(ต่อ1) อุตสาหกรรมเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและของใช้ในครัวเรือน ปี 2541-2548 (มกราคม-ตุลาคม 2548)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 24, 2005 15:14 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          - อินโดนีเซีย และอินเดีย เป็นคู่แข่งขันในตลาดสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ในการส่งออกสินค้าเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องใช้ในครัวทำด้วยทองแดง เหล็ก เหล็กกล้า หรือที่รู้จักกันในรูปของสเตนเลส ไม้ และอลูมิเนียม ซึ่งมีความได้เปรียบกว่าของไทยด้านราคาถูกกว่าและยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้าดังกล่าว
6. การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน
*จุดแข็ง
1. แรงงานมีฝีมือประณีตและมีวินัยตลอดจนมีความอดทนต่อการทำงานสูง
2. เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารของไทยมีคุณภาพและรูปแบบสอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่างประเทศและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
3. ระยะเวลาการส่งมอบตรงเวลาและรวดเร็ว
*จุดอ่อน
สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่แล้วมีศักยภาพและความสามารถในตลาดอย่างมืออาชีพ รวมทั้งมีตราสินค้าเป็นที่รู้จักกันดีในตลาด ปัญหาส่วนใหญ่จึงเป็นปัญหาที่เกิดจากผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ดังนี้
1. ด้านบุคลากรส่วนใหญ่ ยังขาดความรู้ความเข้าใจและไม่ให้ความสำคัญต่อระบบการจัดการวัตถุดิบ การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการนำเทคโนโลยี่สมัยใหม่มาใช้ในขบวนการผลิตเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะเห็นว่าการใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่จะต้องใช้เงินทุนสูงมาก
2. ส่วนใหญ่ไม่มีแบบ (Design) และเครื่องหมายการค้า (Brand) เป็นของตนเอง และรับจัดการผลิตในลักษณะเป็น OEM
3. ขาดข้อมูลในเรื่องแหล่งวัตถุดิบ การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมปัจจุบันยังใช้เครื่องจักรมือสองหรือเครื่องจักรราคาถูกในประเทศ ขาดความรู้เรื่องรสนิยมและความต้องการของตลาด
4. หน่วยงานของภาครัฐขาดบุคลากรที่มีความรู้ ประสบการณ์ และความสามารถที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบอย่างจริงจัง
5. ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรทางด้าน design ทำให้บางครั้งต้องจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และส่วนใหญ่ก็ชอบลอกเลียนแบบซึ่งกันและกันไม่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ทำ ให้สินค้าขาดความหลากหลายและตัดราคากันเองในที่สุด
7. แนวโน้มการส่งออก
การส่งออกเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัวในปัจจุบัน คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากภาวการณ์แข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะจีนที่เป็นผู้นำและครองส่วนแบ่งในตลาดโลกอยู่ในอันดับ 1 หรืออันดับต้นๆ และยังมีอัตราการขยายตัวที่สูงกว่า ซึ่งไทยเสียเปรียบในเรื่องของต้นทุนการผลิตของคู่แข่งที่ผลิตได้ปริมาณมากกว่าในราคาขายที่ถูกกว่า ดังนั้นการแข่งขันของสินค้าที่ผลิตเน้นปริมาณหรือสำหรับตลาดล่าง/ทั่วๆ ไป ไทยจะแข่งขันได้ค่อนข้างยาก แต่หากเปรียบเทียบกับคู่แข่งประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในเอเชียด้วยกันนับได้ว่า ไทยยังมีศักยภาพในการแข่งขันได้อยู่ และสินค้าไทยปรับตัวเข้าสู่ตลาดกลางมากขึ้น นอกจากนี้ปัจจัยด้านความต้องการนำเข้าของตลาดโลกในประเภทสินค้าเซรามิกลดลงหรือเพิ่มขึ้นในอัตราขยายตัวที่ต่ำ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ไทยมีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างมากกว่ากลุ่มอื่น จึงอาจทำให้ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้นใด้ไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกที่ยังทำให้ไทยยังมีศักยภาพส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ อาทิ ปัจจุบันนี้ภาวะเศรษฐกิจในตลาดโลกและในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น อยู่ในภาวะฟื้นตัว ความต้องการของตลาดนำเข้าเพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่มสินค้า ยกเว้นประเภทเซรามิกที่มีการส่งออกของตลาดโลกลดลง นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยได้มีการรวมตัวในการขยายตลาดใหม่ๆ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีศักยภาพและรูปแบบสอดคล้องกับความต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันภาวะกำลังการผลิตมีมากกว่าความต้องการของตลาด ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นก็ตาม การพัฒนาการของผู้ประกอบการไทยก็คงเป็นแรงผลักดันที่ดีที่จำเป็นทำให้การส่งออกสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้
8. ปัญหาและอุปสรรค
1. การแข่งขันในตลาดเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาและรูปแบบผลิตภัณฑ์
2. อัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบบางประเภทสูง เช่น แผ่นสแตนเลส ส่วนประกอบและชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์สแตนเลส แร่ Ingot ที่นำมาหลอมเป็นอลูมิเนียมขาว สี สารเคลือบ เป็นต้น
3. ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี่ระดับสูงและด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
4. วัตถุดิบในการผลิต โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก เหล็ก/โลหะ ไม้ยางพาราง มีราคาสูงขึ้นมาก และมีความไม่สมดุลย์ของปริมาณวัตถุดิบและปริมาณความต้องการใช้เพื่อผลิตสินค้าในบางช่วงเวลา ทำให้ต้นทุนการผลิตและการบริหารจัดการสูงขึ้น
5. ค่าบริหารจัดการขนส่ง/Logistic ค่าจ้างแรงงานและค่าสาธารณูปโภคสูง
9. กลยุทธ์และแนวทางแก้ไข
9.1 ด้านผลิตภัณฑ์
1. พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงสร้างนวตกรรมสินค้าใหม่ๆ ที่ใช้วัตถุดิบ/วิธีการใช้งานที่ตรงกับแนวโน้มความต้องการของตลาด
2. สร้างความแตกต่าง/เอกลักษณ์เฉพาะของสินค้า เช่น การสร้างตราสัญลักษณ์สินค้าอย่างจริงจัง การออกตัวสินค้าใหม่ๆ อยู่เสมอ เป็นต้น
3. สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงเพื่อผลประโยชน์ด้านการผลิต เช่น วัตถุดิบ เทคโนโลยีการผลิต เป็นต้น
4. ส่งเสริมให้มีการส่งผลงานประกวดผลิตภัณฑ์ในเวทีต่างๆ ในระดับสากล หรือให้มีการใช้นักออกแบบเป็นตัวสร้างกระแสของผลิตภัณฑ์
5. ส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานสากล และสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า
9.2 ด้านการตลาดและการบริหารจัดการ
1. สนับสนุนและผลักดันให้ผู้ประกอบการรวมกลุ่มเจาะตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพรวมทั้งศึกษาข้อมูลความได้เปรียบเสียเปรียบของคู่แข่งขัน
2. เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักของตลาดที่มีศักยภาพใหม่ๆ ขยายการส่งออกในตลาดหลักและตลาดที่มีศักยภาพ
3. ปรับกลยุทธ์การตลาด/เงื่อนไขของการซื้อสินค้าให้ผู้ซื้อและผู้บริโภคเกิดความพึงพอใจ รวมถึงวิธีการเข้าถึงผู้ซื้อ/ผู้บริโภคให้เป็นเชิงรุกและตามสภาวะตลาดที่มีลักษณะเฉพาะมากยิ่งขึ้น
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ