รายงานดัชนีราคาสินค้าส่งออก ประจำเดือน เม.ย48

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 3, 2005 11:53 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาสินค้าส่งออก เดือนเมษายน 2548
กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนเมษายน 2548 โดยสรุป
การประมวลผลดัชนีราคาส่งออกในปี 2548 ใช้มูลค่าส่งออกปี 2547 จากกรมศุลกากรเป็นตัวถ่วงน้ำหนัก สินค้าที่ใช้คำนวณจำนวน 793 รายการ ครอบคลุม 4 หมวดใหญ่ คือ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ตามโครงสร้างเป้าหมายสินค้าส่งออกของกระทรวงพาณิชย์
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนเมษายน 2548 (รูปเงินเหรียญสหรัฐฯ)
ปี 2543 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนเมษายน 2548 เท่ากับ 112.0 สำหรับเดือนมีนาคม 2548 เท่ากับ 111.8
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนเมษายน 2548 เทียบกับ
2.1 เดือนมีนาคม 2548 สูงขึ้นร้อยละ 0.2
2.2 เดือนเมษายน 2547 สูงขึ้นร้อยละ 7.3
2.3 เฉลี่ยเดือนมกราคม - เมษายน 2548 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 สูงขึ้นร้อยละ 7.0
3. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนเมษายน 2548 เทียบกับเดือนมีนาคม 2548
ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดสินค้า อุตสาหกรรมการเกษตรและหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงร้อยละ 1.7 และ 2.1 ตามลำดับ ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรมและหมวดสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.2 ในอัตราเท่ากัน โดยมีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าที่สำคัญ ดังนี้
3.1 หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกลดลง ร้อยละ 0.2
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ไก่แปรรูป ปลาและสัตว์น้ำ
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จากภาวะแห้งแล้งทำให้ผลผลิตลดลง อีกทั้งภาครัฐดำเนินมาตรการแทรกแซงตลาดและประมูลขายมันเส้น ประกอบกับความต้องการผลิตเอทานอลเพื่อผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น
- กาแฟดิบ ราคายังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากภาวะภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตของโลกและไทยลดลง ประกอบกับรัฐดำเนินการแทรกแซงตลาดด้วยวิธีรับจำนำ
3.2 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้น ร้อยละ 1.7
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- น้ำตาล จากภาวะภัยแล้งทำให้ผลผลิตของโลกและไทยลดลง นอกจากนี้ประเทศผู้ผลิตและส่งออก เช่น อินเดีย ต้องหันมานำเข้า
- อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ราคายังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากต้นทุนการผลิตวัตถุดิบหลักสูงขึ้น คือ ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน บรรจุภัณฑ์และน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับ ภาครัฐได้ขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่
3.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกลดลง ร้อยละ 0.2
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องประดับทำด้วยทอง ปรับตัวลดลงตามราคาทองคำในตลาดโลก
- เครื่องใช้ไฟฟ้า (อีวาปอเรเตอร์ของตู้เย็นและคอนเดนเซอร์) ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (รถบรรทุกน้ำหนักรวมไม่เกิน 5 ตัน)
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- สิ่งทอ เส้นใยประดิษฐ์และอวน วัตถุดิบนำเข้าราคาปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากโพลีเอสเตอร์ จากการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนการผลิตและรัฐมีมาตรการ ยกระดับมาตรฐานเสื้อผ้าสำเร็จรูปสู่สากลมากขึ้น
- เครื่องอิเลคทรอนิคส์ วัตถุดิบที่ใช้ผลิตแผงวงจรไฟฟ้า (ทองแดง) ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก
- เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เหล็กแผ่นรีด เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กสี่เหลี่ยม ราคาสูงขึ้นตามราคาเหล็กแท่งแบนที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกาและแคนาดา
3.4 หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้น ร้อยละ 2.1
- น้ำมันดิบ สูงขึ้นตามภาวะตลาดโลก
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5802 โทรสาร.0-2507-5825

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ