กรุงเทพ--17 ต.ค.--กระทรวงการต่างประเทศ
ในโอกาสที่ปี 2548 เป็นปีแห่งการครบรอบ 55 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อินโดนีเซีย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตาจึงมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบความสัมพันธ์ดังกล่าวให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และเมื่อพิจารณาลงลึกถึงแก่นของความสัมพันธ์อันราบรื่นและเต็มไปด้วยมิตรไมตรีที่ผ่านมาของทั้งสองประเทศ จะเห็นว่าวัฒนธรรมสามารถเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญระหว่างไทยและอินโดนีเซียได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น ท่านทูตอัจฉรา เสรีบุตร เอกอัครราชทูตไทยประจำอินโดนีเซียจึงมีความคิดที่จะนำคณะนาฏศิลป์ของกรมศิลปากรไปแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ หรือ “รามายณะ” ให้ประชาชนชาวอินโดนีเซียได้ชื่นชมศิลปการแสดงของไทย และได้เชิญคณะรามายณะของอินโดนีเซียร่วมแสดงในเรื่องเดียวกัน โดยสลับกันแสดงคนละตอน เพราะวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ เป็นที่รู้จักและนิยมชมชอบของประชาชนไทยและอินโดนีเซียเป็นอย่างดี
และแล้วความฝันของท่านทูตอัจฉราฯ ที่จะเห็นการแสดงรามเกียรติ์ร่วมระหว่างนาฏศิลป์ไทยและอินโดนีเซียก็เป็นความจริง เมื่อชุมชนนักธุรกิจไทยในอินโดนีเซีย ได้แก่ บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ อินโดนีเซีย (จำกัด) บริษัท ปตท. สผ. จำกัด (มหาชน) บริษัท M-150 อินโดนีเซีย และธนาคารกรุงเทพ จำกัด ร่วมลงขันค่าใช้จ่ายในการแสดง บริษัทการบินไทยสนับสนุนค่าบัตรโดยสารเครื่องบินของคณะนาฏศิลป์และคณะดุริยางคศิลป์ไทยไปแสดงที่อินโดนีเซียจำนวนร่วมครึ่งร้อย
ที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง คือ สุลต่านฮาเมงกูบูโวโนที่ 10 ผู้ว่าราชการเขตปกครองพิเศษยอกยาการ์ตา ทรงยินดีและพร้อมที่จะสนับสนุนการแสดงรามเกียรติ์ร่วมของไทยและอินโดนีเซียอย่างเต็มที่ เพราะมีพระประสงค์จะเห็นความร่วมมือทางวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเมืองยอกยาการ์ตา ซึ่งกำลังจะลงนามสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องกับจังหวัดเชียงใหม่ของเราในอนาคตอันใกล้นี้
ทีมประเทศไทยในกรุงจาการ์ตาได้เตรียมการและประสานงานกับทั้งฝ่ายไทยและอินโดนีเซียเป็นเวลากว่า 1 ปี ที่จะนำการแสดงร่วมรามเกียรติ์ไปเปิดการแสดงทั้งที่เมืองยอกยาการ์ตาและกรุงจาการ์ตา ในช่วงระหว่างวันที่ 24-30 กันยายน 2548 โดยได้กำหนดพิธีเปิดการแสดงรอบปฐมฤกษ์อย่างยิ่งใหญ่ โอฬาร ตระการตา สมศักดิ์ศรีของการเฉลิมฉลองครบรอบความสัมพันธ์ไทย-อินโดนีเซีย เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 27 กันยายน 2548 ที่โรงละครกลางแจ้งในอุทยานประวัติศาสตร์ “ปรามบานัน” สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และศาสนสถานที่สำคัญยิ่งของเมืองยอกยาการ์ตา เป็นโชคดีของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสติดตามคณะนาฏศิลป์ไทยซึ่งนำโดยคุณอารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากร ไปชมการแสดงครั้งนี้ที่อินโดนีเซีย เพราะการแสดงร่วมรามเกียรติ์ของนาฏศิลป์ไทยและอินโดนีเซียท่ามกลางบรรยากาศอันเคร่งครึมและศักดิ์สิทธิ์ของอุทยานประวัติศาสตร์ปรามบานัน อาจเป็นเพียงครั้งแรกและครั้งเดียวเท่านั้นที่ผู้เขียนและผู้ชมการแสดงทั้งชาวไทยและอินโดนีเซียมีโอกาสได้ชมอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เนื่องจากไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะจัดการแสดงอย่างยิ่งใหญ่และอลังการได้โดยปราศจากความร่วมมือและการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยและอินโดนีเซียอย่างเต็มที่เช่นครั้งนี้
เมื่อพิธีเปิดสิ้นสุดลง เวลาที่ผู้ชมการแสดงจำนวน 1,250 คน ซึ่งมีทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชาวไทยและชาวอินโดนีเซีย เฝ้ารอคอยก็มาถึง เมื่อการแสดงโขนของกรมศิลปากรเริ่มเปิดฉากแรกด้วยการแสดงตอน “นารายณ์ปราบ นนทุก” สลับด้วยการแสดงของนาฏศิลป์อินโดนีเซียตอน “ พระรามยกศร” ต่อด้วยการแสดงของฝ่ายไทยตอน “นางสีดาหาย-ถวายพล” และจบการแสดงช่วงแรกด้วยการแสดงของฝ่ายอินโดนีเซียตอน “หนุมานถวายแหวน-เผากรุงลงกา” ซึ่งสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชมการแสดงจำนวนกว่าพันคน ด้วยการจุดไฟบนเวทีจริงๆ ทำเอาผู้ชมร้อนจนเหงื่อตกไปตามๆ กัน
ช่วงครึ่งหลังของการแสดง เริ่มด้วยการแสดงโขนไทยตอน “จองถนน” ต่อด้วยการแสดงตอน “ศึกกุมภกรรณ”ของฝ่ายอินโดนีเซีย ตามด้วยโขนตอน “ศึกทศกรรฐ์ (ยกรบ) และจบการแสดงด้วยตอน”นางสีดาลุยไฟ” ของฝ่ายอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการแสดงที่สมจริงด้วยการจุดไฟบนเวทีเช่นเคย ซึ่งนับเป็นข้อดีประการหนึ่งของการแสดงบนเวทีกลางแจ้ง
การแสดงร่วมรามเกียรติ์ครั้งนี้ แม้ว่าฝ่ายไทยจะสามารถจัดนักแสดงจากกรมศิลปากรเดินทางไปร่วมแสดงได้เพียง 35 คน เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ แต่การแสดงของฝ่ายไทยก็มิได้น้อยหน้าด้วยการแสดงโขนอันสง่างามและเครื่องแต่งกายที่สวยงามเปล่งประกายระยิบระยับเมื่อต้องแสงไฟบนเวที นอกจากนี้ยังเสริมด้วยการนำนักแสดงชาวอินโดนีเซียมาร่วมแสดงเป็นตัวยักษ์ ลิง บริวารปลา ม้า และราชสีห์ รวมถึง30 คน ซึ่งกรมศิลปากรถึงกับชมเชยในความสามารถของนักแสดงสมทบกันถ้วนหน้า งานนี้กล่าวได้ว่านอกจากจะช่วยให้การแสดงของฝ่ายไทยเพิ่มความอลังการขึ้นแล้ว ยังถือเป็นการถ่ายทอดทักษะด้านนาฏศิลป์ของฝ่ายไทย ทั้งท่าพื้นฐานของยักษ์ และลิง ให้แก่นักแสดงชาวอินโดนีเซียที่เข้าร่วมด้วย
พิธีปิดการแสดงก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้พิธีเปิด นักแสดงไทย-อินโดนีเซียจำนวนกว่าร้อยคนออกมาโค้งคำนับผู้ชมซึ่งปรบมือและโห่ร้องด้วยความชื่นชมการแสดง มีการจุดพลุสวยงามเต็มท้องฟ้า ซึ่งมองขึ้นไปเห็นเทวสถานปรามบานัน ทั้ง 3 องค์ตั้งเด่น สูงสง่า เปรียบเสมือนฉากหลังของเวทีธรรมชาติที่เพิ่มมนต์ขลังและความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่การแสดงทางวัฒนธรรมเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-อินโดนีเซียครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง
การแสดงร่วมรามเกียรติ์ที่เทวสถาน “ปรามบานัน” จบลงด้วยความอิ่มเอมใจของคณะผู้จัดการแสดงทั้งฝ่ายไทยและอินโดนีเซีย ทุกคนมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส และมีท่าทีหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เพราะผลสำเร็จที่ปรากฏออกมาไม่สามารถประเมินออกมาเป็นคำพูดได้ เนื่องจากการแสดงร่วมรามเกียรติ์ในครั้งนี้นำมาซึ่งความร่วมแรงร่วมใจและความสมัครสมานสามัคคีของฝ่ายไทยและอินโดนีเซียอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์และมิตรภาพอันแนบแน่น ราบรื่นที่เต็มไปด้วยไมตรีจิตและมิตรภาพอันยาวนานตลอดเวลา 55 ปีที่ผ่านมา และจะธำรงอยู่ตลอดไปเช่นเดียวกับ “จิตวิญญาณของรามายณะ”วรรณคดีล้ำค่าซึ่งจะอยูในจิตใจของประชาชนทั้งสองประเทศ
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5105 โทรสาร. 643-5106-7 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-
ในโอกาสที่ปี 2548 เป็นปีแห่งการครบรอบ 55 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อินโดนีเซีย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตาจึงมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบความสัมพันธ์ดังกล่าวให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และเมื่อพิจารณาลงลึกถึงแก่นของความสัมพันธ์อันราบรื่นและเต็มไปด้วยมิตรไมตรีที่ผ่านมาของทั้งสองประเทศ จะเห็นว่าวัฒนธรรมสามารถเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญระหว่างไทยและอินโดนีเซียได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น ท่านทูตอัจฉรา เสรีบุตร เอกอัครราชทูตไทยประจำอินโดนีเซียจึงมีความคิดที่จะนำคณะนาฏศิลป์ของกรมศิลปากรไปแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ หรือ “รามายณะ” ให้ประชาชนชาวอินโดนีเซียได้ชื่นชมศิลปการแสดงของไทย และได้เชิญคณะรามายณะของอินโดนีเซียร่วมแสดงในเรื่องเดียวกัน โดยสลับกันแสดงคนละตอน เพราะวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ เป็นที่รู้จักและนิยมชมชอบของประชาชนไทยและอินโดนีเซียเป็นอย่างดี
และแล้วความฝันของท่านทูตอัจฉราฯ ที่จะเห็นการแสดงรามเกียรติ์ร่วมระหว่างนาฏศิลป์ไทยและอินโดนีเซียก็เป็นความจริง เมื่อชุมชนนักธุรกิจไทยในอินโดนีเซีย ได้แก่ บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ อินโดนีเซีย (จำกัด) บริษัท ปตท. สผ. จำกัด (มหาชน) บริษัท M-150 อินโดนีเซีย และธนาคารกรุงเทพ จำกัด ร่วมลงขันค่าใช้จ่ายในการแสดง บริษัทการบินไทยสนับสนุนค่าบัตรโดยสารเครื่องบินของคณะนาฏศิลป์และคณะดุริยางคศิลป์ไทยไปแสดงที่อินโดนีเซียจำนวนร่วมครึ่งร้อย
ที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง คือ สุลต่านฮาเมงกูบูโวโนที่ 10 ผู้ว่าราชการเขตปกครองพิเศษยอกยาการ์ตา ทรงยินดีและพร้อมที่จะสนับสนุนการแสดงรามเกียรติ์ร่วมของไทยและอินโดนีเซียอย่างเต็มที่ เพราะมีพระประสงค์จะเห็นความร่วมมือทางวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเมืองยอกยาการ์ตา ซึ่งกำลังจะลงนามสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องกับจังหวัดเชียงใหม่ของเราในอนาคตอันใกล้นี้
ทีมประเทศไทยในกรุงจาการ์ตาได้เตรียมการและประสานงานกับทั้งฝ่ายไทยและอินโดนีเซียเป็นเวลากว่า 1 ปี ที่จะนำการแสดงร่วมรามเกียรติ์ไปเปิดการแสดงทั้งที่เมืองยอกยาการ์ตาและกรุงจาการ์ตา ในช่วงระหว่างวันที่ 24-30 กันยายน 2548 โดยได้กำหนดพิธีเปิดการแสดงรอบปฐมฤกษ์อย่างยิ่งใหญ่ โอฬาร ตระการตา สมศักดิ์ศรีของการเฉลิมฉลองครบรอบความสัมพันธ์ไทย-อินโดนีเซีย เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 27 กันยายน 2548 ที่โรงละครกลางแจ้งในอุทยานประวัติศาสตร์ “ปรามบานัน” สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และศาสนสถานที่สำคัญยิ่งของเมืองยอกยาการ์ตา เป็นโชคดีของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสติดตามคณะนาฏศิลป์ไทยซึ่งนำโดยคุณอารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากร ไปชมการแสดงครั้งนี้ที่อินโดนีเซีย เพราะการแสดงร่วมรามเกียรติ์ของนาฏศิลป์ไทยและอินโดนีเซียท่ามกลางบรรยากาศอันเคร่งครึมและศักดิ์สิทธิ์ของอุทยานประวัติศาสตร์ปรามบานัน อาจเป็นเพียงครั้งแรกและครั้งเดียวเท่านั้นที่ผู้เขียนและผู้ชมการแสดงทั้งชาวไทยและอินโดนีเซียมีโอกาสได้ชมอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เนื่องจากไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะจัดการแสดงอย่างยิ่งใหญ่และอลังการได้โดยปราศจากความร่วมมือและการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยและอินโดนีเซียอย่างเต็มที่เช่นครั้งนี้
เมื่อพิธีเปิดสิ้นสุดลง เวลาที่ผู้ชมการแสดงจำนวน 1,250 คน ซึ่งมีทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชาวไทยและชาวอินโดนีเซีย เฝ้ารอคอยก็มาถึง เมื่อการแสดงโขนของกรมศิลปากรเริ่มเปิดฉากแรกด้วยการแสดงตอน “นารายณ์ปราบ นนทุก” สลับด้วยการแสดงของนาฏศิลป์อินโดนีเซียตอน “ พระรามยกศร” ต่อด้วยการแสดงของฝ่ายไทยตอน “นางสีดาหาย-ถวายพล” และจบการแสดงช่วงแรกด้วยการแสดงของฝ่ายอินโดนีเซียตอน “หนุมานถวายแหวน-เผากรุงลงกา” ซึ่งสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชมการแสดงจำนวนกว่าพันคน ด้วยการจุดไฟบนเวทีจริงๆ ทำเอาผู้ชมร้อนจนเหงื่อตกไปตามๆ กัน
ช่วงครึ่งหลังของการแสดง เริ่มด้วยการแสดงโขนไทยตอน “จองถนน” ต่อด้วยการแสดงตอน “ศึกกุมภกรรณ”ของฝ่ายอินโดนีเซีย ตามด้วยโขนตอน “ศึกทศกรรฐ์ (ยกรบ) และจบการแสดงด้วยตอน”นางสีดาลุยไฟ” ของฝ่ายอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการแสดงที่สมจริงด้วยการจุดไฟบนเวทีเช่นเคย ซึ่งนับเป็นข้อดีประการหนึ่งของการแสดงบนเวทีกลางแจ้ง
การแสดงร่วมรามเกียรติ์ครั้งนี้ แม้ว่าฝ่ายไทยจะสามารถจัดนักแสดงจากกรมศิลปากรเดินทางไปร่วมแสดงได้เพียง 35 คน เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ แต่การแสดงของฝ่ายไทยก็มิได้น้อยหน้าด้วยการแสดงโขนอันสง่างามและเครื่องแต่งกายที่สวยงามเปล่งประกายระยิบระยับเมื่อต้องแสงไฟบนเวที นอกจากนี้ยังเสริมด้วยการนำนักแสดงชาวอินโดนีเซียมาร่วมแสดงเป็นตัวยักษ์ ลิง บริวารปลา ม้า และราชสีห์ รวมถึง30 คน ซึ่งกรมศิลปากรถึงกับชมเชยในความสามารถของนักแสดงสมทบกันถ้วนหน้า งานนี้กล่าวได้ว่านอกจากจะช่วยให้การแสดงของฝ่ายไทยเพิ่มความอลังการขึ้นแล้ว ยังถือเป็นการถ่ายทอดทักษะด้านนาฏศิลป์ของฝ่ายไทย ทั้งท่าพื้นฐานของยักษ์ และลิง ให้แก่นักแสดงชาวอินโดนีเซียที่เข้าร่วมด้วย
พิธีปิดการแสดงก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้พิธีเปิด นักแสดงไทย-อินโดนีเซียจำนวนกว่าร้อยคนออกมาโค้งคำนับผู้ชมซึ่งปรบมือและโห่ร้องด้วยความชื่นชมการแสดง มีการจุดพลุสวยงามเต็มท้องฟ้า ซึ่งมองขึ้นไปเห็นเทวสถานปรามบานัน ทั้ง 3 องค์ตั้งเด่น สูงสง่า เปรียบเสมือนฉากหลังของเวทีธรรมชาติที่เพิ่มมนต์ขลังและความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่การแสดงทางวัฒนธรรมเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-อินโดนีเซียครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง
การแสดงร่วมรามเกียรติ์ที่เทวสถาน “ปรามบานัน” จบลงด้วยความอิ่มเอมใจของคณะผู้จัดการแสดงทั้งฝ่ายไทยและอินโดนีเซีย ทุกคนมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส และมีท่าทีหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เพราะผลสำเร็จที่ปรากฏออกมาไม่สามารถประเมินออกมาเป็นคำพูดได้ เนื่องจากการแสดงร่วมรามเกียรติ์ในครั้งนี้นำมาซึ่งความร่วมแรงร่วมใจและความสมัครสมานสามัคคีของฝ่ายไทยและอินโดนีเซียอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์และมิตรภาพอันแนบแน่น ราบรื่นที่เต็มไปด้วยไมตรีจิตและมิตรภาพอันยาวนานตลอดเวลา 55 ปีที่ผ่านมา และจะธำรงอยู่ตลอดไปเช่นเดียวกับ “จิตวิญญาณของรามายณะ”วรรณคดีล้ำค่าซึ่งจะอยูในจิตใจของประชาชนทั้งสองประเทศ
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5105 โทรสาร. 643-5106-7 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-