรับค่าเงินหยวนเชื่อว่าในที่สุดคงจะต้องปรับขึ้นแต่ยังไม่สามารถประมาณได้ว่าจะเป็นเมื่อใด แต่ได้มีนักเศรษฐศาสตร์หลายรายคาดว่าอาจจะเป็นช่วงครึ่งปีหลังของปี 2548 หรือในปี 2549 หรือนานที่สุดอาจเป็นไปได้อีก 2 ปี เพราะจีนจะยังคงรักษาท่าทีและยังคงปล่อยให้มีการคาดการณ์เกี่ยวกับการลอยตัวค่าเงินหยวนหรือปรับค่าเงินหยวนต่อไป ซึ่งจะทำให้มีเงินจากต่างประเทศไหลเข้าไปในจีนเพื่อเก็งกำไรค่าเงินหยวนต่อไป เพราะหากจีนรีบดำเนินการปรับค่าเงินหยวนเร็วในขณะความพร้อมยังไม่สมบูรณ์ทั้งกลไกตลาดและสถาบันการเงินก็จะมีผลให้จีนประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจได้
3.2 ในกรณีสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรป กำลังกดดันโดยจะจำกัดโควต้านำเข้า จีนได้เตรียมทางออกไว้โดยจะใช้เวที WTO ว่าการแข่งขันเป็นสิทธิอันชอบธรรมของจีนที่ได้รับหลังจากเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกเป็นแนวทางแรก แนวทางที่สองจีนอาจจะเลือกการใช้ประเทศที่สามเป็นฐานการส่งออก หรือลดการส่งออกไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่หันมาเพิ่มการส่งออกไปยังตลาดประเทศกำลังพัฒนาให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามจีนมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าการปรับเปลี่ยนค่าเงินจะเกิดขึ้นต่อเมื่อจีนได้ดำเนินการปฏิรูประบบการเงินและเศรษฐกิจให้พร้อมเสียก่อน ดังนั้น ขณะนี้จึงควรติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ที่มา: http://www.depthai.go.th
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ