พยากรณ์อากาศเกษตรรายปักษ์ ระหว่าง วันที่ 1 - 15 กันยายน พ.ศ. 2548

ข่าวทั่วไป Friday September 9, 2005 10:24 —กรมอุตุนิยมวิทยา

          กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารพยากรณ์อากาศเกษตรรายปักษ์ ฉบับที่ 17/2548
ระหว่าง วันที่ 1-15 กันยายน พ.ศ. 2548
สภาวะอากาศ
ระยะครึ่งแรกของเดือนกันยายนร่องความกดอากาศต่ำจะพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทย ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเกือบตลอดช่วง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น โดยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งได้ในบางพื้นที่
ข้อควรระวัง: ในระยะนี้อาจมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิคเหนือด้านตะวันตก และอาจเคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ โดยมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนเข้ามาใกล้และเคลื่อนผ่านด้านตะวันออกของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น เป็นผลให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในแนวที่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่าน และอาจเกิดพายุคลื่นซัดฝั่งบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออก รวมทั้งภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เกษตรกรจึงควรติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและคำเตือนเรื่องพายุหมุนเขตร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยาไว้ด้วย
สะภาวะอากาศที่มีผลกระทบต่อการเกษตร
ข้าวนาปี ช่วงที่มีฝนตกชุกซึ่งอาจมีน้ำท่วมได้บางพื้นที่ ชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของหอยเชอรี่ โรคไหม้ และหนอนกระทู้ด้วย
ไม้ผล สำหรับบริเวณที่มีฝนตกชุกชาวสวนผลไม้ ไม่ควรกองวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่นใบไม้
ฟางข้าวและหญ้าแห้ง บริเวณโคนต้น เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
สัตว์เลี้ยง เกษตรกรที่เลี้ยงโคและกระบือ ไม่ควรปล่อยให้สัตว์อยู่ในที่ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย
คำเตือน
ในระยะครึ่งแรกของเดือนนี้ปริมาณฝนบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะเพิ่มขึ้น และบางพื้นที่อาจเกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรจึงควรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะสัตว์น้ำที่เลี้ยงเจริญเติบโตเต็มที่แล้วควรรีบจับขาย และควรเตรียมเคลื่อนย้ายสัตว์ที่ยังโตไม่ได้ขนาดไปไว้ในบ่อที่มีความปลอดภัยเมื่อมีน้ำท่วม สำหรับบริเวณแปลงปลูกพืชซึ่งเป็นที่ลุ่มเกษตรกรควรเตรียมทางระบายน้ำ เพื่อป้องกันสภาวะน้ำท่วมขังและโรคเชื้อรา
กลุ่มอุตุนิยมวิทยาเกษตร สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา โทร 02-3992322

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ