เงินหยวนแข็งไม่เอื้อส่งออกไทยหวั่นขยับขึ้น 7% ผู้นำเข้ากระอัก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 25, 2005 15:23 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สรุปสถานการณ์:
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 ธนาคารกลางของจีนได้ประกาศเลิกนโยบายตรึงค่าเงินหยวนกับดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็นระบบตะกร้าเงินแทนมีผลให้ค่าเงินหยวนเพิ่มจาก 8.28 เป็น 8.11 หยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งแข็งค่าขึ้น 2.1% โดยกำหนดความเคลื่อนไหวขึ้นลงไม่เกิน 0.3% ธนาคารกลางของมาเลเซีย ได้ประกาศยกเลิกผูกติดค่าเงินริงกิตกับดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะใช้ระบบลอยตัวแบบจัดการแทน เช่นกัน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยว่าเมื่อจีนได้ประกาศลอยตัวค่าเงินหยวนส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งขึ้นร้อยละ 0.9% ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ติดตามและตั้งสมมติฐานไว้หลายกรณีว่าจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง และได้นำเสนอต่อรัฐบาลไปแล้ว
ขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ ระบุว่าธนาคารจีนจะไม่ปรับค่าเงินหยวนครั้งใหญ่อีกแต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าจะมีการปรับค่าเงินหยวนอีกในอนาคต ขณะที่เจพี มอร์แกน ได้คาดการณ์ว่าจีนจะปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นทีละน้อย จนถึง 7% ภายในสิ้นปี 2548
นายเกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยว่า การที่จีนได้ปรับอัตราแลกเปลี่ยนจะไม่มีผลต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยเนื่องจากราคาสินค้าของจีนนั้นถูกกว่าสินค้าไทยประมาณ 30-50% ซึ่งก็ยังมีความแตกต่างระหว่างสินค้าจีนและไทยอยู่ถึง 48% แต่ที่น่าสนใจคือ มาเลเซียได้ประกาศนโยบายลักษณะเดียวกับจีน ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียแข็งค่าขึ้น และไทยจะได้เปรียบด้านการแข่งขันมากขึ้น
นายสัมฤทธิ์ สิริอร่ามสกุล อุปนายกสมาคมผู้ผลิตสินค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ ได้เปิดเผยว่า เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการของไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศจีนถึงร้อยละ 70 ดังนั้น การปรับเปลี่ยนนโยบายทางด้านการเงินของจีนจะทำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 3% แต่ถ้าหากจีนยังคงปรับค่าเงินอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบจะปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 8-10
นายอัทธิ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่เงินหยวนที่แข็งตัวขึ้นนี้จะส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนทุกประเทศในเอเชียปรับตัวแข็งค่าขึ้นด้วย โดยในระยะสั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกของไทยที่ส่งออกสินค้า
วัตถุดิบไปจีน โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและอาหารแปรรูป และอุตสาหกรรมเกษตร นอกจากนั้น การนำเข้าสินค้าจีนของไทยในระยะสั้นก็จะลดลงไปด้วยเนื่องจากราคาที่สูงขึ้น
ประเด็นวิเคราะห์:
การที่จีนได้ปล่อยลอยตัวค่าเงินหยวนในครั้งนี้ซึ่งแข็งค่าขึ้น 2% ซึ่งถือว่าน้อยมาก เพราะค่าเงินของจีนจะต้องมีการปรับให้แข็งค่าขึ้น 10% เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มสหภาพยุโรปจะได้รับผลประโยชน์และจะสามารถแข่งขันกันได้มากขึ้น แต่การปรับในครั้งนี้ทำให้สหรัฐอเมริกาพอใจในระดับหนึ่งเท่านั้นและจะต้องมีการติดตามสถานการณ์การส่งออก-นำเข้าต่อไปใน 6 เดือนข้างหน้า แต่ในขณะเดียวกัน การนำเข้าวัตถุดิบจากจีนก็จะมีภาระต้นทุนในการผลิตมากขึ้นด้วย
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ