รายงานดัชนีราคาสินค้าส่งออก ประจำเดือน ก.ค.48

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 1, 2005 12:06 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาสินค้าส่งออก เดือนกรกฎาคม 2548 
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกรกฎาคม 2548 โดยสรุป
การประมวลผลดัชนีราคาส่งออกในปี 2548 ใช้มูลค่าส่งออกปี 2547 จากกรมศุลกากร เป็นตัวถ่วงน้ำหนัก สินค้าที่ใช้คำนวณจำนวน 793 รายการ ครอบคลุม 4 หมวดใหญ่ คือ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ตามโครงสร้างเป้าหมายสินค้าส่งออกของกระทรวงพาณิชย์
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกรกฎาคม 2548 (รูปเงินเหรียญสหรัฐฯ)
ปี 2543 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนกรกฎาคม 2548 เท่ากับ 113.1 สำหรับเดือนมิถุนายน 2548 เท่ากับ 111.6
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกรกฎาคม 2548 เทียบกับ
2.1 เดือนมิถุนายน 2548 สูงขึ้นร้อยละ 1.3
2.2 เดือนกรกฎาคม 2547 สูงขึ้นร้อยละ 8.9
2.3 เฉลี่ยเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2548 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 สูงขึ้นร้อยละ 7.5
3. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกรกฎาคม 2548 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2548
ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 1.3 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาทุกหมวดสินค้า โดยมีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าที่สำคัญ ดังนี้
3.1 หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้น ร้อยละ 3.2
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ยางพารา ผลผลิตลดลงขณะที่ความต้องการสูง โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยาง ประกอบกับสต็อกยางของจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ซื้อยางรายใหญ่ของโลกมีปริมาณลดลงด้วย
- ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลผลิตสินค้าโดยเฉพาะมันเส้นมีน้อย แต่ความต้องการของประเทศคู่ค้าคือจีน ยังมีความต้องเพื่อนำไปผลิตแอลกอฮอล์ใช้ในประเทศ
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- ข้าว ราคาลดลงเนื่องจากประเทศคู่แข่งของไทย เช่น เวียดนาม ผลิตข้าวได้มากขึ้น นอกจากนี้ตลาดสำคัญของไทย คือ ประเทศสหรัฐอเมริกามีผลผลิตมากขึ้น ทำให้การสั่งซื้อน้อยลง ประกอบกับประเทศจีนได้มีการชะลอการซื้อข้าว
- กุ้ง ที่สำคัญคือ กุ้งขาวราคาลดลง เนื่องจากเดือนกรกฎาคมเป็นเดือนที่จับกุ้งของประเทศคู่แข่ง ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย ประกอบกับมีการแข่งขันในตลาดญี่ปุ่นและสหรัฐฯ
3.2 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้น ร้อยละ 2.2
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป จากการสูงขึ้นของปลาทูน่ากระป๋อง เนื่องจากเป็นปลาทูน่าที่มีคุณภาพดีตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลี และออสเตรเลีย
- น้ำตาลทราย ราคาสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก เนื่องจากภาวะภัยแล้งทำให้ผลผลิตโลกและไทยลดลง
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- สับปะรดกระป๋อง จากการลดลงของวัตถุดิบคือ สับปะรด ประกอบกับประเทศคู่ค้าชะลอการสั่งซื้อ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น
3.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้น ร้อยละ 0.7
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์พลาสติก จากการสูงขึ้นของราคาเม็ดพลาสติก ประกอบกับตลาดส่งออกสำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ฮ่องกง จีน เวียดนาม ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
- ผลิตภัณฑ์ยาง ได้แก่ ยางรถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์ และยางท่อ เนื่องจากวัตถุดิบหลัก คือ ยางพารา และ ยางสังเคราะห์ มีราคาสูงขึ้น
- อัญมณีและเครื่องประดับ จากการสูงขึ้นของทองคำในตลาดโลก
3.4 หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้น ร้อยละ 6.6
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- น้ำมันดิบ สูงขึ้นตามภาวะตลาดโลก
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5802 โทรสาร.0-2507-5825

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ