นางบุษรา อึ๊งภากรณ์ รองอธิบดีกรมการประกันภัย (ประธานคณะกรรมการช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยจากการเกิดอุบัติภัยรายใหญ่) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดอุบัติเหตุรถไฟฟ้าใต้ดินของ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ รฟม. 2 ขบวน ชนกันที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 17 มกราคม 2548 ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย นั้น กรมการประกันภัยได้เร่งติดตามข้อมูลในเบื้องต้นเกี่ยวกับการทำประกันภัยของบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่า ได้มีการทำประกันภัยไว้ ดังนี้
1. การประกันภัยทรัพย์สิน ให้ความคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินต่างๆ รวมถึงตัวรถ และความเสียหายเนื่องมาจากธุรกิจหยุดชะงัก เป็นจำนวนเงินสูงสุด 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มีส่วนที่ผู้เอาประกันภัย หรือ รฟม. จะต้องรับผิดชอบเองในจำนวนเงิน 100,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4,000,000 บาท
2. การประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ซึ่งให้ความคุ้มครองการเสียชีวิต ความบาดเจ็บ และทรัพย์สิน ของบุคคลภายนอกรวมถึงผู้โดยสาร ในจำนวนเงินสูงสุดไม่เกิน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 800 ล้านบาท ต่อครั้งตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย โดยมีจำนวนเงินที่ผู้เอาประกันภัย หรือ รฟม. จะต้องรับผิดชอบเองในส่วนของความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 10,000 เหรียญ หรือประมาณ 400,000 บาท
โดยมีการทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยรวม 4 บริษัท ตามสัดส่วนรับประกันภัย คือ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) 43% บริษัท ศรีอยุธยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) 25% บริษัท ไพบูลย์ประกันภัย จำกัด 23% และ บริษัท ธนชาติประกันภัย จำกัด 9%
นางบุษรา อึ๊งภากรณ์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยความห่วงใยจากเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด และเป็นช่วงเวลาที่มีประชาชนจำนวนมากใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินส่งผลให้ประชาชนหลายคนได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย จึงได้ประสานกับบริษัทประกันภัยให้ช่วยติดตามและเร่งจ่าย ค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว สำหรับผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหายดังกล่าวสามารถดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายจาก บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้โดยตรง ทั้งนี้ หากประชาชนหรือ ผู้บาดเจ็บมีปัญหาหรือข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและค่าสินไหมทดแทนจากเหตุการณ์ ดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามกรมการประกันภัยได้ที่โทรศัพท์ หมายเลข 0-2547-4550 หรือสายด่วนประกันภัย 1186
ที่มา: http://www.doi.go.th