คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยว่าผลกระทบที่เกิดจากภัยแล้งเมื่อปลายปี 2547 ภาวะน้ำท่วมที่เกิดจากคลื่นยักษ์สึนามิ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกรอบที่ 3 แต่ไม่ส่งผลกระทบรุนแรงมากนักปัญหากุ้งของไทยที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีการทุ่มตลาด (เอดี) ยังไม่ได้รับการแก้ไขและความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2548 ลดลง 1.7% เมื่อเทียบกับปี 2547 ซึ่งลดลง 2.5% สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตทางเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2547 ถึงกลางปี 2548 รวม 28 จังหวัด ประเมินมูลค่าความเสียหาย 16,000 ล้านบาท ปัญหาจากน้ำท่วมมีมูลค่าความเสียหาย 1,500-2,000 ล้านบาท ขณะที่คลื่นยักษ์สึนามิ ได้ส่งผลกระทบใน 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 8,500 ล้านบาท สำหรับราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลเมื่อเดือนมีนาคม 2548 เป็นต้นมารวมถึงราคาปุ๋ยเคมี ค่าจ้างแรงงาน มีราคาสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นตาม
แนวโน้มผลผลิตภาคเกษตรปี 2549 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0-5.0 เนื่องจาก
1. ภัยธรรมชาติจะคลี่คลายลง
2. ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง
3. เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญขยายตัวในระดับใกล้เคียงกันปี 2548
4. มีการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น
5. การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐโดยเฉพาะเรื่องน้ำจะช่วยให้เพิ่มผลผลิตข้าว พืชผักและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น
สำหรับภาวะราคาสินค้าเกษตรโดยรวมคาดว่าจะสูงขึ้นประมาณร้อยละ 18 เนื่องจากมาตรการภาครัฐในการแทรกแซงราคา ความต้องการของประเทศคู่ค้าสูงขึ้นจะเป็นตัวผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น และการพัฒนาคุณภาพที่ได้มาตรฐานยิ่งขึ้นรวมทั้งการผลักดันการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะจีนมีเป้าหมายขยายการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20
สินค้าเกษตรที่คาดว่าจะขยายตัวสูง คือ สาขาปศุสัตว์ จะขยายตัวร้อยละ 10.21 รองลงมาคือ สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 4.69 ด้านการเกษตรจะขยายตัวร้อยละ 3.08 สาขาประมงขยายตัวร้อยละ 2.54 และการบริการ
มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคการเกษตรหรือจีดีพีในปี 2548 ประมาณ 6.8 แสนล้านบาทและปี 2549 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มเป็น 7 แสนล้านบาทและเป้าหมายในปี 2551 คาดว่าจะมีมูลค่า 9 แสนล้านบาทหรือ 10% ของจีดีพีทั้งประเทศ
ประเด็นวิเคราะห์
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2548 และแนวโน้มในปี 2549 ในภาพรวมที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก)ประเมินว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4-5 เห็นว่าเป็นการคาดการณ์ที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ ตัวแปรที่สำคัญที่จะส่งผลให้เป้าหมายสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ ปริมาณน้ำที่ยังต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง การปรับโครงสร้างภาคการเกษตรที่ยังล่าช้า การดำเนินการตามแผนต่างๆ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่จะต้องมีการสร้างเครื่องหมายทางการค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการตลาด
ที่มา: http://www.depthai.go.th