"ชุมพล"ชี้เรียนไม่มีตกซ้ำชั้นทำชาติเสียหาย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 1, 2005 17:16 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          ดร.ชุมพล พรประภา ประธานคณะอนุกรรมการด้านทรัพยากรมนุษย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีการถามถึงเรื่องคุณภาพการศึกษากันมาก แต่ระบบการจัดการศึกษาของไทยไม่เอื้อต่อเรื่องดังกล่าว เพราะการจัดการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ชั้น ป.1-ม.6 ของไทยในภาคปฏิบัติขณะนี้ยังไม่มีการให้เด็กเรียนซ้ำชั้น โดยไปลอกเลียนแบบประเทศสหรัฐอเมริกามา แต่ขณะเดียวกันในหลายปีที่ผ่านมาในหลายรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกากลับได้มีการประเมินเด็กก่อนที่จะให้เลื่อนระดับการเรียนในเกรดต่าง ๆ หรือในแต่ละช่วงชั้นที่มีอยู่ 4 ช่วงชั้น คือ ป.1-ป.3, ป.4-ป.6, ม.1-ม.3 และ ม.4-ม.6 หากไม่ผ่านการประเมินก็จะให้ซ้ำชั้น ซึ่งก็สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติของไทย ที่ระบุว่าเด็กควรได้รับการศึกษาตามศักยภาพ ใครเรียนไวก็จบได้ก่อน ใครยังไม่เข้าใจเรียนช้าก็ให้ซ้ำชั้นแต่ในทางปฏิบัติจริงทุกคนต้องไปพร้อมกัน ทำให้เกิดปัญหา ซึ่งส่งผลเสียหายมากกว่าผลเสียทางเศรษฐกิจที่เคยมีผู้เชื่อว่าหากให้เด็กเรียนซ้ำชั้นจะทำให้เด็กหางานทำได้ช้า หรือรัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายรายหัวให้เด็กเพิ่ม
ความจริงแล้วกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีกฎ ระเบียบให้เด็กเรียนซ้ำชั้นได้ แต่ในทางปฏิบัติจริงระบบการศึกษาของไทยไม่เอื้อ ซึ่งครูจะไม่ให้เด็กซ้ำชั้น เพราะถ้าโรงเรียนไหนที่มีเด็กซ้ำชั้นมากก็จะ ส่งผลต่อครูที่ไม่ได้ขึ้นเงินเดือน โดยจะสังเกตได้จากแต่ละปีมีเด็กซ้ำชั้นไม่ถึง 5% ซึ่งเป็นสิ่งที่ปกติ ดังนั้นเราควรให้เด็กที่เรียนไม่ทันตาม หลักสูตรให้เรียนซ้ำชั้นได้ ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้คนที่เรียนเร็วได้ไปก่อน เช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาจะมีการนำหลักสูตรชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยในบางวิชามาให้เด็กชั้น ม.6 ที่เรียนเร็วได้เรียน ก่อนและมีการเทียบโอนหน่วยกิตให้เมื่อไปเรียนชั้นปีที่ 1 โดยไม่ต้องเรียนวิชาเดิมซ้ำอีก ดร.ชุมพล กล่าวและว่า นอกจากนี้ ศธ.ต้องเลิกนำครูที่จบไม่ตรงสาขาวิชาเอกมาสอน เช่น เอาครูพละมาสอนวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ และควรนำครูที่ถูกยืมตัวไปช่วยราชการที่มีประมาณ 4-5 หมื่นคน กลับมาทำหน้าที่ครูผู้สอนเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครูด้วย
ที่มา: หอการค้าไทย www.thaiechamber.com
-ดท-

แท็ก หอการค้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ